นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญ ต้องใส่ใจดูแล เพราะเป็นประตูนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดี ขณะเดียวกันปัญหาในช่องปากอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งระบบได้ เช่น โรคฟันผุ ซึ่งเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานสัมผัสกับฟันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียสร้างกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟัน ทำให้ฟันถูกกัดกร่อนทำลายเป็นรู เมื่อการผุลุกลามมากขึ้น จะทำให้มีอาการเสียวฟันหรือปวดฟันตามมาได้ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการบดเคี้ยว ระบบย่อยอาหาร และปัญหาทางร่างกายอื่นๆตามมา
ดังนั้นควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก หมั่นสังเกตฟันและสภาพช่องปากของตนเอง ทำความสะอาดฟันให้ถูกวิธี แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ในตอนเช้าและก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟัน ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุกจิก และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคในช่องปาก เช่นโรคฟันผุ หากละเลยหรือปล่อยให้ผุลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่ออื่นๆของร่างกาย และอาจลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น แก้ม ใต้คาง ใต้ตา อาการปวดและบวมจะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้เหงือกอักเสบถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา โรคจะลุกลามจนเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะพบมีเหงือกแดงบวม และมีเลือดออก เมื่อโรคลุกลามรุนแรงขึ้นจะทำให้ฟันโยก อาจเกิดหนองหรือเป็นฝีปริทันต์ ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญของร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเชื้อจะเดินทางผ่านกระแสเลือด ท่อน้ำเหลือง ระบบทางเดินหายใจ และอาจรุนแรงถึงขั้น ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวและทานยาเป็นประจำ เมื่อต้องรับบริการทางทันตกรรม ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทราบ เพื่อทันตแพทย์จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการวางแผนการรักษา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ป่วย