ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569

รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 Thumb HealthServ.net
รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 ThumbMobile HealthServ.net

โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เตรียมแผนออกตรวจเชิงรุกคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดให้ครบทั้งจังหวัดภายในปี 2567 หลังพบเด็กที่คลอดในโรงพยาบาลชุมชนยังตกหล่นไม่ได้รับการคัดกรองอีกมาก พร้อมเตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนไม่ต้องเดินทางเข้าไปผ่าตัดถึงใน กทม.

 
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะผู้บริหาร สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ และสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปผลการจัดบริการคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์
 
นพ.นรุตม์ วงศ์สาคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้ว เขตสุขภาพที่ 3 สามารถคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดได้ประมาณ 43.8% หรือราว ๆ อันดับ 5 ของประเทศ ขณะที่ในส่วนของ จ.นครสวรรค์ สามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 41%
 
 
รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 HealthServ
 
 
นพ.นรุตม์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากแม้การคัดกรองในโรงพยาบาลจังหวัดจะสามารถทำได้มากกว่า 90% รวมประมาณ 1,008 ราย แต่ยังมีทารกอีกจำนวนหนึ่งที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ซึ่งจากตัวเลขพบว่ามีเด็กที่ได้รับการคัดกรองในโรงพยาบาลชุมชนสูงถึง 860 ราย 
 
“เพื่อให้การตรวจคัดกรองครอบคลุมเด็กกลุ่มนี้ เราจึงวางแผนการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก โดยจะมีโหนดในแต่ละโซน คือที่ อ.ลาดยาว 266 คน อ.บรรพตพิสัย 194 คน อ.ชุมแสง 56 คน อ.ท่าตะโก 103 คน และ อ.ตาคลีอีก 177 คน ครอบคลุมการดำเนินการปี 2566-2567 หากพบเด็กทารกที่มีความผิดปกติ จะต้องมีการตรวจยืนยันและทำการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมก่อนอายุ 4 ขวบ ซึ่งถ้าดำเนินการในช่วง 2 ปีนี้ก็ยังถือว่าทันการณ์”นพ.นรุตม์ กล่าว
 
 
รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เตรียมยกระดับเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 HealthServ
 
 
ด้าน นพ.อภิชาต วิสิทธิวงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า แผนงานของโรงพยาบาล นอกจากการตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมภายในปี 2566-2567 แล้ว โรงพยาบาลยังมีแผนเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมในปี 2569 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มารับบริการ เนื่องจากขณะนี้มีไม่กี่โรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมได้ ในส่วนของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เอง เมื่อตรวจพบเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยินก็จะต้องส่งต่อไปรับการผ่าตัดที่โรงเรียนแพทย์ใน กทม. ดังนั้น การที่โรงพยาบาลเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจะทำให้ประชาชนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงในเขตสุขภาพที่ 3 สามารถมารับบริการได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้า กทม.
 
ด้าน นพ.ชวพล อิทธิพานิชพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า การคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกมีความสำคัญมาก เพราะพัฒนาการเด็กจะเริ่มตั้งแต่อายุ 4-6 ขวบ หากตรวจพบและรักษาทัน เด็กก็จะมีโอกาสได้ยินและสามารถสื่อความหมายได้ แต่ถ้าตรวจพบช้า สมองเริ่มพัฒนาด้านภาษาไปแล้ว เด็กนอกจากหูหนวกแล้วยังจะเป็นใบ้ เพราะไม่มีเสียงไปกระตุ้นสมองทำให้ไม่สามารถสื่อภาษาได้
 
อย่างไรก็ดี การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีความสำคัญเพียง 50% แต่อีก 50% ที่สำคัญเช่นกัน คือการฝึกฟังและพูดโดยนักแก้ไขการพูด (speech therapy) เพราะเสียงที่เด็กได้ยินผ่านประสาทหูเทียมอาจไม่เหมือนเสียงปกติที่คนทั่วไปยินดังนั้นจึงต้องมีการฝึกฟังและพูดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กทราบว่าเสียงแต่ละเสียงหมายความว่าอย่างไร ซึ่งตามแผนของโรงพยาบาลที่จะเปิดศูนย์ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในปี 2569 โรงพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงนัก speech therapy ด้วยเช่นกัน
 
 
 
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกแรกเกิดและผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งที่สาเหตุที่มาเยี่ยมชมในวันนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลที่กระตือรือร้นและขยันในการดำเนินการเรื่องนี้มาก
 
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.เอง พร้อมสนับสนุนในด้านการใช้กลไกงบประมาณช่วยให้สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างราบลื่น อย่างไรก็ดี จากการรับฟังบรรยายสรุปพบว่าไม่ค่อยมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ แต่จะเป็นเรื่องระบบการตรวจคัดกรองที่ยังขาดในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งเรื่องบุคลากร เช่น นัก speech therapy หรือนักอรรถบำบัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการสื่อความหมายทางภาษาและกระบวนการพูดที่มีการผลิตออกมาน้อยและยังขาดแคลนอีกมาก ซึ่ง สปสช.ก็จะรับประเด็นเหล่านี้ไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกต่อไป

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด