สรุปให้เข้าใจง่าย
ผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องรับบริการทางการแพทย์-ประสบอันตราย-เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในระหว่างเทศกาล ซึ่งไม่สามารถเข้ารับบริการตามสิทธิ ณ รพ.ที่มีสิทธิได้
ประกันสังคม ได้ขอให้ สถานพยาบาล
1. ประสานระหว่างกัน ในเรื่องการเบิกค่ารักษา ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกันตน "มิต้องทดรองจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์"
2. ในการตรวจสอบระหว่างสถานพยาบาล ให้ทำได้ทันที ไม่ต้อง "รอครบระยะเวลา 72 ชั่วโมง"
3. กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิของผู้ประกันตน หรือเกิดปัญหาในการให้บริการ ให้สถานพยาบาล ติดต่อ "สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง"
4. กรณีพบว่า ผู้ประกันตน ไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ให้ประสานงานกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทรศัพท์ 1330
วัตถุประสงค์ ก็เพื่อให้ทุกคนได้รับการรักษาได้ทันท่วงที นั่นเอง
ส่วนของผู้ประกันตน
จะต้องทำดังนี้
ต้องมีเอกสารหลักฐาน แสดงตัว ติดตัวไว้เสมอ เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ บัตรประกันสังคม หนังสือเดินทาง หรือบัตรคนต่างด้าว
- ผู้ประกันตนคนไทย ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- ผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวต้องแสดงบัตรประกันสังคมและหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
ทั้งนี้ ก็เพื่อจะสามารถได้รับบริการ ได้เร็ว เพื่อความสะดวกที่หน่วยงานต่างๆ จะได้ทราบและประสานงานกันได้ง่ายขึ้น นั่นเอง
ท่องเที่ยวเทศกาล ระมัดระวังเอาไว้ก่อน จะได้สนุกได้และปลอดภัยด้วย
**************
แนวทางการให้บริการทางการแพทย์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินในช่วงเทศกาลวันหยุดติดต่อกันหลายวัน
เรียน ผู้อำนวยการสถานพยาบาลประกันสังคมทุกแห่ง
ประกาศวันที่ 28 ธันวาคม 2560
ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 สำนักงานประกันสังคมแจ้งขอความร่วมมือสถานพยาบาลในการให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ประกันตน ที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน กรณีผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
สำนักงานประกันสังคมได้ประชาสัมพันธ์การตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลทาง ww.sso.go.th เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และแจ้งแสดงสิทธิการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาล โดยผู้ประกันตนคนไทย ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ ผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวต้องแสดงบัตรประกันสังคมและหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามหนังสือที่อ้างถึง 2 และ 3
ดังนั้น ในช่วงเทศกาลซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ผู้ประกันตนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ และอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเนื่องจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล จึงขอความร่วมมือจากสถานพยาบาลในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนี้
1.สถานพยาบาลสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน
ได้ทาง www.sso.go.th และโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนจากสำนักงานประกันสังคมในท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 เพื่อช่วยให้ผู้ประกันตนมิต้องทดรองจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์
2. หากตรวจสอบพบว่าผู้ประกันตนมีสิทธิการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น
โปรดแจ้งสถานพยาบาลตามสิทธิฯ ของผู้ประกันตนโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอครบระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ เพื่อให้สถานพยาบาลตามสิทธิฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และรับผู้ประกันตนกลับไปรักษาพยาบาล
3. กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิของผู้ประกันตน หรือเกิดปัญหาในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน
ขอให้สถานพยาบาลประสานงานกับสำนักงานประกันสังคมในท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ โดยสำนักงานประกันสังคมได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อรับแจ้งและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิผู้ประกันตน รวมทั้งประสานงานในการให้บริการทางการแพทย์กรณีผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
4. กรณีตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตนพบว่าไม่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมหรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว ขอให้สถานพยาบาลประสานงานได้ที่หมายเลข โทรศัพท์ 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และถือเป็นแนวทางการให้บริการต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ขอแสดงความนับถือ
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์
โทร 02-9562494, 2516