นโยบายสุขภาพดี เป็นหนึ่งในนโยบายที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศไว้ว่าจะต้องเห็นความคืบหน้าใน 100 วันหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่ง
ผศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงความคืบหน้านโยบายด้านสุขภาพที่ผ่านมาว่า ได้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1. การเปิดคลินิกวันเสาร์
2. จัดการโรค โควิด-19
3. จัดการการฉีดวัคซีนกลุ่มโรค 608 ในเชิงรุก
4. จัดให้มีคลินิกลองโควิดในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
ส่วนนโยบายสำคัญที่ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงการวางระบบ ก็คือ Sandbox ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ล่าสุดมีการตั้งคณะทำงาน 7 ชุด เพื่อขับเคลื่อนงานดังนี้
1. คณะกรรมการอำนวยการ
2. คณะกรรมการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ
3. คณะทำงานพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล
4. คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายโรงพยาบาล 10 ถึง 90 เตียงและโรงพยาบาลเมือง
5. คณะทำงานขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุผู้ป่วยระยะฟื้นฟูผู้ป่วยแบบประคับประคองและเวชศาสตร์เขตเมือง
6. คณะทำงานขับเคลื่อน Sandbox ราชพิพัฒน์โมเดล
7. คณะทำงานขับเคลื่อน Sandbox ดุสิตโมเดล
รองผู้ว่าฯ ทวิดา เปิดเผยว่า มีแผนจะทำ Sandbox ระบบสุขภาพในโซนกรุงเทพเหนือเพิ่มเติม เป็นแผนที่ 3 ซึ่งได้พูดคุยกับทาง สปสช. เพื่อขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 2 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของกรุงเทพมหานครปทุมธานี ในพื้นที่เทศบาลรังสิต เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย
แนวคิด Sandbox ระบบสุขภาพในโซนกรุงเทพ กล่าวคือ
"ตอนนี้ในเขตโซนเหนือยังไม่มีโรงพยาบาล จึงหารือกันว่าจะเป็นไปได้ไหมที่โรงพยาบาลราชวิถี 2 โรงพยาบาลทัณฑสถาน หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ที่อยู่ในเขตบริเวณที่ใกล้เคียง จะทำความร่วมมือกับเรา ในการที่เราจะสามารถส่งต่อไปจากศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเหตุผลที่ต้องทำการ Sandbox เนื่องจากการส่งต่อ กติกาการส่งต่อหรือแม้แต่สิทธิ์ต่างๆ ที่ประชาชนมีอยู่ ต้องการการออกแบบให้เป็นการเฉพาะ จึงจะสามารถเชื่อมโยงการส่งต่อแบบนี้ได้
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาถึงโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย เช่น โรงพยาบาลสีกัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหม่ในพื้นที่ (สังกัดกองทัพอากาศ) โดยที่ในปัจจุบัน โรงพยาบาลที่ช่วยเราอยู่ก็คือโรงพยาบาลภูมิพล เพราะฉะนั้นจึงมีรูปแบบของโรงพยาบาลเหล่านี้ที่จะทำความร่วมมือ ไม่ได้หมายความว่าจะทำแต่เฉพาะกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ และมีความพร้อม เราก็จะทำ Sandbox นี้ด้วย
ความต่างของโมเดล Sandbox โซนกรุงเทพเหนือ กับ โมเดล Sandbox ราชพิพัฒน์ ก็คือ โมเดลราชพิพัฒน์ เป็นการใช้โรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานครเองเป็นแม่ข่าย แต่เนื่องจากโซนเหนือตอนนี้ ยังไม่มีโรงพยาบาล จึงมีความปรารถนาจะได้แม่ข่าย หรือ "ข่ายแม่" ที่เป็นหลายๆ โรงพยาบาลในหลายๆ สังกัด ร่วมกันบริการกับศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพ"
รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าวถึงตัวชี้วัดของ Sandbox ระบบสุขภาพกรุงเทพมหานครว่า จะวัดจาก
จำนวนผู้เข้าใช้บริการและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น
ปลายทางก็คือการลดอัตราเจ็บป่วยของประชาชน
ซึ่งหมายความว่าต้องส่งเสริมการป้องกันในเชิงรุกด้วย
ไม่เพียงแค่มีการระบบส่งต่อ หรือว่าการเข้ารักษาเพียงอย่างเดียว
ก่อนหน้านั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศไว้ในวันเปิด Sandbox ระบบสุขภาพของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ว่า หลังจากนี้ไปอีกหนึ่งปี จะต้องขยายพื้นที่ Sandbox ระบบสุขภาพให้ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครก็คือ 25 เขตจากทั้งหมด 50 เขต
ตรงประเด็น ThaiPBS
12 ก.ย.65