สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดแถลงข่าว “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไทยไปฝรั่งเศสตามรอยเส้นทางการทูตในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม” ณ ห้อง 704 ชั้น 7 (อาคาร 12 ชั้น) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ National Research Institute for Agriculture Food and Environment (INRAE) แห่งประเทศฝรั่งเศส และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการกองทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ทดสอบการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากจังหวัดฉะเชิงเทราไปยังประเทศฝรั่งเศส ด้วยระบบจัดการโซ่ความเย็นสำหรับผลิตผลเกษตรเน่าเสียง่ายทางอากาศ (Cold Chain) เพื่อพัฒนาเป็นระบบต้นแบบสำหรับการส่งออกผลิตผลเกษตรเน่าเสียง่ายทางอากาศไปยังประเทศในยุโรป โดยนายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับมอบหมายให้ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าวด้วย
การทดสอบระบบมีต้นทางที่ประเทศไทย และสิ้นสุดปลายทางที่ประเทศฝรั่งเศส ตามการเดินทางของพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ครั้งเป็นราชทูตที่ไปเยือนประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2410 ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาท่านเป็นผู้มีคุณูปการสำคัญในการบริจาคที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปัจจุบัน และจากการขับเคลื่อนงานวิจัยระบบ Cold chain ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในครั้งนี้ได้ส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นต้นแบบสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร ตามรอยเส้นทางการทูตในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่จัดส่งไป จะนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพที่ INRAE และทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส จะนำไปจัดแสดงที่งาน Franco – Thai Innovation and Startup Week 2023 ในวันที่ 25 เมษายน 2566 เพื่อส่งเสริมให้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ระบบ Cold Chain เป็นระบบที่นำมาใช้ในการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรที่เน่าเสียง่าย ด้วยการควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่ที่แปลงปลูกหลังการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและขยายผลเป็นระบบการขนส่งสำหรับผลผลิตที่เน่าเสียง่ายชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาด้านความต้องการของตลาดในต่างประเทศ นำระบบ Cold Chain มาใช้การขนส่งรองรับการขยายตัวด้านการส่งออกที่ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าผลผลิตจะไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและคงไว้ซึ่งคุณภาพ เป็นการสร้างโอกาสที่จะเพิ่มช่องทางการตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศที่มีความต้องการ ทำให้สินค้าเกษตรของประเทศไทยเป็นที่รู้จัก นอกจากการบริโภคสดแล้ว ยังถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ซึ่งเสน่ห์ของอาหารที่ใช้วัตถุดิบของประเทศไทยก็เป็น soft power ที่ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ที่คุ้มค่าให้กับเกษตรกรและประเทศต่อไป