ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม กรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครอง โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ อาการ

จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม กรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครอง โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ อาการ Thumb HealthServ.net
จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม กรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครอง โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ อาการ ThumbMobile HealthServ.net

12 พฤศจิกายน 2567 สภาเภสัชกรรม เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก (ฉบับแรก) กรณีการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวเนื่องกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของแพทยสภา โดยแพทยสภากังวลประเด็นจ่ายยาโดยไม่ตรวจวินิจฉัย

        จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม


        กรณีการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวเนื่องกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

        สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องของแพทยสภาเกี่ยวกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรในร้านยาที่อยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางสภาเภสัชกรรมขอขอบคุณแพทยสภาในความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยสภาเภสัชกรรมขอเน้นย้ำว่า ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่เภสัชกรทุกคนให้ความสำคัญสูงสุดเสมอ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เภสัชกรทุกท่านยินดีที่จะส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย

        สภาเภสัชกรรมขอยืนยันว่า มาตรฐานการบริการโดยร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทุกร้าน ได้ผ่านการประเมินร้านยาคุณภาพ เภสัชกรทุกท่านมีความรู้และความสามารถในการจ่ายยากลุ่มยาอันตราย และยาที่จ่ายเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ตามพระราชบัญญัติยา การจ่ายยาตามอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมในการให้บริการด้านยา โดยเภสัชกรต้องมีการซักประวัติของผู้มารับบริการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจริง รวมถึงสอบถามถึงโรคประจำตัว ยาที่ใช้ ประวัติการแพ้ยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านยา หรืออันตรกิริยาของยาที่จะใช้ร่วมกันเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน

        นอกจากนี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยรับบริการที่ร้านยาแล้วจำนวน 1.74 ล้านคน รวมเป็นการรับบริการทั้งสิ้น 4.8 ล้านครั้ง ซึ่งการรับบริการนี้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ทันท่วงที และช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ลดปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในชุมชน ในโครงการนี้เภสัชกรชุมชนได้ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพถึง 1.05 ล้านครั้ง ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่แท้จริงของประเทศ ผลลัพธ์จากการดูแลพบว่าผู้ป่วยมีอาการทุเลาและหายจากอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงร้อยละ 90 สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น เภสัชกรจะให้คำแนะนำและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ในอัตราร้อยละ 1.57 นอกจากนี้ ทางสภาเภสัชกรรมยังได้ทำการวิจัยภาคประชาชน และพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดต่อการรับบริการที่ร้านยา

        ท้ายนี้ สภาเภสัชกรรมขอขอบคุณประชาชน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงขออนุญาตนำเรียนข้อมูลให้สาธารณะได้รับทราบด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง

        สภาเภสัชกรรม
        12 พฤศจิกายน 2567

จดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 2)

         จดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 2)
 
         กรณีการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวเนื่องกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรร้านยา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

         ตามปรากฏเป็นข่าว ทางสื่อมวลชน ต่อกรณี แพทยสภา ฟ้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม เกี่ยวกับโครงการ ดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ โดยร้านยาคุณภาพ และทางสภาเภสัชกรรมได้ออกจดหมายเปิดผนึก ฉบับแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 แล้วนั้น ปรากฏว่าได้มีการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูล จากส่วนต่างๆ ทางสื่อ สังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายนั้น สภาเภสัชกรรมในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พร้อมร่วมหาทางออกในปัญหาความไม่ เข้าใจดังกล่าว ที่ปรากฎในสื่อ และพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาและการดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรมขอยืนยัน ข้อเท็จจริงที่สำคัญ เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง ไม่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังต่อไปนี้


         1. การดำเนินการในโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ฯ โดยเภสัชกรในร้านยาคุณภาพ เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

         แพทยสภา สปสช. และสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นตัวแทนในคณะกรรมการดำเนินการของ สปสช ได้มีการพูดคุย หารือประเด็นงานบริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ในประเด็นที่แพทย์บางท่านไม่เข้าใจในกฎหมายในส่วนของพระราชบัญญัติยา และบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรร้านยา แพทย์หลายท่านมีความเข้าใจ แต่ก็มีบางท่านที่ไม่ได้มาพูดคุยหารือด้วย และไม่เข้าใจ ว่า เภสัชกรจำเป็นต้องชักประวัติเพื่อทราบข้อมูล เพื่อคัดกรองอาการของผู้ป่วย ตามบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรตามพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม มิได้เป็นการก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยก่อนที่จะมีการฟ้องศาลปกครอง แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และ สปสปสช. ได้มีการหารือในประเด็นที่ทางแพทยสภามีปัญหาว่า โครงการนี้เป็นการก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งสภาเกสัชกรรมก็ได้ ชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวร้านยามีการดำเนินการมามากกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติยา ไม่ได้มีการก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรม การชักประวัติของเภสัชกรเพื่อการเลือกสรรยาที่ถูกต้องกับอาการเจ็บป่วย และเป็นการดำเนินการถูกต้องตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ซึ่งท้ายสุด นายกแพทยสภายังสรุปว่าก็ไม่น่าจะเป็นการก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรม และก็เป็นการดำเนินการเฉพาะร้านยาคุณภาพที่สภาเภสัชกรรมรับรอง ไม่ใช่ร้านยาทุกร้าน แต่มีกรรมการแพทยสภาท่านหนึ่งเสนอว่า อย่างน้อยก็ อยากให้ขอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้เกิดความชัดเจน ซึ่ง แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และ สปสช. ก็ได้ไปชี้แจง  ข้อมูลกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ท้ายสุดคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ก็ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่า รับข้อหารือไว้พิจารณา แต่ได้ให้ความเห็นมาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐานวิชาชีพของตนภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละวิชาชีพ และการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะต้องร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับขอบเขตการดำเนินการของแต่ละวิชาชีพ และเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ถึงประโยชน์สูงสุดและความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังได้มีการไปชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ต่อกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งกรรมาธิการสาธารณสุขก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร นอกจากนั้นกรรมาธิการยังมีความเห็นว่ายินดี ที่ สปสช.ได้จัดให้มีโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ที่ร้านยา เพราะได้สนใจศึกษาเรื่องการบริการปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าร้านยามีบทบาทในการให้บริการปฐมภูมิมาตลอด ตอนนี้ได้มีส่วนร่วมในการให้บริการในสิทธิบัตรทอง ก็เป็นสิ่งที่ดี และหลังจากนั้น สภาเภสัชกรรม จึงทราบว่า แพทยสภาได้มีการฟ้อง สปสช.และสภาเภสัชกรรมไปยังศาลปกครอง  
 
         2. เภสัชกรรักษามาตรฐานความปลอดภัยในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและการใช้ยาของประชาชน

           บุคลากรด้านสุขภาพทุกวิชาชีพล้วนให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ในการดูแล อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยนั้น ประชาชนอาจเลือกดูแลตนเอง อาจพบเภสัชกรเพื่อขอคำปรึกษาตามโครงการนี้ ซึ่งเป็นบริการของรัฐที่ให้กับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจเลือกพบแพทย์ก็ได้ ดังนั้นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยของประชาชนโดยเกสัชกรที่เป็นผู้มีความรู้เรื่องยาโดยตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีประโยชน์และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และวิชาชีพเภสัชกรรมก็มีกระบวนการและมาตรฐานในการประเมินความเหมาะสมในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเพื่อให้เกิดการใช้ยาที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล และไม่เกิดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา การดำเนินการในโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยนี้จึงมิได้เป็นการลดมาตรฐานความ ปลอดภัยแต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกที่ยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยอีกทางหนึ่ง


        3. เภสัชกรเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านยาเป็นอย่างดี

        วิชาชีพเภสัชกรรมเป็นหลักสูตรการศึกษา 6 ปี มีความรู้เรื่องยาในทุกมิติ สามารถผลิตยา ควบคุมและประกับคุณภาพ ยา เลือกสรรยา จ่ายยาและให้การบริบาลทางเภสัชกรรม ให้คำแนะนำการใช้ยาที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาและการคุ้มครองผู้บริโภค และมีการควบคุมคุมกำกับดูแลด้านจรรยาบรรณอย่างเข้มงวด ในการประกอบวิชาชีพ โดยสภาเภสัชกรรม อีกทั้งในโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยๆโดยร้านยาคุณภาพ ก็มีการควบคุม กำกับ ติดตามโดยสภาเภสัชกรรมและ สปสช. เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของการดูแลผู้ป่วย และความถูกต้องของกรอบการดำเนินงานของ "ร้านยาคุณภาพ" และประชาชนได้รับยาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เภสัชกรในโครงการร้านยาคุณภาพ ยังมีการติดตามผลการใช้ยาเมื่อครบ 72 ชั่วโมง หากมีปัญหาใดๆ ก็สามารถส่งต่อ ผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อรักษาต่อได้ เภสัชกรในโครงการร้านยาคุณภาพยังมีมาตรฐานในการจ่ายยา อาทิ ยาที่จำยเป็นแผงระบุชื่อยา ความแรง วันหมดอายุ มีฉลากยาครบถ้วน ซึ่งถือว่ามาตรฐานดีที่สุด ทำให้ประชาชน ทราบข้อมูลของยาที่ได้รับอย่างชัดเจน สามารถตรรจสอบ และตรวจสอบยัอนกลับได้
          4. โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเกสัชกรเป็นรูปแบบบริการสาธารณสุขที่ใช้กันอย่างได้ผลและปลอดภัยในระดับนานาชาติ

           รูปแบบการให้บริการนี้สอดคล้องกับทิศทางการบริการสาธาธารณสุขในระดับนานาชาติ เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร ภาครัฐมีดำเนินการโครงการ "Pharmacy first เพื่อให้ประชาชนพบเภสัชกรเพื่อรับยากรณีการเจ็บป่วยเล็กน้อย คล้ายคลึงกับโครงการของประเทศไทย และยังสามารถจ่ายยาปฏิชีวนะ ซึ่งถือเป็นยาควบคุมพิเศษของประเทศสหราชอาณาจักรได้อีกด้วย ซึ่งสามารถดูรายละเอียดและกรอบของโครงการได้เพื่อให้ได้รับข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้อง  www.fip.org/file/5624 ซึ่งของประเทศไทย เภสัชกรร้านยาคุณภาพ จ่ายเฉพาะยาอันตรายที่เภสัชกรสามารถจ่ายยาเองได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ นอกจากนี้ แนวโน้มของประเทศต่างๆ ก็เป็นไปในทิศทาง เดียวกัน อาทิเช่น ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวชีแลนด์ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกหลายประเทศ อีกทั้งยังมีการให้บริการที่กว้างขวางขึ้นในร้านยารวมถึงการฉีดวัคชีน และที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 เภสัชกรร้านยาคุณภาพของประเทศไทย ก็ได้มีบทบาทบาทช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงการคัดกรองตลอดจนการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม และช่วยลดภาระของโรงพยาบาลได้อย่างมาก 

          5. การประเมินผลการให้บริการในโครงการนี้พบว่าเป็นที่น่าพอใจและให้ผลดีกับระบบสุขภาพของไทย

          ในการให้บริการที่ผ่านมาตามโครงการนี้ ตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2566 ถึง ปัจจุบัน ได้มีการการดำเนินการอย่างรอบคอบ และค่อยๆ ขยายพื้นที่ในการให้บริการ มีผู้ที่ได้รับบริการแล้วทั้งสิ้นจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 จำนวน 1,771,758 คน และ 4,912,114 ครั้ง  ไม่มีประชาชนคนใดเสียชีวิตจากการให้บริการจากโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยร้านยาคุณภาพแต่อย่างใด และสภาเภสัชกรรมได้ตรวจสอบการให้บริการแล้วว่าประชาชน ปลอดภัย ได้รับประสิทธิภาพการดูแลอาการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในทุกกรณี   นอกจากนี้ สภาเภสัชกรรม ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เข้ารับบริการในโครงการนี้พบว่ามีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด จึงได้มีการขยายกรอบโครงการจากที่ครอบคลุม 16 กลุ่มอาการ เป็น 32 กลุ่มอาการ เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น ซึ่งขัอมูลนี้ สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อเกสัชกร ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และสภาเภสัชกรรม ที่พบว่าประชาชนให้ความเชื่อถือและมั่นใจในการปรึกษาปัญหายากับเภสัชกรอย่างมาก



           ท้ายที่สุดนี้ สภาเภสัชกรรม มีความเห็นโดยสุจริตว่า ในการดำเนินการใดๆ สภาเภสัชกรรมจะคำนึงถึงถึงถึง พระราชดำรัสของพระราชบิดาที่ว่า "ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" เป็นสำคัญ และ ทางสภาเภสัชกรรม ขอความร่วมมือสมาชิกเกสัชกรร่วมกันสร้างบรรยากาศอันดี มีการแสดง ความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์อย่างสุภาพ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างวิชาชีพ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ ผู้ป่วยและประชาชน
 
สภาเภสัชกรรม
17 พฤศจิกายน 2567
 จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม กรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครอง โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ อาการ
 จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม กรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครอง โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ อาการ
Pharmacist-led common ailments schemes - A global intelligence report 2023
  www.fip.org

จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม (ฉบับที่ 3)

          จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม (ฉบับที่ 3) เรื่อง ชี้แจงกรณีแถลงการณ์แพทยสภา ฉบับวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๗

          สืบเนื่องจากแถลงการณ์แพทยสภา เรื่อง ความเข้าใจในกรณีการฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวเนื่องกับ โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้สมาชิกเภสัชกรกังวลใจเป็นอย่างยิ่งในข้อมูลและทัศนคติดังกล่าว และอาจส่งผลต่อการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพในการร่วมดูแลประชาชนด้านยาและสุขภาพ


          สภาเภสัชกรรม ขอเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

          ๑. กระบวนการพิจารณาโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ กลุ่มอาการโดยร้านยาคุณภาพ ได้ผ่านกระบวนพิจารณาและกลั่นกรองหลายขั้นตอน โดยคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกองทุน คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และในที่สุดเสนอ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนแพทย์ เภสัชกร และวิชาชีพ อื่นๆ ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ๆ จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในโครงการดูแล อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ๑๖ กลุ่มอาการโดยเกสัชกรร้านยา ดังกล่าวนี้ โดยมีรายละเอียดแนวปฏิบัติที่รอบคอบ เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยให้บริการตั้งแต่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ จนถึง ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ มีผู้รับบริการทั้งสิ้น ๑,๗๙๑,๙๓๐ คน จำนวนครั้ง ๔,๙๘๕,๑๔๕ ครั้ง ร้อยละ ๙๐ อาการหายหรือทุเลา ไม่พบกรณีที่ผู้เข้ารับบริการที่เกิดปัญหารุนแรง หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ที่ได้รับการคัดกรองเบื้องต้น จากเภสัชกร มีบางส่วนได้รับการส่งต่อแพทย์ทันที ประชาชนได้รับการดูแลขภาพเบื้องต้น แนะนำการใช้ยาและ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และจากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่เข้ารับบริการในโครงการนี้มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด
        ๒. กระบวนการชักประวัติเพื่อจ่ายยาในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นมาตรฐานที่เภสัชกรให้การบริบาลต่อผู้ป่วยมาเป็นเวลานานมากกว่า ๗๐ ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙) และเป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม ตามพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเดิมประชาชนเป็นผู้จ่ายค่ายาเอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นประโยชน์ของการบริบาลทางเภสัชกรรมดังกล่าว จึงได้บรรจุเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนโดยใช้งบประมาณของ สปสช. ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้มาจากภาษีของประชาชน ในขณะที่ กรรมการแพทยสภาบางท่านได้มีการเผยแพร่ ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า "การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชกรรมโดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัช จ่ายยา ตามบริบทเดิม แม้แต่น้อย"  ซึ่งอาจตีความได้ว่า  หากเป็นกรณีผู้ป่วยจ่ายเงินเอง แพทยสภาไม่ขัดข้อง  แต่หาก สปสช. จ่ายค่าบริการแทนประชาชน ดังเช่นในโครงการฯนี้ แพทยสภากลับฟ้องร้องว่าไม่ปลอดภัย   จึงทำให้มีข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องดังกล่าว เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน มากน้อยเพียงไร   


        ๓. สภาเภสัชกรรม ขอขอบพระคุณเพื่อนแพทย์ ที่ได้ให้กำลังใจเภสัชกรในฐานะ "ทีมสุขภาพ" ด้วยความเป็นมิตรและให้เกียรติซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่มีความเหลือมล้ำ ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ โดยเฉพาะในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งเป็นความทุกข์ และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นการยากมากที่จะเข้าถึงแพทย์ และมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางเข้ารับบริการนี้ที่โรงพยาบาล ในขณะที่ต้องหาเข้ากินค่ำ

         อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจร่างกายหรือส่งตรวจทางห้อง แต่สามารถที่จะซักถามเพื่อประเมินอันตรายโดยเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ที่ร่ำเรียนด้านยาในด้านต่าง ๆ จากหลักสูตรการศึกษา ๖ ปี ในคณะเภสัชศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาเภสัชกรรม และยังผ่านการอบรมในโครงการร้านยาคุณภาพอีกด้วย  หากมีความเสี่ยงอันตรายที่จะเป็นโรคร้ายแรง เภสัชกรจะรีบส่งต่อไปให้ แพทย์ดูแลโดยด่วนตามมาตรฐานวิธีปฏิบัติงานที่กำหนด โดยหากมั่นใจว่าเป็นเพียงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เภสัชกรจะเลือกสรรยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการและดูแลอาการเจ็บป่วย อย่างเหมาะสม รวมทั้งทำการติดตามผลการใช้ยาเพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนที่ได้รับบริการตามโครงการฯนี้ สามารถกลับไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงครอบครัวได้ซึ่งเท่ากับเป็นการกลั่นกรองผู้ป่วย เพื่อลดภาระงานบริการ เพื่อให้แพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยในโรคที่มีความซับช้อนมากขึ้นด้วย  
          ๔. สภาเภสัชกรรมเห็นด้วยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และขอให้แพทยสภาพิจารณาถึงประเด็นความปลอดภัยในการใช้ยาให้ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลินิก ซึ่งส่วนใหญ่ยังพบว่า ฉลากยาไม่ระบุชื่อยา และรายละเอียดเกี่ยวกับยาที่จ่าย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและตรวจสอบย้อนกลับได้หากมีปัญหาการใช้ยา  และไม่เป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งผู้ส่งมอบยาอาจเป็นผู้ที่มิได้มีความรู้เรื่องยา จึงขอให้ทางแพทยสภา พิจารณาการให้บริการในลักษณะดังกล่าวของคลินิกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของ ประชาชนด้านยาและสุขภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด


            สภาเภสัชกรรม ขอขอบคุณ เภสัชกร ที่ร่วมการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้ง หลายท่านยังเสนอแนวทางในการเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาของประชาชน และขอขอบคุณเพื่อนแพทย์หลายท่าน ที่แสดงความปรารถนาดีต่อประชาชนอย่างจริงใจ ด้วยการอาสาที่จะช่วย เพิ่มพูนทักษะ ให้เภสัชกร ให้มีสมรรถนะ ในการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็วขึ้น ตลอดจนการร่วมพัฒนาแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันที่ชัดเจนระหว่างแพทย์และเภสัชกร


            สภาเภสัชกรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แพทยสภา จะเปิดใจ "หยุดและทบทวน" ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิด รับฟังความเห็นและความรู้สึกของประชาชน ร่วมกันสร้างความสามัคคีและการทำงานร่วมกันของภาคีสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างยั่งยืน


            สุดท้ายนี้ สภาเภสัชกรรม พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับแพทยสภาในการหาทางออกที่เหมาะสม บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตามจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกันของวิชาชีพ โดยอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คือ ประโยชน์และความปลอดลอดภัยของประชาชน อย่างแท้จริง

สภาเภสัชกรรม
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด