ดังนั้น ในทุกวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปี ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันจัดให้มีการทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งพุทธกาล เรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ โดยทางวัดต่างๆ จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปพำนักบนที่สูงของวัดก่อน แล้วเมื่อถึงเวลามงคลฤกษ์จึงค่อยนิมนต์ให้เดินเรียงแถวลงมาจากที่สูงให้ประชาชนทั้งหลายได้มองเห็นและตั้งใจใส่บาตรกันทางเบื้องล่างเลียนแบบภาพการเสด็จลงจากดาวดึงส์ของพระพุทธองค์ สำหรับในประเทศไทย เป็นที่ยอมรับกันว่า งานเทศกาลตักบาตรเทโว ของจังหวัดอุทัยธานี ณ ยอดเขาเล็กๆ ใจกลางวัดสังกัสรัตนคีรีนั้น บรรยากาศทั้งหลายใกล้เคียงดูน่าพิศวง จนชวนให้คิดไปได้ว่าเป็น วันตักบาตรเทโวโรหณะ ในสมัยพุทธกาลนั้นจริงๆ
พิธีกรรมประกอบเทศกาล ออกพรรษา
และนอกจาก การประกอบพิธีมหาปวารณา และการตักบาตรเทโวโรหณะแล้ว ยังมีพิธีกรรมซึ่งวัดและประชาชนนิยมจะประกอบขึ้นเนื่องในโอกาสเทศกาลออกพรรษา หรือใช้โอกาสเทศกาลออกพรรษานี้ เป็นช่วงเริ่มต้นของพิธีกรรมอื่นๆ อีกหลากหลายรายการด้วยกัน อาทิ
ประเพณีถวายกฐิน หรือทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญยิ่งของพุทธศาสนิกชนอีกอย่างหนึ่ง จัดขึ้นทั้งฝ่ายเจ้านายคือ การพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินขององค์พระมหากษัตริย์ไปจนการทอดกฐินของประชาชนคนธรรมดา โดยจะนิยมทำกันตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ - วันลอยกระทง)
คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง ในสมัยโบราณการทำจีวรต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่ดีพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จะจัดเป็นงานอย่างเอิกเกริก
ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก หรือ การเทศน์มหาชาติ คือการจัดให้มีธรรมเทศนาเรื่องเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมครบทั้ง ๑๐ บารมี จึงเป็น มหาชาติ คือชาติที่ยิ่งใหญ่ งานบุญพิธีจึงยิ่งใหญ่ตามกันไปด้วย อุบาสก อุบาสิกา มัคทายกวัดนิยมร่วมกันจัดให้มีขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนมากจะตั้งใจจัดให้เป็นการหาทุนทรัพย์เข้าวัดครั้งสำคัญ แต่จะมียกเว้นไม่เหมือนใครอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองต้องปฏิบัติ จะนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า "งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จถัดไปจากการทำบุญคูนลาน หรือบุญเอาข้าวเข้ายุ้ง นั้นเอง
ประเพณีทอดผ้าป่า การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีและเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจากคฤหัสถ์ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) เท่านั้น ชาวบ้านมักเรียกว่า ผ้าป่า เนื่องจากเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ทิ้งอยู่ตามที่ต่างๆ ตามกองขยะ หรือพันห่อศพไว้ และต้องนำมาซัก เย็บ ย้อมเป็นสบง จีวรหรือสังฆาฏิ นับเป็นความยากลำบากแก่ภิกษุสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านที่มีศรัทธาเห็นความยากลำบากของพระจึงหาทางช่วย โดยนำผ้าไปทิ้งไว้ตามทางที่พระท่านผ่านไปมาเป็นประจำ หรือทิ้งตามกองขยะ หรือนำไปห่อศพไว้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้พระภิกษุจะไม่ยอมรับผ้านั้น จึงมีผู้นิยมทำตามกันมาจนเป็นประเพณี
ฤดูของการทอดผ้าป่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ใดๆ สุดแต่ชาวบ้านจะศรัทธาเลื่อมใส ส่วนใหญ่มักจะทำในระยะจวนจะออกพรรษาหรือช่วงออกพรรษาแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็จะนิยมทำรวมกันกับขบวนกฐิน คือ เมื่อทอดกฐิน เสร็จแล้ว ก็ทอดผ้าป่าหรือทอดไปตามรายทางที่ไปทอดกฐินนับเป็นหลายสิบวัดรวมๆ กันทีเดียวก็ได้
จากทั้งหมดนี้จึงสามารถสรุปได้ว่า ในวันออกพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะกระทำการบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียนไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา และสิ่งที่ชาวพุทธนิยมจัดทำไปใส่บาตรในวันนี้จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะงานก็คือ ข้าวต้มลูกโยน นั้นเอง
และไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากช่วงเวลาออกพรรษา ยังเป็นช่วงเวลาที่เสมือนการปิดภาคการศึกษา สิ้นสุดการที่พระภิกษุ และ สามเณร จะไปไหนไม่ได้ในช่วงค่ำคืน ต้องขยันหมั่นเพียรเรียนอรรถแปลบาลีทั้งหลาย ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนเชือกที่ถูกบิดเป็นเกลียวแน่นเขม็ง ถึงเวลาคลายออกก็จะมีกำลังเหวี่ยงแรงสักหน่อย ช่วงโอกาสนี้ในแต่ละวัด ในแต่ละชุมชน จึงจะพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองในลักษณะต่างๆ ขึ้นอย่างพร้อมเพรียงโดยมิได้นัดหมาย ช่วยกันทำให้ช่วงเวลาออกพรรษา กลายเป็นช่วงเวลาที่มีการจัดงานเทศกาลประเพณีมากที่สุดในรอบปี
และไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แม้ในบรรดาประเทศแถบอุษาคเนย์ที่ยังคงมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักอยู่ในประเทศ เช่น ประเทศเมียนมา ประเทศสปป.ลาว ประเทศกัมพูชา ก็จะมีช่วงเวลาแห่งการจัดงานเทศกาลประเพณีเป็นพิเศษ เช่นนี้ คล้ายคลึงกับประเทศไทยเช่นกัน
ไทใหญ่ จุดประทีปโคมไฟ ปอยเหลินสิบเอ็ด และออกหว่า
ชาวไต หรือชาวไทใหญ่ จะมีอยู่จำนวนมากในประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ประชากรมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวเชื้อสายไทใหญ่นั้น จะมีการจัดงานในเทศกาลออกพรรษาที่แปลกตาเป็นพิเศษกว่าที่อื่นๆ ชาวเมืองแม่ฮ่องสอนเรียกชื่องานประเพณีนี้อย่างง่ายๆ ว่า ปอยเหลินสิบเอ็ด หรือ ปอยเดือนสิบเอ็ด เป็นงานประเพณีเดียวของประเทศไทยที่มีช่วงระยะเวลาการจัดงานยาวที่สุดคือ ตลอด ๑ เดือนเต็มๆ เลยทีเดียว
และจุดเด่นที่สุดของงานประเพณีนี้ คือ มีขบวนแห่จองพารา หรือ ปราสาทกระดาษที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งจะแห่กันในช่วงกลางคืน และมีการฟ้อนรูปสัตว์ โต หรือ จามรี นกกิงกาหล่า หรือ กินรี กินรา กาเบ้อ หรือผีเสื้อ ไปพร้อมกับขบวนแห่ ส่วนในช่วงกลางวันพิธีกรรมจะเน้นเรื่องราว การเสด็จนิวัติสู่โลกมนุษย์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวไต หรือ ชาวไทใหญ่จะพร้อมใจกันจัดทำ จองเข่งต่างส่างปุ๊ด หรือ จองพารา แปลว่า ซุ้มปราสาทรับเสด็จ ซึ่งทำจากโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสาสีต่างๆ บรรจุหน่อกล้วย อ้อย และโคมไฟ ตกแต่งสวยงาม สมมุติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธองค์ จากนั้นก็จะยกจองพาราขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลาน ทั้งที่บ้านและที่วัด
ช่วงท้ายๆ ของประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด ก่อนวันแรม ๘ ค่ำ จะมีงาน "หลู่เตนเหง” หรือการถวายเทียนพันเล่ม จนมาถึงวันแรม ๘ ค่ำ หรือวันกอยจ้อด เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลจะมีพิธี "ถวายไม้เกี๊ยะ” โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ (สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูงประมาณไม่ต่ำกว่า ๒.๕ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐ เซนติเมตร แล้วนำเข้าขบวนแห่ จุดเด่นของงานวันนี้อยู่ที่การประกวดศิลปะและวัฒนธรรมไทใหญ่ เช่น การประกวดนางสาวไต ประกวดชุดไต ประกวดฟ้อนดาบและ ประกวดจองพารา เป็นต้น ขณะที่ตามถนนหนทางและบ้านเรือนจะพร้อมใจกันเล่นฟ้อนรำรูปสัตว์ต่างๆ จากความเชื่อว่าสัตว์โลกและสัตว์หิมพานต์จะพากันออกมาแสดงความชื่นชม ยินดี ออกมาร่ายรำเป็นพุทธบูชารับเสด็จ
อีกแห่งหนึ่ง ที่เมืองแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่นี่แม้จะมีชาวไทใหญ่เป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองเหมือนกับแม่ฮ่องสอน แต่ด้วยความที่เมืองอยู่ห่างจากแม่ฮ่องสอนนับร้อยกิโลเมตร และมีภูเขากั้นขวางมากมายทำให้การไปมาหาสู่กันยากลำบาก จึงทำให้งานเทศกาลออกพรรษาของที่นี่มีความแตกต่างออกไป
คำว่า "ออกหว่า” หมายถึง การออกจากฤดูฝน เป็นงานประเพณีออกพรรษาตามความเชื่อเฉพาะของชาวอำเภอแม่สะเรียงโดยงานจะเน้นที่ "การตักบาตรตีสี่” บริเวณหน้าบ้านของตนเอง ตลอดทั้ง ๓ วันเทศกาล และจะตักบาตรอาหารสดในวันแรก เนื่องจากชาวอำเภอแม่สะเรียงเชื่อว่า การตักบาตรที่หน้าบ้านของตนเองจะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโคมและซุ้มราชวัติตกแต่งบ้านเรือน ตลอดจนมีขบวนแห่เทียนเหง หรือเทียนพันเล่ม ซึ่งประกอบด้วยขบวนแห่ต้นโคม เครื่องไทยทาน และการแสดงศิลปะรำฟ้อนต่างๆ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน
อีสานริมโขง เรือไฟ บั้งไฟ ผาสาด
เรือไฟ ในภาคอีสาน มีความหมายทั้งการนำพาเอาเคราะห์ร้ายออกไป และการนำเครื่องบูชาออกไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ แต่ทั้งสองประการที่กล่าวถึงนี้ ต่างใช้ช่วงเทศกาลออกพรรษาเป็นฤกษ์ดี และใช้สายน้ำในการนำพาไปสู่เป้าหมายทั้งสองรายการ
ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา จัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือ วันออกพรรษา เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมาจากคติความเชื่อว่า เป็นการลอยเครื่องสักการะไปกับเรือไฟเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในชมพูทวีปไกลโพ้น
ในวันนี้ งานประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม เป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่ เรือไฟ แต่ละลำมีโครงสร้างมหึมา มีการประกวดประขันกันตกแต่งออกแบบไฟประดับไฟแก่เรือลำใหญ่ให้สวยงามอลังการด้วยกระป๋องไฟนับพันนับหมื่นดวง ทั้งยังมีการยิง พลุ ตะไล ไฟพะเนียง เป็นเทคนิคพิเศษออกจากเรือไฟได้อย่างสวยงามตระการตา สว่างไสวไปทั่วทั้งท้องน้ำหน้าเมืองนครพนม
การลอยเรือไฟ ในช่วงเทศกาลออกพรรษา เช่นเดียวกับเมืองนครพนมนี้ ยังมีเหมือนกันในอีกหลากหลายพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะที่เมืองหลายเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงฟากประเทศ สปป. ลาว เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ก็มีการลอยเรือไฟ ด้วยคติเช่นเดียวกันนี้ไม่แตกต่างกัน เรือไฟ ของประชาชนใน สปป.ลาว ยังมีเรือไฟโคก คือ เรือไฟบนบก และมี เรือไฟน้อย ส่วนบุคคล ซึ่งจัดทำรูปร่างใกล้เคียงกับกระทงในเทศกาลลอยกระทงของภาคกลางภาคเหนือประเทศไทยอีกด้วย
ที่เมืองเชียงคาน จังหวัดเลย ในเทศกาลนี้ ก็มีกระบวนการ ลอยเรือไฟ เช่นกัน หากแต่ความไม่เหมือนกันคือ สิ่งที่ลอยเรียกว่า ผาสาด เป็น ปราสาท ไม่ใช่เรือ และความหมายในการประดับไฟ คือ ธูปและเทียน ก็แตกต่างจากไหลเรือไฟ นครพนม และ ไหลเรือไฟที่อื่นๆ เพราะนอกจากผาสาดนี้จะมีดอกไม้ธูปเทียนแล้ว ยังจะมี ผม หรือ เล็บ ของผู้ลอยใส่ลงไปในผาสาดด้วย ดังนั้นการลอยผาสาดออกไป จึงมิใช่เป็นการลอยไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว หากแต่เป็นการอธิษฐานขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้นำเคราะห์ร้าย หรือ ทุกข์โศกโรคภัยทิ้งออกไปให้ไกลจากตัวผู้ลอยนั้นเอง
บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ทั้งเรือไฟและผาสาด หากแต่เป็นดวงไฟสว่าง ซึ่งพวยพุ่งขึ้นจากลำแม่น้ำโขงพุ่งตรงดิ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ในเขตจังหวัดริมแม่น้ำโขงไล่เรียงตั้งแต่เมืองเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึงอุบลราชธานี และจะมีกำหนดพุ่งขึ้นไปอย่างแน่นอนในโอกาสเทศกาลออกพรรษา ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ พอดี
ตำนานเก่าเล่าว่า พญานาคครอบครองนครบาดาล ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ก็เกิดความเลื่อมใสหมายใจจะขอบวช แต่ไม่สามารถบวชได้ เนื่องจากยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน พญานาคจึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พญานาค ซึ่งอยู่เมืองบาดาล จึงบันดาลให้เกิดบั้งไฟพญานาค พุ่งขึ้นเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีต่อการเสด็จนิวัตกลับสู่มนุษยโลกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนเรื่องราวใหม่ๆ ในเทศกาลนี้ก็มีอยู่อย่างหลากหลาย ทั้งกล่าวว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของก๊าซในแม่น้ำโขง เป็นการกระทำโดยมนุษย์ด้วยกันเองด้วยเจตนาเร้นลับบางอย่าง ทั้งหมดนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่จะต้องแสวงหาความจริงกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ เทศกาลบั้งไฟพญานาค ได้จัดเป็นงานเทศกาลประเพณีหนึ่งของจังหวัดหนองคายไปแล้ว
แห่ปราสาทผึ้ง และ แห่กระธูปออกพรรษาเหมือนกัน แต่จุดหลักต่างกัน
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร มีจุดสำคัญอยู่ที่การจัดสร้างปราสาทจากขี้ผึ้งขึ้นอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นปราสาทเพื่อรับเสด็จการกลับมาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นประเพณีงานบุญสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร ตัวปราสาทขี้ผึ้งที่เป็นศูนย์กลางของงานนี้ ได้มีการพัฒนารูปแบบการสร้างซึ่งมีพื้นฐานมาจากการจัดทำหอผึ้งในสมัยก่อนให้มีความวิจิตรตระการและสวยงามมากขึ้น และสิ่งอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในเทศกาลประเพณีอันยิ่งใหญ่นี้ ก็คือความเป็นตัวของตัวเองของจังหวัดสกลนครอีกหลากหลายสิ่ง นั้นเอง
และใกล้เคียงมากกับงานแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร ที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ก็เปลี่ยนจากขี้ผึ้ง ที่นำไปถวายวัดเพื่อจัดทำเทียน มาเป็นกระดาษที่นำไปถวายวัดเพื่อจัดทำธูป ซึ่งเป็นเครื่องใช้จำเป็นของพระสงฆ์ เช่นเดียวกัน พร้อมๆ กันก็ยังมีฝีมือจัดทำปราสาทด้วยธูปสีต่างๆ ให้เป็นปราสาทไว้รอต้อนรับการเสด็จกลับของพระพุทธองค์ดังเรื่องราวในตำนานโบราณของเทศกาลออกพรรษาอีกด้วย
ทั้งปราสาทผึ้ง และปราสาทกระธูป เป็นอีกแนวทางหนึ่งของงานเทศกาลประเพณีที่จัดขึ้นเนื่องในเทศกาลออกพรรษาโดยการนำเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเฉพาะถิ่น ขึ้นมาขยายเป็นจุดเด่นของงาน จนทำให้ปรากฏชัดแก่สาธารณะทำให้พิธีกรรมทางศาสนาแปรเปลี่ยนไปกลายเป็นจุดรองของภาพรวมงานเทศกาลทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันมีงานเทศกาลประเพณีออกพรรษาเช่นนี้อยู่ไม่ใช่น้อยด้วยกัน
แห่พระ แข่งเรือ ออกพรรษา หน้าน้ำของชาวลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยา
เกิดขึ้นจากแม่น้ำสี่สายในภาคเหนือ คือ แม่น้ำปิง วัง ยม และ น่าน สายน้ำทั้งห้าสายนี้คือกระดูกสันหลังแกนกลางของประเทศไทย การทำมาหากินของคนไทย นับแต่อดีตจนปัจจุบันผูกพันกับสายน้ำทั้งห้าสายนี้อย่างแนบแน่น และงานเทศกาลประเพณีของพื้นที่ต่างๆ จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับสายน้ำ และคงดำรงอยู่ แม้ชีวิตการเดินทางในวันนี้จะมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางถนนสายต่างๆ เป็นหลักแล้วก็ตาม
ประเพณีแข่งเรือ เป็นประเพณีหน้าน้ำของคนไทย เป็นการละเล่นในยามน้ำหลากที่สืบทอดมาแต่โบราณ และการมาของน้ำหลากก็มักจะมาในช่วงฤดูฝน ครั้นปลายฝนต้นหนาว น้ำเริ่มไหลช้าลงจนพอที่จะขวางเรือกับสายน้ำหันเหได้ตามใจ ก็เป็นช่วงเทศกาลออกพรรษาพอดี ดังนั้น อุบาสก อุบาสิกา มรรคทายกวัดจึงตั้งใจจัดให้สองความสำคัญนี้เข้ามาอยู่ร่วมรวมในงานเทศกาลประเพณีเดียวกัน ส่วนการคลี่คลายของชื่องานจะเป็นชื่ออะไรก็สุดแล้วแต่คณะผู้จัดงานจะตั้งชื่อกันไปตามความเหมาะสม ประเพณีแข่งเรือจังหวัดพิจิตร แห่งลุ่มน้ำยม ประเพณีแข่งเรือเมืองน่านที่มีเรือหัวนาคราชเป็นเอกลักษณ์ ของลุ่มน้ำน่าน ต่างเป็นตัวอย่างสำคัญของสองลุ่มน้ำดังว่านี้ ส่วนประเพณีโยนบัว บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และประเพณี แห่พระแข่งเรือ ในอีกหลากหลายลุ่มน้ำในภาคกลางก็ล้วนเป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงการดำรงอยู่ร่วมกันของ การแห่พระ และการแข่งเรือ ในเทศกาลออกพรรษา ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ ปิง วัง ยม น่าน กระดูกสันหลังหลักของประเทศไทยในวันนี้
ภาคใต้ ลากพระบก ชักพระน้ำและเอกลักษณ์แข่งเรือ ขึ้นโขน ชิงธง
การเกิดประเพณีลากพระ และชักพระขึ้นในภาคใต้ นอกจากจะสืบเนื่องด้วยพุทธตำนาน เช่นเดียวกับเทศกาลออกพรรษาในภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ยังสันนิษฐานว่า น่าจะมี คตินิยมดั้งเดิมอย่างอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย กล่าวคือ ในเดือน ๑๑ นั้น พื้นที่ภาคใต้ เข้าสู่ฤดูฝนช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ ประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพการเกษตร สิ่งปรารถนาที่พ้องกัน จึงได้แก่การขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล งานลากพระ จึงมุ่งขอฝน เพื่อการเกษตร จนเกิดเป็นคติความเชื่อว่า การลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้มีอยู่ ๒ ประการ คือ ลากพระทางบก กับ ชักพระทางน้ำ ลากพระทางบก คือการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ซึ่งเป็นปางพระพุทธรูปสำหรับการขอฝนโดยเฉพาะขึ้นประดิษฐาน บนพนมพระ หรือบุษบก แล้วแห่แหน โดยการลากไปบนบก วัดส่วนใหญ่ ที่ดำเนินการประเพณีลากพระวิธีนี้ มักตั้งอยู่ในที่ไกลแม่น้ำลำคลอง
ส่วนชักพระทางน้ำ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐาน บนบุษบก ในเรือ แล้วแห่แหนโดยการชักลากเรือที่ตกแต่งตามแบบประเพณีท้องถิ่นให้สวยงามแล้วลากเรือพระไปทางน้ำ ประเพณีลากพระที่มักกระทำด้วยวิธีนี้เป็นของวัด ที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง
ก่อนถึงวันชักลากพระคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จะมี "การคุมพระ” ที่วัด การคุมพระ คือการตีตะโพนประโคมก่อนจะถึงวันลากพระประมาณ ๑๐ - ๑๕ วัน เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้าน ทราบว่า จะมีการลากพระ เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีชักลากพระ การคุมพระนี้เองที่จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการ แข่งขันประชันโพน กลายเป็นประเพณี แข่งโพนลากพระ จังหวัดพัทลุง และการชักพระ ลากพระ ก็กลายเป็นประเพณีสำคัญในเทศกาลออกพรรษาต่อไปในหลายๆ พื้นที่ภาคใต้ นั้นเอง
นอกจากประเพณีการลากพระบก ชักพระน้ำแล้ว ในภาคใต้ที่จังหวัดชุมพร ยังมีกรณีพิเศษไม่เหมือนที่ไหนจนงานประเพณีมีชื่อเสียงขึ้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนที่อื่นๆ แต่ก็เป็นงาน เทศกาลประเพณีที่มีที่มาหลักคือ เทศกาลออกพรรษา เช่นเดียวกัน คือ งานประเพณีแข่งเรือ ขึ้นโขนชิงธง แม่น้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร นั้นเอง
สุดท้าย ประเพณีการลากพระน้ำ ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็คือประเพณีการลากเรือพระทางน้ำของประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ นั่นคือ ประเพณีแห่พระพุทธรูปบัวเข็ม พระพองต่ออู ของพี่น้องชาวอินทา ทะเลสาบอินเล รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่า ดินแดนที่ชาวบ้านในทะเลสาบพายเรือกันด้วยการใช้เท้านั้นเอง งานนี้เป็นงานในเทศกาลออกพรรษาของชาวพุทธในเมียนมา ซึ่งมีภาพหลักคือการนำองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ลงประดิษฐานในเรือการเวกที่ตกแต่งประดับประดาอย่างเมียนมาที่สวยงามอลังการยิ่ง แล้วแต่ละวันก็จะลากเรือพระออกไปประดิษฐานให้ชาวบ้านในทะเลสาบทั้งหลาย ณ วัดในพื้นที่ต่างๆ รอบทะเลสาบได้กราบไหว้บูชา และเรือพระ เมื่อจอดลงที่วัดแห่งใดแห่งหนึ่งริมทะเลสาบแล้วตามวันที่กำหนด ก็จะได้เวลานำออกแห่แหนไปที่วัดอื่นๆ ริมทะเลสาบต่อไปอีก จนครบถ้วน ๑ เดือนแห่งเทศกาลแห่พระ ก็จะจบสิ้นพิธีกรรมนั้นเองอย่างสวยงาม
จากทั้งหมดที่เล่าให้ฟังมาแล้วมากมาย ข้อสรุปจึงอยู่ที่ว่า เทศกาลออกพรรษา ก็คือช่วงเวลาทางพุทธศาสนา ที่ชาวไทยและชาวอุษาคเนย์ได้ช่วยกันใช้ให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองให้แก่การเข้าพรรรษา ที่พระภิกษุและสามเณรทั้งหลายต้องหยุดยั้งการเดินทางจาริกไปยังที่ต่างๆ และหันกลับเข้าวัดมุ่งหน้าศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมุ่งมั่นเคร่งครัด และรวมทั้งเมื่อมีการจัดงานบุญเฉลิมฉลองแล้ว ก็ควรมีสิ่งซึ่งจะเป็นสารัตถประโยชน์แก่ชุมชนต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ในด้านธรรมศึกษา ด้านความบันเทิง การสืบสานวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้ง เรื่องใหม่เรื่องล่าที่มาแรงที่สุดก็คือ การท่องเที่ยวด้วย และทั้งหมดนี้ก็คือ เทศกาลออกพรรษา ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของคนไทย และชาวพุทธอุษาคเนย์ทั้งหลายนั้นเอง
เทศกาลออกพรรษา ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง เรื่อง : อภินันท์ บัวหภักดี
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม