ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ชลน่าน สั่งตรวจสอบด่วนกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษานักท่องเที่ยวชาวไต้หวันจนเสียชีวิต

ชลน่าน สั่งตรวจสอบด่วนกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษานักท่องเที่ยวชาวไต้หวันจนเสียชีวิต Thumb HealthServ.net
ชลน่าน สั่งตรวจสอบด่วนกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษานักท่องเที่ยวชาวไต้หวันจนเสียชีวิต ThumbMobile HealthServ.net

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย กรณีโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการรักษานักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนจนหมดสติ ได้สั่งการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนแล้ว หากพบว่ามีมูลความจริง ถือเป็นเรื่องที่ผิดทั้งหลักมนุษยธรรมและหลักกฎหมาย ให้ดำเนินการเอาผิดจนถึงที่สุด กรม สบส. พร้อม สพฉ.เตรียมลงสอบโรงพยาบาลเอกชนทันที

ชลน่านสั่งสอบ

 
          จากกรณีข่าวนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ ทีมกู้ชีพของมูลนิธิได้ช่วยทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลเอกชนย่านพัฒนาการซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร แต่ถูกปฏิเสธรับตัวผู้ป่วยและให้นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตรแทน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างนำส่งนั้น นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับรายงานกรณีดังกล่าว ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วนแล้ว ซึ่งหากพบว่าโรงพยาบาลมีการปฏิเสธรับผู้ป่วยจริงตามที่เป็นข่าว จะถือว่ามีความผิดทั้งหลักมนุษยธรรมและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการ เอาผิดตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
 
         เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ในเวลาที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาล ได้มีการประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ และ 2) โรงพยาบาลมีการประเมินผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (UCEP) หรือไม่
 
          ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย จะไม่ปล่อยให้ไม่ได้รับความปลอดภัย หรือถูกกระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาด



ข่าวเหตุการณ์ที่ปรากฏในสื่อ
 
 

สบส. พร้อม สพฉ. เตรียมลงสอบ

 
          กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เตรียมลงสอบข้อเท็จจริงจากโรงพยาบาลวิภาราม ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 หลังพบเบาะแสการปฏิเสธรักษาผู้ป่วยต่างชาติ จนเป็นเหตุให้การรักษาล่าช่าจนผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา
 
        12 ธันวาคม 2566 นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. เปิดเผยว่า ตามที่มีคลิปวิดิโอปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่าพบชาวต่างชาติหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่บริเวณพัฒนาการ 50 ทางศูนย์วิทยุพระนคร จึงนำผู้ป่วยส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในย่านพัฒนาการ แต่ถูกปฏิเสธ ให้ส่งตัวไปที่โรงพยาบาลรัฐแทน


         ในวันที่ 9 ธันวาคม ตนจึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส. ดำเนินการตรวจสอบ โดยประสานข้อมูลจากศูนย์วิทยุพระนคร และศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่รายงานว่าได้นำผู้ป่วยชาวต่างชาติ ณ โรงพยาบาลวิภาราม

        แต่เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลฯ ปฎิเสธที่จะให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องด้วย ผู้ป่วยไม่มีญาติจึงอาจจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้

         จึงได้มีการนำตัวผู้ป่วยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสิรินธร และผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

         โดยในวันที่ 10 ธันวาคม  พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย ได้ดำเนินการยืนยันข้อมูลกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อีกครั้ง และพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง






          พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย มุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่

          1) ณ เวลาที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลได้มีการประเมิน และช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน  ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่

          2) โรงพยาบาลมีการประเมินเกณฑ์ผู้บาดเจ็บว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หรือไม่  หากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจสอบพบว่าทางโรงพยาบาลมิได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด


 

 

สบส. ร่วม สพฉ.ลงตรวจสอบโรงพยาบาล


          สบส.และ สพฉ. จึงหารือและร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน จะรวมกันลงพื้นที่ ณ โรงพยาบาลวิภาราม ในวันพรุ่งนี้ (13 ธันวาคม 2556)


          โดยจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสอบถ้อยคำจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย หากพบข้อมูลการกระทำผิด หรือพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าโรงพยาบาลวิภารามมีการปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 



เกณฑ์ฉุกเฉิน สพฉ.

          นายแพทย์สุระฯ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ตั้งเกณฑ์ให้ผู้ป่วยที่หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ซึ่งจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

          การที่สถานพยาบาลเอกชนปฏิเสธที่จะให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้


          อีกทั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดไว้ว่าหากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


           จึงขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ยึดประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง ห้ามนำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขในการรักษา เพื่อร่วมคุ้มครองสุขภาพร่างกายของประชาชน สร้างความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานพยาบาลเอกชนไทยต่อไป

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด