24 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ณ ทำเนียบรัฐบาล มีการแถลงข่าว "ดิจิทัล วอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้" นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล สองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สองคีย์แมนหลักผู้ขับเคลื่อนโครงการ
โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเติมเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ลงในระดับชุมชนทั่วประเทศ ผ่านการจับจ่ายใช้สอยระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นโครงการที่รัฐบาลได้แถลงไว้กับรัฐสภาเมื่อแรกเข้ามาบริหารประเทศ ด้วยความหวังว่า โครงการนี้ จะช่วยสร้างโอกาส ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองได้
4 พายุหมุนทางเศรษฐกิจ
ทีมศก.รัฐบาล ชี้ว่าผลดีที่จะเกิดขึ้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะก่อให้เกิดพายุหมุนในทางเศรษฐกิจ ถึง 4 ลูก ในทุกระดับของสังคม ได้แก่
- พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
- พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่
- พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ
- พายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
เงื่อนไขผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต
คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล มีดังนี้
- สัญชาติไทย
- ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
- ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
กำหนดการวันลงทะเบียน
หลักๆ จะจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้ที่มี และ ไม่มี สมาร์ทโฟน ภายในกรอบเวลาที่ต่างกัน ดังนี้
1. กลุ่มใช้สมาร์ทโฟน
- เริ่มลงทะเบียน 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
- ประชาชนทั่วไป ลงทะเบียน ด้วยสมาร์ทโฟน ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
- ไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะลงทะเบียน
- คุณสมบัติต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้
รัฐบาลประมาณการว่าจะมีประชาชนลงทะเบียนราว 45-50 ล้านคน
Download แอปทางรัฐ บน แอปเปิ้ลสโตร์ และ กูเกิ้ล เพลย์สโตร์
2. กลุ่มบุคคลที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟน
- เริ่มลงทะเบียน 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567
- สำหรับประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
- การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
สำหรับการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน
กำหนดการแจกเงิน
กำหนดการจ่ายเงินดิจิทัล ที่กำหนดไว้ดังนี้
1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 โดยวันสุดท้ายของการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนคือวันที่ 15 กันยายน 2567
16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567
ลงทะเบียนประชาชน "กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน" อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
1 ตุลาคม 2567
ลงทะเบียนร้านค้า โดยจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ทราบต่อไป
เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้ได้เมื่อไหร่
เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
การใช้จ่าย
สิ่งที่เงินดิจิทัลใช้ซื้อได้ ได้แก่
- สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร, ไข่ไก่, เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) สบู่, ยาสีฟัน, ผงซักฟอก, กะปิ, น้ำปลา, ซอสปรุงรส เป็นต้น
- สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแบบนักเรียน, เครื่องเขียน, สมุด, ปากกา, ดินสอ
- สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตร เช่น ปุ๋ย, ยาปราบศัตรูพืช, เมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น
- สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผักสด, ผลไม้, อาหารสด, เครื่องจักสาน เป็นต้น
- ยารักษาโรค เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, ยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น
อะไรที่ใช้ซื้อไม่ได้ / ห้ามซื้อ
- สลากกินแบ่งรัฐบาล
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
- บัตรกำนัล บัตรเงินสด
- ทองคำ
- เพชร พลอย อัญมณี
- น้ำมันเชื้อเพลิง
- ก๊าซธรรมชาติ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- เครื่องมือสื่อสาร
วิธีการใช้จ่าย
ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก
- ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
- ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
- เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
- การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใดๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ในแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
- ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
- ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง