วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอานนท์ หวังสร้างบุญ) นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม โดยรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (นายธนิต ตันบัวคลี่) และสำนักงานสวัสดิการสังคม โดยหัวหน้ากลุ่มงานจัดสวัสดิการสตรี ครอบครัว และผู้ด้อยโอกาส พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนมูลนิธิกระจกเงา โดยมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และนายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ให้การต้อนรับ
สาระสำคัญในการร่วมหารือกับมูลนิธิกระจกเงา สรุปได้ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาด้านคนไร้บ้าน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งมูลนิธิกระจกเงา
โดยมีแนวทางดำเนินการร่วมกัน เช่น
1.1 แนวทางที่จะเปิดบ้านอิ่มใจ เพื่อดูแลสวัสดิภาพคนไร้บ้าน โดยจะปรับรูปแบบการให้บริการเป็น “พื้นที่สวัสดิการ” จากเดิมการใช้บริการบ้านอิ่มใจ ต้องลงทะเบียนเข้าพักค้างก่อนจึงจะได้รับสวัสดิการ อาทิ อาบน้ำ ซักผ้า แต่ปรับรูปแบบใหม่เป็นการให้บริการด้านสวัสดิการไม่ต้องจำเป็นต้องลงทะเบียนพักค้างคืนโดยคนไร้บ้านสามารถอาบน้ำ ซักผ้าได้ เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้ ซึ่งหากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้
1.2 การเพิ่มจุดรวมการหางาน และการกลับเข้าสู่สังคมปกติ นอกจากนี้ กทม. มีอัตราการจ้างงานหลายภาคส่วน อาจจะพิจารณาจ้างคนไร้บ้านเข้ามาเสริมในเรื่องการแยกขยะ เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนไร้บ้าน ทั้งในเรื่องที่พัก และการจ้างงาน และจากการดำเนินการของมูลนิธิฯ พบว่า หากคนไร้บ้านทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ จะมีรายได้สามารถเช่าที่พักได้ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง โดยทางมูลนิธิฯ จะสนับสนุนเสริมด้านค่าที่พัก 1 เดือน และบริการอุปกรณ์เครื่องนอน เครื่องอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์ที่จำเป็น เข่น กาต้มน้ำ พัดลม เป็นต้น และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาด้านสวัสดิการ เพื่อจะทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับสู่ภาวะสังคมปกติได้ โดยการสร้างงานทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนภาระให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมด้วยการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรี เป็นงานที่มีความต้องการของตลาด มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักพัฒนาสังคมสนับสนุนเสริมในการฝึกสอนอาชีพเพิ่มเติม เช่น ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า นวดแผนไทย ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการของคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุและความต้องการของตลาด
1.3 การสนับสนุนให้คนไร้บ้านเข้าถึงที่พักอาศัยราคาถูก เช่น ห้องเช่ารายเดือน ประมาณ 1,000 - 1,500 บาท / เดือน หรือห้องเช่ารายวัน ประมาณ 30 - 50 บาท / วัน และการสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ของสำนักงานสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาวะ เป็นต้น
2. การแก้ไขปัญหาคนจนเมือง
มีแนวทางการจ้างงานผู้สูงอายุ กลุ่มคนจนเมือง ซึ่งการจ้างงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องเงิน แต่เป็นการสร้างความภูมิใจในการใช้ชีวิต รวมทั้งการมีสังคมร่วมกับผู้อื่น ในวันนี้ก็มีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกับผู้สูงอายุซึ่งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มูลนิธิมีการบริหารจัดการหลายๆ อย่างที่ดีมาก เข่น การแยกขยะ การนำขยะไปขาย สำหรับ กทม. ขยะคือรายจ่าย แต่สำหรับมูลนิธิฯ ขยะคือรายได้ กทม. อาจต้องเรียนรู้จากมูลนิธิฯ ที่ช่วยบริหารจัดการ เสริมการสร้างงาน และจัดการขยะให้กับเมือง ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะลดลง