12 มีนาคม 2563
"ทีมงานช่างขอข้าวได้ส่งมอบงานให้แก่โรงพยาบาลเสียดายแดด เริ่มประหยัดแล้ววันละ 2,500 บาท"
หลวงพ่อพระปัญญาวชิรโมลี ท่านได้เล่าถึงวันส่งมอบ โซล่าร์โรงพยาบาลบ้านตาก ที่ดำเนินการติดตั้งเสร็จสิ้น เรียบร้อย ให้กับคณะผู้บริหารโรงพยาบาลบ้านตาก วันที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
ระบบโซล่าร์เซลล์บนหลังคา โรงพยาบาลบ้านตาก นับเป็นปฐมฤกษ์โรงพยาบาลแรกในแนวคิด โรงพยาบาลเสียดายแดด (ต่อมาในภายหลัง เรียกโครงการโซลาเซลล์ 77 จังหวัด 77 โรงพยาบาล) ที่ริเริ่มโดยพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และผู้ก่อตั้งโรงเรียน ศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญโซลาร์เซลล์ และบุกเบิกการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสาธารณมายาวนาน และปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
รพ.บ้านตาก ได้ เขียนเล่าถึง เหตุการณ์วันนั้นไว้ ดังนี้
"น้องๆ ทีมช่างขอข้าว แห่งโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบของประเทศไทย โรงเรียนศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ก่อตั้งโดยพระครูวิมลปัญญาคุณ (พระนามขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดศรีแสงธรรม เดินทางมาถึงบ้านตากแล้ว เริ่มทำการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้รพ.บ้านตาก ทุนติดตั้งจาก "กองทุนโซล่าเซลล์โรงพยาบาลบ้านตาก โดยคณะศิษยานุศิษย์พระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปูเจี๊ยะ จุนฺโท") ได้รับความเมตตาจาก พระครูปลัดบุญช่วย ปุญฺญวนฺโต วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ขออนุโมทนาบุญทุกๆท่านที่ร่วมกันทำบุญมาณ โอกาสนี้"
77 จังหวัด 77 โรงพยาบาล และ ทีมงานช่างขอข้าว
หลวงพ่อพระปัญญาวชิรโมลี เล่าว่า
77 จังหวัด 77 โรงพยาบาล" คือ "โครงการที่รวบรวมเงินบริจาคไว้ให้พอร่วมกับโรงพยาบาลหรือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่อยากจะร่วมทำบุญด้วยเมื่อครบสามล้านต่อโรงพยาบาลก็ไปช่วยติดตั้งให้ บางที่ไม่มีเงินก็ช่วยระดมทุนไปเติมให้โรงพยาบาลละ 100 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการใช้งานยาวนานถึง 30 ปี "
ส่วนช่างขอข้าวนั้น
"เป็นผลผลิตของโคกอีโด่ยวัลเล่ย์ ที่นำเรื่องโซลาร์เซลล์มาจัดการเรียนการสอนเป็นโรงเรียนเสียดายแดด ที่มีคนสนใจจนต้องเปิดเป็นคอร์สอบรมระยะสั้นผ่านไปแล้วเกือบหกสิบรุ่น ส่วนนักเรียนเราก็ทยอยจบวิศวะไฟฟ้าออกมาหลายรุ่นก็พากันกลับมาช่วยงานโรงเรียน สอนน้องเขียนโปรแกรม ทำหุ่นยนต์ สอนวิชาพลังงานทดแทน สอนวิชาโซลาร์เซลล์แทนหลวงพ่อ และหารายได้มาช่วยเหลือจุนเจือโรงเรียนเพราะที่นี่เรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี รถรับส่งฟรี ถ้าไม่มีรายได้จะเอาเงินมาจากไหน รวมทั้งค่าจ้างเงินเดือนครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน ในวัดเกือบ เจ็ดแสนบาทต่อเดือน "
เรียนแล้วต้องสร้างงานด้วย
"สร้างเด็กบ้านนอกให้อยู่บ้านนอก แนวคิดนี้ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเรียนจบมา แต่ต้องหางานให้เขาทำที่นี่ด้วย การออกแบบระบบ การออกแบบการติดตั้ง การขออนุญาตเชื่อมต่อต้องอาศัยความรู้ทางวิศวกรรม ก่อนจะส่งแผนงานให้กับทีมงานช่างขอข้าวออกไปรับงานพร้อมวิศวกรควบคุมงานเพื่อความปลอดภัย เพื่อความประหยัดคุ้มค่าของเจ้าของงานส่วนใหญ่จะเป็นภาคธุรกิจโรงงาน โรงแรม จากเหนือจรดใต้ ไกลสุดก็ภูเก็ต ลำพูน ตาก ชลบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปหมด แต่อย่าเอากำไรเกินควร มีความซื่อสัตย์ต่องาน ต่อวิชาชีพตนเอง หากมีกำไรพอแบ่งปันสงคมได้ก็ซื้อเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาล ซื้อเตียงพยาบาลความดันลบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์"
รพ.บ้านตาก รพ.เสียดายแดดแห่งแรก ที่กำเนิดเกิดขึ้นด้วยพลังวิริยะและความศรัทธาของ คนบ้านตาก และประชาชนคนไทยทั่วสารทิศ และสำเร็จเป็นรูปธรรมด้วยแรงกายและฝีมือของทีมงานช่างขอข้าว ช่างเยาวชนรุ่นใหม่ยุคโซล่าอย่างแท้จริง
ชมภาพ
ทีมช่างขอข้าว in action
จุดเริ่มต้น สู่กองทุนโซล่าเซลล์โรงพยาบาลบ้านตาก
เมื่อปี 2562 เป็นเวลาราว 3 ปี หลังจากที่ พญ.ธัญญรัตน์ สิทธิวงศ์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก (ตั้งแต่ปี 2559) ท่านได้ทราบเรื่องราวว่า พระครูวิมลปัญญาคุณ (พระนามขณะนั้น) แห่งวัดศรีแสงธรรม สามารถนำเอาระบบโซลาเซลล์มาติดตั้งใช้งานภายในโรงเรียนวัคศรีแสงธรรม ในอ.โขงเจียม จ.อุบล และประยุกต์ใช้กับเครื่องไฟฟ้า ระบบแอร์ ระบบไฟฟ้า ช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับโรงเรียนได้มาก จึงเห็นว่าหากโรงพยาบาลสามารถนำระบบนี้มาติดตั้งบ้าง ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลไปได้ไม่น้อย
พระปัญญาวชิรโมลี ได้เล่าถึงห้วงเวลาตั้งต้นอันเป็นที่มาของโครงการโรงพยาบาลบ้านตากไว้
"พญ.ธัญญรัตน์ สิทธิวงศ์ ผอ.โรงพยาบาลคนเก่งวิ่งขึ้นลงมาโขงเจียมหลายรอบ อยากติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นอย่างมากจนต้องยอมรับปากเพราะเห็นความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงพยาบาลตนเองจริง และไม่ได้มาขอให้เป็นภาระของหลวงพ่ออย่างเดียว ยังเข้าไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถือให้ช่วยทอดผ้าป่าได้วัดละแสนสองแสนมาช่วยจนได้เงินสามล้านกว่าบาทในการจัดทอดผ้าป่ารวมบุญบารมีครูบาอาจารย์มาพร้อมกัน"
จากแนวคิด สู่การระดมทุน
กันยายน 2562 โดยความเมตตาของพระเดชพระคุณ พระครูปลัดบุญช่วย ปุญฺญวนฺโต เจ้าอาวาสวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จัดให้มีการทอดผ้าป่า "กองทุนโซล่าเซลล์โรงพยาบาลบ้านตาก โดยคณะศิษยานุศิษย์หลวงปูเจี๊ยะ จุนฺโท" เชิญร่วมทำบุญเพียงท่านละ 330 บาท ทำบุญสร้างกระแสไฟฟ้า ขนาด 120 Kw ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละ 72,000 บาท ต่อเนื่องยาวนาน 25 ปี
การระดมทุนทอดผ้าป่า ดำเนินไปด้วยดี และสัมฤทธิ์เป้าหมาย ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น
"วันอาทิตย์ที่
22 ธันวาคม 2562 นับว่าเป็นที่งดงาม และควรค่าแห่งความทรงจำ ของชาวรพ.บ้านตากเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความเมตตาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ จำนวนมากถึง 38 รูป มาร่วมในงานทอดผ้าทอดผ้าป่า "กองทุนโซล่าเซลล์โรงพยาบาลบ้านตาก โดยคณะศิษยานุศิษย์หลวงปูเจี๊ยะ จุนฺโท" ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้แก่ พระครูปลัดบุญช่วย ปุญฺญวนฺโต วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มีพุทธศาสนิกชน เข้าร่วม 500 คน ขออนุโมทนาบุญ ทุกท่านๆ ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพในกองทุนโซล่าเซลล์ รวมถึง เจ้าภาพโรงทานจากทั่วสารทิศที่จัดอาหารหวานคาวมาเข้าร่วม ยอดผ้าป่าที่หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย จำนวน 3,383,567.04 บาท"
พญ.ธัญญารัตน์ สิทธิวงศ์ ผอ.รพ.บ้านตาก ได้กล่าวในวันนั้นว่า
"งานในวันนี้สำเร็จลงได้ด้วยความรัก ความสามัคคีของพวกเราชาวรพ.บ้านตากทุกคน ต้องขอบคุณพวกเรามากๆ ที่คนที่ช่วยกันเป็นสะพานบุญบอกบุญต่อๆๆ กัน ช่วยเตรียมงาน ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง ได้รับบุญสำเร็จถ้วนทั่วเท่ากันค่ะ"
ภาพจาก เพจ รพ.บ้านตาก
ศักยภาพของระบบและประโยชน์ที่ได้รับ
ระบบโซล่าเซลล์โรงพยาบาลบ้านตาก มีขนาด 137.6 กิโลวัตต์ ประกอบด้วย แผงโซล่าเซลล์ Mono 400 วัตต์ จำนวน 336 แผง พร้อม Inverter Solar Edge เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จะช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละ 75,000 บาท หรือ 900,000 บาทต่อปี มีอายุการใช้งานได้ถึง 25 ปี
งบประมาณการก่อสร้าง 3.4 ล้าน จุดคุ้มทุนที่ 3.6 ปี
ความคุ้มค่า
สำรวจข้อมูลค่าใช้ไฟฟ้าของโรงพยาบาลบ้านตาก เปรียบเทียบ ช่วงปี 2562-2563 และการประหยัดไฟที่ได้ ในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกหลังจากติดตั้งระบบและเปิดใช้งาน
และเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปีอย่างที่ทุกคนทราบกัน
ผลคือค่าไฟฟ้าเหลือเพียง 118,436 บาท ต่อเดือน ลดลง ถึง 90,890 บาท จากจำนวนไฟฟ้าที่ใช้ 30,152 หน่วย คิดเป็น 43% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (เมษายน 62 ที่ยอด 209,326 บาท)
เทียบจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 6 เดือนก่อนหน้า
พ.ย.62 จำนวน 37,820 หน่วย ค่าไฟฟ้า 152,188.79 บาท
ธ.ค.62 จำนวน 27,847 หน่วย ค่าไฟฟ้า 113,919.53 บาท
ม.ค.63 จำนวน 33,128 หน่วย ค่าไฟฟ้า 135,455.14 บาท
ก.พ.63 จำนวน 31,840 หน่วย ค่าไฟฟ้า 129,658.71 บาท
มี.ค.63 จำนวน 44,040 หน่วย ค่าไฟฟ้า 179,664.72 บาท
เม.ย.63 จำนวน 30,152 หน่วย ค่าไฟฟ้า 118,436.42 บาท *เดือนที่ใช้ระบบเต็มเดือน
2 ปีผ่านไป ประหยัดแล้ว 1.3 ล้านบาท
4 มกราคม 2565 ครบรอบ 2 ปี ที่รพ.บ้านตากได้ติดตั้งโซล่าเซลล์ รพ.บ้านตาก ได้กล่าวถึงความสำเร็จนี้ไว้ว่า
Bantak Hospital ขอกราบในความเมตตาของท่านเจ้าคุณ "พระปัญญาวชิรโมลี นพพร ",หลวงตาบุญช่วย จากวัดป่าภูริทัต จ.ปทุมธานี และพระเถระ ตลอดจนทุกๆท่านที่ร่วมทำบุญ"เปลี่ยนแสงจากฟ้า มาเป็นแสงแห่งบุญ ทำให้ รพ.บ้านตากประหยัดค่าไฟฟ้า 1.3 ล้านบาทและนำเงินส่วนนั้น มาปรับปรุง Smart ER ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะความทันสมัย ซึ่งทำให้ผู้ป่วย/ผู้มารับบริการ ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยขึ้น
ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ Smart ER 4.0 คุณประโยชน์ต่อเนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้
วันที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน อาคารไชยกุล โรงพยาบาลบ้านตาก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ Smart ER 4.0 เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน โดยมี นายจรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอบ้านตาก แพทย์หญิงธัญญารัตน์ สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิดงาน
สำหรับห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ Smart ER 4.0 เป็นการปรับปรุงพัฒนาห้องฉุกเฉินให้เป็นห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างเป็นระบบในการให้บริการ โดยยึดหลัก 2 P safety คือ ผู้ดูแลผู้ป่วยผู้รับบริการปลอดภัย (Patient safety) และบุคลากรสาธารณสุขปลอดภัย (Personnel safety) โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ให้เข้ากับยุค Digital disruption ภายใต้สถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้พัฒนาระบบให้เกิดความเกิดความปลอดภัยสูงสุด ลดการแพร่กระจายเชื้อในสถานบริการ อีกทั้งได้พัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในห้องฉุกเฉินให้เอื้อต่อการเยียวยา (Healing environment) บรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นมิตร ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานด้วย
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และแขกผู้มีเกียรติได้เยี่ยมชมการให้บริการห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ (Smart ER 4.0) การพัฒนาภูมิสถาปัตย์ สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาของหอผู้ป่วยใน ระบบไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 137.76 kW งานแผนแพทย์และผลิตภัณฑ์สมุนไพรโรงพยาบาลบ้านตาก และคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI clinic)
ทั้งนี้ โรงพยาบาลบ้านตากได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผ่านการประเมินเพื่อรับรองคุณภาพสถานบริการและต่ออายุการรับรอง 6 ครั้งผ่านการประเมินพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN HOSPITAL ระดับดีมาก PLUS ปี 2563 และเป็นโรงพยาบาลที่มีผลการประเมินการดำเนินงานสาธารณสุขตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ (Performance Agreement : PA) ปี 2563 ระดับโรงพยาบาลสูงสุดในจังหวัดตากและปัจจุบันได้พัฒนาสู่การเป็น Smart hospital โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการจัดบริการภายในโรงพยาบาลลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มความสะดวกสบายความรวดเร็วในการรับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และทันสมัยอีกด้วย
ข่าวจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก
7 ธ.ค.63