นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น
โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนร้อยละ 9 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยและญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำแผนเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสูญเสียพลังงานอย่างไร้ประโยชน์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านกลไกการทำงาน 8 ด้าน คือ 1.การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน) 3.ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV) 4.อาคารอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) 5.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 6.เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ (ลดการเดินทาง, Telemedicine) 7.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย,น้ำเสีย และ 8.กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
“หน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35,420 tCO2-eq /ปี ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี” นพ.โอภาสกล่าว