ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (Rabies) นายสัตวแพทย์เจษฎา ทองเหม

โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (Rabies) นายสัตวแพทย์เจษฎา ทองเหม

 โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (Rabies)
นายสัตวแพทย์เจษฎา ทองเหม
กลุ่มไวรัสวิทยา สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ


 
โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปนิยมเรียกว่า เรียก "โรคกลัวน้ำ" (Hydrophobia) ส่วนในภาษาอีสานเรียก "โรคหมาว้อ" นั้น เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบเกิดในสัตว์ เลือดอุ่นทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าและยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดสู่มนุษย์ และสัตว์อื่นๆ คือ สุนัข รองลงมาคือแมว พาหะนำเชื้อที่สำคัญในบ้านเราคือ สุนัขและแมว ส่วนในต่างประเทศมักเกิดจากสัตว์ป่ากินเนื้อต่างๆ เช่น สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า Jaguar, Raccon, Skunk เป็นต้น และสำหรับในแถบประเทศละตินอเมริกานั้น ยังพบพาหะที่สำคัญคือ ค้างคาวดูดเลือด (Vampire bat)
 
 
สาเหตุและการติดต่อ
เกิดจากเรบี่สไวรัส (Rabies virus) ซึ่งเป็น อาร์ เอน เอ ไวรัส (RNA virus) อยู่ในจีนัส Lyssavirus แฟมิลี Rhabdoviridae การติดเชื้อที่สำคัญที่สุดคือการถูกสัตว์เป็นบ้ากัด เชื้อพิษสุนัขบ้าที่อยู่ในน้ำลายจะเข้าสู่บาดแผลและผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ไขสันหลัง และเข้าสู่สมองมีการแบ่งตัวในสมองและปล่อยเชื้อไวรัสไปตามแขนงประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งต่อมน้ำลาย เชื้อไวรัสโรค พิษสุนัขบ้าสามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ของต่อมน้ำลาย ซึ่งจะเป็นช่วงที่สัตว์แสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น นอกจากนั้นเชื้ออาจติดต่อจากการกินได้ถ้ามีบาดแผลภายในช่องปากและหลอดอาหาร ซึ่งจะพบกรณีสัตว์กินเนื้อตัวป่วย หรือที่ตายใหม่ๆ เข้าไป
 
 
อาการ
สัตว์ที่ไดรับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 14-90 วัน หรืออาจนานกว่านี้โดยเฉลี่ยประมาณ 21 วัน อาการของสัตว์แต่ละตัวจะแตกต่างกันมาก แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบดุร้าย (furious form) และแบบซึม (dumb or paralytic form) แบบดุร้าย สัตว์จะแสดงอาการเบื่ออาหาร อุปนิสัยเปลี่ยนไป บางรายชอบกินดินหินเป็นต้น ในโครีดนมน้ำนมจะลดลง แสดงอาการตื่นเต้น ร้อง หาว ดุร้าย วิ่งชนคน หรือสิ่งกีดขวาง แสดงอาการกลืนลำบาก (ทำให้เรียกว่าโรคกลัวน้ำ) มีน้ำลายไหลมาก แสดงอาการไวต่อแสงและเสียงอย่างมาก เมื่อโรคดำเนินต่อไปถึงขั้นสมองอักเสบ สัตว์จะแสดงอาการอัมพาต ล้มลงนอน ชัก และตายในที่สุด ซึ่งอยู่ในราว 2-7 วันนับแต่เริ่มแสดงอาการ แบบซึม สัตว์จะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นสั้นมากจนสังเกตไม่เห็น อาการจะเข้าระยะอัมพาตอย่างรวดเร็ว ซึม มีน้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อขาไม่สัมพันธ์กัน ล้มลงนอน ชักหายใจไม่ออกและตายในที่สุด อาการที่อาจพบได้อีกคือ ขนลุก กล้ามเนื้อสั่น กระตุก เช่น ที่ใบหน้า ใบหูบิด เคี้ยวฟัน หางบิดไปด้านข้าง มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อลำคอทำให้กลืนลำบาก มีการไอคล้ายมี สิ่งแปลกปลอมติดคอ ร้องเสียงแหบต่ำ บางรายมีอาการคล้ายกำลังเป็นสัด การถ่ายเหลว จะพบในช่วงแรก และตามด้วยการถ่ายลำบากและท้องอืด


 
การตรวจวินิจฉัย
โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ดูจากอาการในระยะแรกๆ นั้นทำได้ไม่ง่ายนักเนื่องจากอาการต่างๆ ปรากฏไม่ชัดเจน และบางครั้งโรคบางโรคมีอาการคล้ายคลึงกับที่พบในโรคพิษสุนัขบ้า เช่น อซีโตนีเมีย (Acetonemia) ไฮโปแมกซีเมีย (Hypomagnesemia) โรคติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง อาการระหว่างเป็นสัดทั้งในเพศผู้และเพศเมีย สิ่งแปลกปลอมภายในช่องปากและลำคอ การขาดวิตามินเอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการเป็นโรคนี้โดยตรวจหาเชื้อจากสมองสัตว์ตามวิธีการต่างๆ


 
การรักษา
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายฉีดให้แก่สัตว์ใหญ่ภายหลังถูกสุนัขบ้ากัดนั้นยังได้ผลไม่แน่นอน แม้จะมีข้อบ่งใช้ในสัตว์ใหญ่ของวัคซีนหลายชนิดก็ตาม ทั้งนี้อาจเพราะสัตว์ได้รับวัคซีนช้าเกินไป ขนาดและโปรแกรมวัคซีนไม่เหมาะสม บาดแผลลึกและอยู่บริเวณในหน้า เป็นลูกสัตว์หรือสุขภาพไม่แข็งแรง หรือขึ้นกับชนิดของสัตว์ที่รับเชื้อ เช่น มีความไวต่อโรคพิษสุนัขบ้า มากกว่าสุนัขเป็นต้น สำหรับการใช้แอนติเรบี่ส ซีรั่ม (antirabies serum) ฉีดภายหลังถูกกัดนั้น แม้ว่าจะได้ผลดีกว่าแต่ก็มีราคาแพงและหาได้ยากจึงไม่นิยมกระทำกัน ยกเว้นในรายที่สัตว์มีราคาแพงเท่านั้น อย่างไรก็ตามในบ้านเราได้มีความพยายามนำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายที่ใช้ในสัตว์เลี้ยงมาฉีดให้แก่โคภายหลังสัมผัสโรคด้วยขนาดและวิธีการต่างๆ กัน เช่น
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ครั้งละ 1 มิลลิลิตร จำนวน 4 ครั้ง ทุกๆ 2 วัน เช่นเดียวกับในสุนัข
- ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง จำนวน 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 วัน ในขนาด 2, 1, 1, 1 มิลลิลิตร ตามลำดับ
- หรือวิธีการอื่นๆ ตามแต่ประสบการณ์และเทคนิคของแต่ละคนซึ่งผลการรักษาโดยวิธีเหล่านี้ยังไม่แน่นอนเพราะปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับคำแนะนำ เมื่อโคถูกสุนัขบ้ากัดนั้นได้กล่าวไว้ใน คอมเพนเดียม ออฟ เอนิมอลเรบี่ (Compendium of Animal Rabies)


 
การควบคุมและป้องกัน
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือระวังอย่าให้ถูกสุนัขกัดหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อจะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นบ้าเป็นส่วนใหญ่ การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เช่นที่ทำในสุนัขและแมวนั้นคงกระทำได้ยาก ยกเว้นกรณีอยู่ในบริเวณที่มีโรคระบาดชุกชุม หรือมีโคป่วยด้วยโรคนี้อยู่ในฝูง
- ถ้าสัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้ก่อนแล้วและถูกสุนัขบ้ากัดในภายหลังให้รีบฉีดวัคซีนซ้ำในทันทีและสังเกตอาการนาน 90 วัน
- ถ้าสัตว์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนและถูกสุนัขบ้ากัด ควรทำลายสัตว์นั้นทันทีแต่ถ้าไม่ทำลายต้องสังเกตอาการนาน 180 วัน
- สำหรับซากสัตว์ที่ทำลายนั้นจะนำมาบริโภคได้หรือไม่ให้พิจารณาดังนี้
ถ้าสัตว์นั้นถูกสุนัขบ้ากัดไม่เกิน 7 วัน สามารถนำเนื้อส่วนอื่นๆ มาบริโภคได้ยกเว้นบริเวณที่ถูกกัดให้ตัดทำลาย อย่างไรก็ตามเนื้อสัตว์หรือน้ำนมสัตว์ที่จะนำมาบริโภคจะต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเสียก่อน

 

 
โรคพิษสุนัขบ้าในคน
 
 
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด เกิดจากเชื้อไวรัส อยู่ในสกุล Rhabdoviridae , Genus Lyssavirus ไม่ทนทานต่อบรรยากาศแวดล้อม เชื้อจะถูกทำลายง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
 
การกระจายของโรค
พบได้ทั่วโลกพบมากในทวีป เอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั่วโลกในปี 2541 ประมาณ 35,000 - 50,000 ราย
 
สาเหตุการติดเชื้อ
ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากสุนัขโดยการถูกสุนัขกัด, ข่วน หรือเลียบริเวณเยื่อเมือก( เช่นริมฝีปาก, เยื่อตา ) โดยเชื้อไวรัสในน้ำลายสัตว์ผ่านเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกของผู้สัมผัส
 
ระยะฟักตัวของเชื้อในคน
จากการสำรวจในประเทศไทย ในปี 2522 –2528 พบว่า 87% มีระยะฟักตัวของโรค 3 เดือน   71% มีระยะฟักตัวของโรค 1 เดือน แต่ทุกรายมีระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 1 ปี แต่ยังขึ้นกับปัจจัยดังนี้
1. อวัยวะที่ถูกกัด
2. ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด
3. ชนิดของสัตว์ที่กัด
4. ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล
5. วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาหลังสัตว์กัด


 
การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ แบ่งเป็น 3 ระยะ
1. ระยะที่เชื้อเดินทางจากตำแหน่งที่เข้าไปยังระบบประสาท
2. ระยะเชื้อเพิ่มจำนวนในระบบประสาทส่วนกลาง
3. ระยะที่เชื้อเดินทางจากระบบประสาทส่วนกลางออกสู่อวัยวะอื่น


 
จากการสำรวจผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยปี พ.ศ. 2543 พบว่า
- การเกิดโรคในเพศชาย มากกว่าเพศหญิง
- ส่วนใหญ่ถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด
- ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหลังรับเชื้อ
- กลุ่มอายุที่พบมากจะอยู่ระหว่าง 5 - 9 ปี


 
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กลุ่มคนที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าดังนี้

1. กลุ่มที่เสี่ยงมากต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการวิจัยเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มดังกล่าวนี้จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

2. กลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าปานกลาง เช่น เจ้าหน้าที่ชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ นักสัตววิทยา ผู้ปฏิบัติงานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในภาคสนาม ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า ผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์(โดยเฉพาะสุนัข แมว และสัตว์ป่า) และรวมถึงบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุข
 
วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย
- วัคซีนที่เตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยง มี 3 ชนิด
1. Human Diploid Cell Rabies Vaccine หรือ HDCV
2. Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine หรือ PCEC
3. Purified Vero Cell Rabies Vaccine หรือPVRV


 
- วัคซีนที่เตรียมจากไข่เป็ดฟัก
1. Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine หรือ PDEV


 
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า (Pre-Exposure Immunization) องค์การอนามัยโลกกำหนดโปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าโดยฉีด 3 ครั้ง ในวันที่ 0 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นเมื่อสัมผัสเชื้ออีก 1 หรือ 2 เข็ม แต่ถ้าม่มีประวัติสัมผัสแต่ต้องทำงานสัมผัสกับเชื้อตลอดเวลาอาจฉีดกระตุ้นทุก 3 – 5 ปี
 
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันหลังจากสัมผัสกับโรค (Post-Exposure Immunization)


 
องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวทางการพิจารณารักษาผู้ที่สัมผัสกับโรคพิษสุนัขบ้าไว้ดังนี้
 
กลุ่ม/ชนิดของการสัมผัส/การรักษา
 
กลุ่ม 1
ชนิดของการสัมผัส
1.1 ถูกต้องตัวสัตว์ หรือป้อนน้ำป้อนอาหารผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก
1.2 ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือดสัตว์ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก
การรักษา
ล้างบริเวณสัมผัส ไม่ต้องฉีดวัคซีน


กลุ่ม 2
ชนิดของการสัมผัส
2.1 ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก
2.2 ถูกข่วนที่ผิวหนังไม่มีเลือดออกหรือเลือดออกซิบๆ
2.3 ถูกเลีย น้ำลายถูกผิวหนังที่มีแผล รอยถลก รอยขีดข่วน
การรักษา
ล้าง และรักษาบาดแผล ฉีดวัคซีน (1)


กลุ่ม 3
ชนิดของการสัมผัส
3.1 ถูกกัด ถูกข่วนเป็นแผลเดียวหรือหลายแผลและมีเลือดออก
3.2 ถูกเลีย หรือน้ำลายถูกเยื่อเมือก ตา ปาก
3.3 มีแผลที่ผิวหนังและสัมผัสเนื้อสมองสัตว์และ/หรือชำแหละซากสัตว์
การรักษา
ล้าง และรักษาบาดแผล
ฉีดวัคซีน (1)
อิมมูโนโกลบุลิน (2)

____________________
(1) หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์(เฉพาะสุนัขและแมว)ยังเป็นปกติตลอดเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน
(2) กรณีถูกกัดเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือและนิ้วมือ หรือแผลลึก แผลฉีกขาดมากหรือถูกกัดหลายแผลถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงและระยะฟักตัวมักสั้น จึงจำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลิน โดยเร็วที่สุด
 
โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันหลังจากสัมผัสกับโรคในประเทศไทยที่ใช้กันแพร่หลายมีอยู่ 2 แบบ
1. โปรแกรมการฉีดวัคซีนแบบปกติ โดยฉีดวัคซีน 1 โด๊ส ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 30
2. โปรแกรมการฉีดแบบประหยัด ใช้ได้กับวัคซีนPVRV โดยฉีด 2 จุดในวันที่ 0, 3, 7 จากนั้นฉีด 1 จุด ในวันที่ 30 และ 90
 
____________________
ที่มา : กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
สรุปจากบทความ แนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน โดย ชาญณรงค์ มิตรมูลพิทักษ์ และวีระ เทพสุเมธานนท์
วารสารสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน กรกฎาคม – กันยายน 2544


ที่มาข้อมูล สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด