นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เห็บมีหลายชนิด มีบางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โรคไทฟัส โรคไข้กลับซ้ำ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เห็บกินเลือดของสัตว์พวกสัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร คนก็เป็นเหยื่อของเห็บด้วยเช่นกัน ส่วนมากเห็บที่กัดคนมาจากสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข หรือมาจากบริเวณพงหญ้าหรือพุ่มไม้ที่เห็บหลบอยู่ เมื่อได้กลิ่นเหงื่อหรือความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกายเห็บจะกระโดดเกาะเพื่อดูดเลือด
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)กล่าวว่าจากเหตุการณ์ในสื่อโซเชียลที่เห็บกัดอยู่โคนขนตา สามารถพบบ่อยได้ในสัตว์เลี้ยงและในคนได้ จึงอยากเตือนให้ตระหนักหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดคอยกำจัดเห็บ หมัดอยู่เสมอโดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น โดยเห็บจะกระโดดเกาะคนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน
แพทย์หญิงสุณิสา สินธุวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กล่าวเพิ่มว่าหากสงสัยว่ามีเห็บ หมัด กัดที่ตาโดยเฉพาะเด็กเล็กอาจพบเป็นตุ่มสีดำที่บริเวณเปลือกตาไม่ควรดึงออกเอง ควรพบแพทย์เนื่องจากการดึงออกเองอาจเอาปากเห็บออกไม่หมดและมีการติดเชื้อแทรกซ้อนเนื่องจากเชื้อโรคเข้าไปในแผล ติดเชื้อ ตาบวมตาแฉะ น้ำตาไหลตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาได้อาจใช้เวลาในการรักษานานขึ้น อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถพบแพทย์ได้วิธีที่จะเอาเห็บออกจากผิวหนังคือการใช้แหนบถอนขนคีบเห็บส่วนที่ใกล้ผิวหนังมากที่สุดแล้วค่อยๆ ดึงออก ห้ามใช้บุหรี่จี้รวมถึงน้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง หรือสบู่เหลว เนื่องจากสารพวกนี้จะทำให้เห็บระคายเคืองและปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มันกัดได้ ไม่ควรบิด กระชาก บีบขยี้ หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมาเข้าสู่บาดแผล ควรล้างมือ และผิวหนัง บริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาดถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนังควรพบแพทย์อย่าพยายามแกะ แคะออกจะทำให้ผิวหนังเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้