นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอจังหวัดเชียงราย และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตัวแทนประเทศไทยยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ประจำปี 2566 โดยจังหวัดเชียงราย ยื่นสมัครเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดสุพรรณบุรี ยื่นสมัครเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (City of Music)
ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ได้พิจารณาใบสมัครของทั้ง 2 เมือง แล้วเห็นว่าสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ทั้งเรื่องความชัดเจนของข้อมูลที่กรอกในใบสมัคร การนำเสนอต้นทุนของเมือง ความพร้อมในการเตรียมการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ส่งเข้าประกวดในรอบ 4 ปี สิ่งที่ตั้งใจจะดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ตลอดจนความพร้อมของเมือง ความมุ่งมั่นและมีกลไกที่ชัดเจนในการทำงานรวมกันต่อเนื่องในระยาว
ผู้อำนวยการ อพท. ยังได้กล่าวต่อว่า “เชียงรายและสุพรรณบุรี ที่ได้รับเลือกนี้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลรับผิดชอบของ อพท. และ อพท. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันเมืองเข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ โดยมาจากการที่ได้เข้าไปพัฒนาและเห็นถึงศักยภาพและอัตลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถต่อยอดผ่านแนวทางการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และมีมาตรฐานตามหลักสากล เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกของยูเนสโก (UCCN) ซึ่งเริ่มจากการศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองตามองค์ประกอบของยูเนสโก โดยทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ หรือคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันผลักดันจนไปสู่ความสำเร็จ”
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2566 อพท. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาและยกระดับเมืองเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ รวม 3 เมือง ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลรับผิดชอบของ อพท. และได้ยื่นใบสมัครทั้ง 3 เมือง ได้แก่ จังหวัดน่าน ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Art) จังหวัดสุพรรณบุรี ด้านดนตรี (City of Music) และจังหวัดเชียงราย ด้านการออกแบบ (City of Design) โดยทั้ง 3 เมือง มีรูปแบบการทำงานผ่านกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของแต่ละจังหวัดและบูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น
สำหรับการพัฒนาและยกระดับเมืองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการขยายผลจากที่ อพท. ได้รับมอบหมายนโยบายจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษที่มีศักยภาพ ให้เกิดการยอมรับในระดับสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ไปสู่เมืองน่าอยู่และน่าท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ อพท. ได้ร่วมจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ร่วมกับจังหวัด เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองระยะ 5 ปี เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยให้สอดคล้องกับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองของทั้ง 2 จังหวัด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อใช้พัฒนาเมืองและชุมชนให้เกิดความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการดึงชุมชนที่มีศักยภาพสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์และเส้นทางการท่องเที่ยว การบริการให้มีมาตรฐาน การพัฒนานักสื่อความหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยวที่นำเอาอัตลักษณ์ประจำถิ่นมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเดินทางระหว่างกันของประเทศที่เป็นเครือข่ายสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมี 295 เมือง จากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ตามวัตถุประสงค์ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UCCN) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศหรือภูมิภาค หรือระหว่างชุมชนท้องถิ่น เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในแต่ละท้องถิ่น/ชุมชน ระหว่างประเทศสมาชิก
วางโรดแมป 5 ปี พัฒนาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โรดแมป 5 ปี ของจังหวัดสุพรรณบุรี จะขับเคลื่อนตามเป้าหมาย “สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี” ผ่านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่และต่อยอดให้เป็นเมืองแห่งดนตรี เนื่องจากจังหวัดสุพรรณบุรีมีรากฐานวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่เข้มแข็ง ผสมกลืมกลืนกับวิถีชีวิตของของในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ทั้งดนตรีพื้นบ้าน ภาษาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งยังเป็นจังหวัดที่ผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีความสำคัญกับประเทศมายาวนาน ทั้งปูชนียบุคคลทางด้านดนตรี ศิลปินแห่งชาติฯ
สำหรับจังหวัดเชียงราย ดำเนินการต่อยอดจากแผนที่นำทางที่ได้ร่วมจัดทำไว้เดิมในปี 2564 โดย อพท. ไปร่วมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติตามแผนขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองแห่ง การออกแบบ เนื่องจากเชียงรายมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีศิลปินล้านนาจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สืบทอดกันมาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทางท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
เดินหน้าพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษ อพท. สู่เมืองสร้างสรรค์
ยูเนสโก มีการแบ่งประเภทของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1) หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน 2) การออกแบบ 3) ภาพยนตร์ 4) อาหาร 5) วรรณกรรม 6) สื่อศิลปะ และ 7) ดนตรี ซึ่ง อพท. ได้เตรียมขยายเครือข่ายการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษฯ เพื่อผลักดันเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เมืองในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช) และอีกหลายพื้นที่ที่ได้มีการศึกษาศักยภาพไว้เบื้องต้นแล้ว เพื่อผลักดันให้เกิดการรับรู้ศักยภาพของประเทศไทยในระดับโลกต่อไป
โดยที่ผ่านมา อพท. ได้ดำเนินการผลักดันเมืองไปสู่ความสำเร็จ ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ City of Crafts & Folk Art ในปี 2562 และจังหวัดเพชรบุรี เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ City of Gastronomy ในปี 2564 ซึ่งทำให้เมืองได้เป็นที่รู้จักของสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 295 เมือง จาก 90 ประเทศทั่วโลก เกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และก่อให้เกิดการเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นองค์การมหาชนของไทย สังกัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546
ข่าวและภาพจาก สำนักข่าวไทย อพท.