วุ้นชุ่มปากคืออะไร
ผลิตภัณฑ์วุ้นชุ่มปากเป็นเจลใส เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม กลืนได้ง่าย ให้ความชุ่มชื้นได้ทั้งปากและลำคอ มีคุณสมบัติคล้ายคลึงน้ำลายธรรมชาติ ช่วยให้ช่องปากชุ่มชื้น ไม่มีวัตถุกันเสีย และคงสภาพความสมดุลความเป็นกรด - ด่างในช่องปากได้ดี เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายน้อยหรือไม่มีน้ำลาย เช่น ผู้สูงอายุที่ต่อมน้ำลายทำงานไม่ดี ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) และผู้ป่วยมะเร็งอื่นๆ
ติดต่อขอรับ ผลิตภัณฑ์ได้ที่ คลินิกทันตกรรม ตึกทีปังกรณรัศมีโชติ ชั้น B1 โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:30 - 15:30 น. พร้อมบัตรประชาชนของท่าน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร: 02-244-3121, 02-244-3122
Line Official: @500fngsb
ทำไมจึงต้องมีนวัตกรรม "วุ้นชุ่มปาก"
ภาวะปากแห้งนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ เริ่มจากการขาดนํ้า การสูญเสียนํ้าออกจากร่างกายมากเกินไป การหายใจทางปาก ความเครียด และการผลิตนํ้าลายที่น้อยลง ทั้งนี้การผลิตนํ้าลายที่น้อยลงอาจเกิดจากการรับประทานยา เช่นยากดประสาท ยาลดความดันโลหิต และที่พบบ่อยที่สุดคือผู้ป่วยที่ไดรั้บรังสีรักษาบริเวณใบหน้าและลำคอ ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉายรังสีก่อให้เกิดการฝ่อลีบของเนื้อเยื่อต่อมนํ้าลายทำให้ความสามารถในการผลิตน้ำลายของผู้ป่วยดังกล่าวมีน้อยลงมาก ทำให้เกิดอาการปากแห้ง การหล่อลื่นในช่องปากลดน้อยลง ทำให้เกิดแผลในปากได้ง่าย การรับรสเปลี่ยนไป และเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลใหผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี รับประทานอาหารไม่ได้ เกิดภาวะทุพโภชนาการ
มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีงบประมาณ 2553 มีแผนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านทันตกรรมที่มีจุดเน้นที่จะให้บริการทางทันตกรรมสำหรับผู้สูงวัย (Geriatric Dentistry) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และมีปัญหาสุขภาพช่องปากหลายรูปแบบ จึงส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตลดลง และมีความทุกข์ทรมานในการดำรงชีวิต เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.ดุลยพร ตราชูธรรม จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ทันตแพทย์หญิง ดร.อรุณวรรณ หลำอุบล จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลที่ได้รับพระราชทานทุนแผนกทันตแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2544 และ 2545 ตามลำดับ ได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาเกี่ยวกับโรคมะเร็งในช่องปาก และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับมาในประเทศมีความสนใจที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากผลงานวิจัยและพัฒนาเดิม เพื่อช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยที่อยู่ในขอบเขตของทันตแพทย์ มูลนิธิฯ จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ พบว่า มีความเป็นไปได้และเป็นประโยชน์ เห็นควรสนับสนุน คณะกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จึงมีมติอนุมัติให้ดำเนิน “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจล” ขึ้น
แนวคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
น้ำลายมีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นและหล่อลื่นแก่เนื้อเยื่อภายในช่องปาก ทำให้พูด เคี้ยว กลืนได้สะดวก มีเอ็นไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหารประเภทแป้ง และช่วยในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งยังมีความเป็นกลาง และมีแร่ธาตุที่ทำให้สามารถรักษาสมดุลความเป็นกลางของสิ่งแวดล้อมในช่องปากได้ดี ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากประสบปัญหาภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เริ่มจากการขาดน้ำในร่างกาย และการผลิตน้ำลายจากต่อมน้ำลายที่น้อยลง ทั้งนี้อาจเกิดจากความเครียด โรคทางระบบบางโรค เช่น เบาหวาน และการรับประทานยา เช่น ยากดประสาท ยาลดความดันโลหิต ซึ่งการผลิตน้ำลายที่น้อยลงจากสาเหตุเหล่านี้อาจกลับสู่สภาพปกติได้เมื่อผู้ป่วยหยุดยา แต่ปัญหาปากแห้งน้ำลายน้อยที่เป็นอย่างถาวรมักพบในผู้ป่วยที่มีโรคของต่อมน้ำลาย และที่พบบ่อยที่สุดคือ ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณใบหน้าและลำคอ ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉายรังสีคือ ก่อให้เกิดการฝ่อลีบของเนื้อเยื่อต่อมน้ำลาย ความสามารถในการผลิตน้ำลายจะน้อยลงมาก และได้น้ำลายที่มีคุณสมบัติผิดไปจากปกติ ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการปากแห้งขึ้นกับปริมาณรังสีที่ต่อมน้ำลายได้รับในผู้ป่วยแต่ละคน และแม้ว่าการฉายรังสีรักษาจะเสร็จสิ้นไปแล้ว การกลับคืนมาของเนื้อเยื้อต่อมน้ำลายจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงมีปัญหาสุขภาพช่องปาก
จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2552 พบว่ามะเร็งศีรษะและลำคอพบมากเป็นอันดับที่ 4 และ 7 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในเพศชายและเพศหญิงตามลำดับ ทั้งนี้การรักษาหลักของมะเร็งบริเวณดังกล่าวคือ การผ่าตัดและฉายรังสีรักษา แสดงว่า ผู้ที่อาจปากแห้งจากผลของรังสีรักษามีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2553 พบว่าประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 11.36 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้รับการรักษาโรคประจำตัวโดยยาควบคุมความดันโลหิต เบาหวานและโรคอื่นๆ ซึ่งอาจพบปัญหาภาวะปากแห้งได้
การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่มีคุณสมบัติคล้ายน้ำลายธรรมชาติมากที่สุดจึงจะช่วยบรรเทาอาการปากแห้ง และส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้ป่วยได้ โดยมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นในช่องปาก มีค่าความเป็น กรดด่าง (pH) ที่เป็นกลาง และสามารถปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อมในช่องปากให้เป็นกลาง ไม่ก่อให้เกิดการละลายของผิวฟัน และมีความปลอดภัย สามารถกลืนได้เพื่อให้ความชุ่มชื้นในลำคอ โดยถือเป็นอาหารที่ให้ความชุ่มชื้นโดยไม่มุ่งหวังให้เป็นแหล่งพลังงาน
วัตถุประสงค์โครงการ
การพัฒนานวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจล เพื่อวิจัยและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นในช่องปาก ช่วยส่งเสริมสมดุลความเป็นกรดด่างในช่องปาก และผลิตด้วยเทคโนโลยีทางอาหารให้มีอายุการเก็บรักษายาวนานโดยไม่มีส่วนผสมของวัตถุกันเสีย ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นในช่องปากในปัจจุบันที่มีวัตถุกันเสียจึงไม่สามารถกลืนเพื่อให้ความชุ่มชื้นในลำคอได้ นอกจากนี้นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจลยังประกอบด้วยสารละลายบัฟเฟอร์ที่มีในน้ำลายธรรมชาติ ซึ่งนับว่าการวิจัยและพัฒนานี้เป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนผู้ป่วยกว่า 7 ล้านคนในประเทศและผู้ป่วยในลักษณะเดียวกันที่อยู่ต่างประเทศด้วย
การดำเนินงาน
โครงการได้ดำเนินการครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาทุกด้าน และได้รับความอนุเคราะห์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ ให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพญ.ดร.ดุลยพร ตราชูธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพญ.ดร.อรุณวรรณ หลำอุบล เป็นผู้จัดการโครงการโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
1. การวิจัยและพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การวิจัยสูตรต้นแบบและกระบวนการผลิต การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้รับความร่วมมือจาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. การทดสอบความพอใจในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ และผู้สูงอายุ การวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ และผู้สูงอายุ ได้รับความร่วมมือจาก โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
การวิจัยและพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
ผลการวิจัยต้นแบบน้ำลายเทียมที่การพัฒนาสูตรเบื้องต้นได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นที่พึงพอใจ มีความเป็นกลาง และความสามารถในการปรับสภาพกรดด่าง อีกทั้งยังไม่กัดกร่อน และไม่ดึงเอาแร่ธาตุออกจากฟัน ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำลายที่หลั่งออกมาตามธรรมชาติ
การทดสอบความพึงพอใจ และความคงอยู่ในช่องปากของผลิตภัณฑ์ต้นแบบในผู้ป่วย
ทดสอบความพึงพอใจในผู้ป่วยที่มีอาการปากแห้งจำนวน 62 ราย พบว่าสูตรต้นแบบน้ำลายเทียมชนิดเจลได้รับความพึงพอใจทั้งในด้านความชุ่มชื้นและรสชาติ ซึ่งผู้ป่วยพึงพอใจในรสชาติของตัวอย่างกลิ่นมินท์มะนาว และ กลิ่นสตรอเบอร์รี่
นอกจากนี้ ผลทดสอบความคงอยู่ในช่องปากของผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 23 ราย พบว่ามีความคงอยู่ โดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 40 นาที ซึ่งปริมาณน้ำลายเทียมที่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้โดยเฉลี่ย 25-50 มล.ต่อวัน
การผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำลายเทียมชนิดเจลที่มีคุณสมบัติทางชีวเคมีใกล้เคียงกับน้ำลายธรรมชาติ และคุณสมบัติทางกายภาพเป็นไปตามที่กำหนด ผ่านการทดสอบความพอใจ จึงได้ทดลองผลิต โดยใช้กระบวนการผลิตแบบจำลองการฆ่าเชื้อจากระบบ UHT ในอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 144 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
การทดสอบประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำลายเทียมชนิดเจลในผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะปากแห้ง
โครงการทดสอบประสิทธิผลน้ำลายเทียมชนิดเจลในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอและอื่นๆ ที่มีอาการปากแห้ง ณ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จำนวนทั้งสิ้น 25 ราย โดยให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำลายเทียมชนิดเจลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์และ 4 สัปดาห์ และตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดต่างๆ
ผลพบว่าน้ำลายเทียมชนิดเจลสามารถบรรเทาอาการปากแห้งและอาการแสดงของภาวะปากแห้งแก่ผู้ป่วยได้เมื่อใช้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือ 4 สัปดาห์ โดย 70% ของผู้ป่วยพบว่าน้ำลายเทียมชนิดเจลช่วยบรรเทาอาการปากแห้งได้อย่างมาก นอกจากนี้ในแง่คุณภาพน้ำลายของผู้ป่วย พบว่าเมื่อรับประทานน้ำลายเทียมชนิดเจลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน ช่วยให้น้ำลายมีค่าความเป็นกรดด่าง และความสามารถในการปรับกรดด่างดีกว่าตอนก่อนใช้
การทดสอบประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำลายชนิดเจลในผู้สูงอายุที่มีโรคทางระบบและมีภาวะปากแห้ง
ศึกษาประสิทธิผลและความพึงพอใจของต้นแบบน้ำลายเทียมชนิดเจลต่อสภาวะน้ำลายแห้ง ในผู้สูงอายุที่มีโรคทางระบบ ณ โรงพยาบาลลำปางและโรงพยาบาลแจ้ห่ม โดยร่วมกับสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทำการทดสอบในผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 123 ราย ในช่วงอายุ 58-88 ปี และเป็นโรคทางระบบได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ มีอาการปากแห้งจากการรับประทานยารักษาโรคดังกล่าว การทดสอบทำโดยให้ผู้สูงอายุรับประทานน้ำลายเทียมชนิดเจลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์และ 4 สัปดาห์ และตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดต่างๆ ผลพบว่าสามารถลดอาการปากแห้งของผู้สูงอายุลงได้มากกว่า 80% และจากการตรวจสภาพช่องปากโดยทันตแพทย์พบว่าอาการแสดงในช่องปากลดลงเล็กน้อย (10%) เมื่อใช้น้ำลายเทียมชนิดเจลต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากนี้ผลการทดสอบคุณภาพน้ำลายพบว่า การใช้น้ำลายเทียมชนิดเจลช่วยปรับความเป็นกรดด่างในช่องปากให้ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์แรก แต่ยังไม่กลับสู่สภาพปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์ กลับไม่พบว่าดีขึ้นและการใช้น้ำลายเทียมชนิดเจลอย่างต่อเนื่องไม่มีผลต่อความสามารถในการปรับกรดด่างของน้ำลาย
สรุปผลการวิจัย และแนวทางการวิจัยในอนาคต
การวิจัยและพัฒนาทั้งหมดได้ผลสรุป คือ ได้สูตรต้นแบบของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจลที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบปราศจากเชื้อ (Aseptic processing) ซึ่งมีคุณสมบัติทางชีวเคมีใกล้เคียงกับน้ำลายธรรมชาติ และคุณสมบัติทางกายภาพเหมาะสม มีกลิ่นรสเป็นที่พึงพอใจ มีความปลอดภัยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 144 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถบรรเทาอาการปากแห้ง และอาการแสดงของภาวะปากแห้งแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะปากแห้งน้ำลายน้อยได้
แนวทางการวิจัยในอนาคต สามารถพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในการปรับกรดด่างในน้ำลายของผู้สูงอายุ อาจทำการวิจัยและพัฒนาต้นแบบน้ำลายเทียมชนิดเจล โดยปรับปรุงสูตรต้นแบบเพิ่มปริมาณฟอสเฟตบัฟเฟอร์ และเพิ่มเติมไบคาร์บอเนตบัฟเฟอร์ลงในสูตร
แนวทางการปรับปรุงโครงการในอนาคต
1. พัฒนาสูตรต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจลสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยการปรับเปลี่ยนปริมาณ และชนิดของสารละลายบัฟเฟอร์ เนื่องจากเมื่อทดสอบประสิทธิผลของสูตรต้นแบบปัจจุบันในกลุ่มผู้สูงอายุที่รับประทานยารักษาโรคทางระบบบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ความดัน เบาหวาน ซึ่งมีอาการปากแห้ง พบว่าสามารถบรรเทาอาการปากแห้ง ลดอาการแสดงในช่องปากลงได้ และช่วยปรับความเป็นกรดด่างในช่องปากให้ดีขึ้น แต่ยังไม่มีผลต่อความสามารถในการปรับกรดด่างของน้ำลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปรับกรดด่างในน้ำลายของผู้สูอายุกลุ่มนี้
2. ดำเนินการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ทำให้สามารถพัฒนาปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะดวกในการพกพาและรับประทานโดยยังคงคุณสมบัติต่างๆ ไว้ได้
3. พัฒนาสูตรต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจลให้มีกลิ่นที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานผลิตภัณฑ์นี้เป็นประจำ ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เข้าถึงผลิตภัณฑ์ และเลือกใช้ได้ตามความต้องการมากขึ้น
ผลการดำเนินงาน
ปัจจุบัน โครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และได้ผลสัมฤทธิ์เป็นสูตรต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำลายเทียมชนิดเจล ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า “วุ้นชุ่มปาก (Oral Moisturizing Jelly)”