กลับมาจัดอีกครั้งปี 2566 นี้ อลังการสมการรอคอยของชาวสุโขทัย 10 วัน 10 คืน เต็ม กับพิธีเปิดงานและขบวนแห่ยิ่งใหญ่ตระการตา ร่วมสักการะพระแม่ย่า นิทรรศการของส่วนราชการ การแสดงร้องเพลงลูกทุ่งการกุศล เดินแฟชั่นการกุศล การแสดงดนตรีจากศิลปินชั้นนำ ทุกคืน สินค้าของกิน ของใช้ โอทอป สวนสนุกชุดใหญ่
ตารางการแสดง
24 ก.พ. หนู มิเตอร์
25 ก.พ. ST Band
26 ก.พ. มินตรา อินทิรา
27 ก.พ. ไม้เลื้อยแบนด์
28 ก.พ. เอ มหาหิงค์
1 มี.ค. กานต์ ทศน
2 มี.ค. อาม ชุติมา
3 มี.ค. TN Band
4 มี.ค. มิน เฉาก๊วย
5 มี.ค. เฟิร์ส หนูเป็นคนไทย
ศรัทธาศาลพระแม่ย่า
ศาลพระแม่ย่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยมานับนาน คนไทยไม่เพียงชาวสุโขทัยทุกตำบลอำเภอจะมากราบไหว้ขอพร แต่ศาลพระแม่ย่ายังได้รับความนับถือจากสาธุชนชาวไทยทั่วประเทศอีกด้วย เมื่อถึงช่วงเทศกาลงานประจำปีและกาชาด ศาลพระแม่ย่า ได้ต้อนรับผู้มาเยือนสุโขทัย เพื่อกราบไหว้เสริมมงคลแก่ตัวและแก่ครอบครัวนั่นเอง
ศาลพระแม่ย่า ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ถนนนิกรเกษม ริมแม่น้ำยม เป็นที่ประดิษฐานดวงพระวิญญาณของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและเทวรูปพระแม่ย่า ทำด้วยศิลาสลักแบบเทวรูปซึ่งมีพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม พระเกตุมาลายาวประดับเครื่องทรงแบบนางพญา มีความสูง 1 เมตร สันนิษฐานว่าศาลแห่งนี้สร้างในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่ออุทิศให้กับนางเสือง ผู้เป็นพระมารดา
เหตุที่เรียกว่า "พระแม่ย่า" เพราะพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเรียกมารดาว่า "พระแม่" และชาวเมืองสุโขทัยเคารพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดุจดั่งบิดา จึงเรียกพระมารดาของพระองค์ว่า "พระแม่ย่า" ตามไปด้วย
เดิมศาลพระแม่ย่านั้นประดิษฐาน อยู่บนเขาพระแม่ย่า ในเขตบ้านโว้งบ่อ ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาชาวสุโขทัยได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองใหม่ และสร้างศาลขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนเพิงหินที่พบเทวรูปเดิมนั้น ปัจจุบันก็เรียกกันว่า ถ้ำพระแม่ย่า มีชาวบ้านประชาชนเดินทางไปกราบไว้เป็นระยะ
ศาลพระแม่ย่า จัดว่าเป็นสถานที่ 1 ใน 10 สถานที่ที่ต้องมาเยือนเมืองถึงสุโขทัย
ทุกปีราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่จัดเทศกาล และในช่วงสงกรานต์มีประเพณีแหนพระแม่ย่า เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล เพราะทุกครั้งที่แห่แหนประแม่ย่าก็จะมีฝนตกลงมาอย่างน่าอัศจรรย์