ปักกิ่ง, 24 ส.ค. (ซินหัว) -- สำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีน ประกาศการระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดที่มีที่มาจากญี่ปุ่น เริ่มต้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) เป็นต้นไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
แถลงการณ์จากสำนักฯ ระบุการตัดสินใจดำเนินมาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านมลพิษกัมมันตรังสีอันเกิดจากการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนของญี่ปุ่นอย่างรอบด้าน ปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีน และรับประกันความปลอดภัยของการนำเข้าอาหาร
การตัดสินใจดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายความปลอดภัยทางอาหาร ระเบียบการบริหารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของการนำเข้าและส่งออกอาหารของจีน ตลอดจนข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรการสุขาภิบาลและและสุขอนามัยพืช
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยของอาหารนำเข้าและส่งออก สังกัดสำนักฯ ระบุว่าบรรดาหน่วยงานศุลกากรของจีนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอันเกิดจากการปล่อยน้ำเสียที่มีต่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของญี่ปุ่นในจีนอย่างยิ่ง
สำนักฯ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์สู่มหาสมุทรของญี่ปุ่นต่อไป และปรับเปลี่ยนมาตรการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหารของประชาชนชาวจีน
CAEA ประณามการปล่อย น้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
แถลงการณ์จากองค์การฯ ระบุว่าการดำเนินการของรัฐบาลญี่ปุ่นทำลายอำนาจและความน่าเชื่อถือของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อย่างร้ายแรง
การประเมินแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะฯ ของทบวงฯ ดำเนินการตามคำขอของญี่ปุ่นเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งปกติเป็นการช่วยเหลือทางเทคนิคและการประเมินคำปรึกษา ไม่มีผลตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่สามารถให้ความชอบธรรมหรือความยุติธรรมใดๆ แก่แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่นจงใจใช้รายงานการประเมินรอบด้านที่เผยแพร่โดยทบวงฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม สร้างความปลอดภัยและความไม่เป็นอันตรายของน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์เกินจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำอันเห็นแก่ตัวและปราศจากความรับผิดชอบ ทั้งสะท้อนการไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง
"จีนคัดค้านและประณามการกระทำเช่นนี้ของญี่ปุ่นอย่างแน่วแน่ รัฐบาลญี่ปุ่นควรหยุดการดำเนินการอันไม่ถูกต้องนี้โดยทันที" องค์การฯ กล่าว พร้อมเสริมว่าอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อ 12 ปีก่อน ได้ปล่อยวัตถุกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเลเป็นปริมาณมากแล้ว ญี่ปุ่นจึงมิควรสร้างอันตรายแก่ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านและโลกด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวอีกครั้ง
องค์การฯ ระบุว่าญี่ปุ่นไม่ควรปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรโดยปราศจากการชี้แจงหลักฐานอันน่าเชื่อถือเกี่ยวกับความชอบธรรมของการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล ความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์บำบัดน้ำ ความถูกต้องของแหล่งข้อมูลและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงโดยปราศจากการได้รับความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน) และโดยปราศจากการจัดการเฝ้าติดตามระยะยาวและการกำกับตรวจสอบในพื้นที่ที่นำโดยทบวงฯ และเป็นที่ยอมรับโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
เกาหลีใต้สั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงของญี่ปุ่น
ฮันด็อกซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ กล่าวว่าเกาหลีใต้จะยังคงสั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงของญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน
ฮันกล่าวว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะรักษาข้อจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงของญี่ปุ่น พร้อมย้ำว่าข้อกังวลของประชาชนเกาหลีใต้กรณีการผ่อนปรนหรือยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นจะไม่มีทางเกิดขึ้น โดยมีการสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงทั้งหมดจาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดฟุกุชิมะ และสินค้าเกษตร 27 รายการ จากอีก 15 จังหวัด ขณะที่อาหารนำเข้าจากภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นทั้งหมดถูกตรวจสอบสารกัมมันตรังสีอย่างละเอียด
ข้อจำกัดการนำเข้าถูกกำหนดขึ้นเพื่อปกป้องชาวเกาหลีใต้จากวัสดุกัมมันตรังสี ภายหลังอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมื่อเดือนมีนาคม 2011
ฮันระบุว่าญี่ปุ่นควรปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสตามที่เคยให้สัญญาต่อประชาคมระหว่างประเทศ พร้อมกระตุ้นเตือนญี่ปุ่นมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ที่จะดำเนินต่อไปในอีก 30 ปีข้างหน้าอย่างโปร่งใสและมีความรับผิดชอบแก่เกาหลีใต้
โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือเทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฯ กล่าวก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) ว่าได้เริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนชุดแรกจากโรงไฟฟ้าฯ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว
อนึ่ง โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่เกิดตามมาเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งส่งผลให้แกนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และผลิตน้ำจำนวนมหาศาลที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
มาเลเซียตรวจสอบการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น
23 ส.ค.2023 กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย ระบุว่ามาเลเซียจะตรวจสอบการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ
แถลงการณ์จากมูฮัมหมัด รัดซี อาบู ฮัสซัน อธิบดีกระทรวงฯ เผยว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากญี่ปุ่นที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูงจะต้องได้รับการตรวจสอบ (การเฝ้าระวัง) วัสดุกัมมันตรังสี ระดับ 4 โดยกระทรวงฯ รับทราบความกังวลของผู้บริโภคในประเด็นนี้
มูฮัมหมัด รัดซี กล่าวว่าก่อนหน้านี้สำนักความปลอดภัยและคุณภาพอาหารของกระทรวงฯ ได้ติดตามการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2011 ถึงเดือนเมษายน 2012 หลังเกิดแผ่นดินไหวที่ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเสียหาย
อนึ่ง อาหารหลักที่มาเลเซียนำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา ตามด้วยผลไม้ ผัก และอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม
ญี่ปุ่นวางแผนปล่อยน้ำเสียประมาณ 1.3 ล้านตันจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเสียหายอย่างหนักหน่วงจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 โดยญี่ปุ่นได้ก่อสร้างอุโมงค์ใต้น้ำที่ทอดยาวจากชายฝั่งประเทศลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อวัตถุประสงค์นี้