แม้โรคพิษสุนัขบ้าจะยังไม่สามารถรักษาได้ แต่เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หากพิจารณาแล้วว่าตนเองมีความเสี่ยง
แล้วเมื่อไหร่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
1. ฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์ (Prophylaxis)
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ โดยฉีด 3 ครั้ง คือ วันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปี สามารถฉีดกระตุ้นอีกครั้งเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายได้
2. ฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์
โดยพิจารณาความเสี่ยง ดังนี้
น้ำลาย/เลือด
: หากสัมผัสผิวหนังที่ไม่มีแผล ไม่มีรอยถลอก ไม่ต้องฉีดวัคซีน
: หากสัมผัสผิวหนังที่มีแผล มีรอยถลอก กระเด็นเข้าตา จมูกหรือปาก ต้องฉีดวัคซีน
ถูกข่วน : บริเวณผิวหนัง โดยจะมีเลือดออกหรือไม่มีก็ตาม ต้องฉีดวัคซีน
ถูกงับ : บริเวณผิวหนังแล้วมีรอยช้ำ โดยจะมีเลือดออกหรือไม่มีก็ตาม ต้องฉีดวัคซีน
ถูกกัด : จนเป็นแผลมีเลือดออก ต้องฉีดวัคซีน
ในกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนหลังสัมผัสสัตว์ จะพิจารณาจำนวนครั้งของการฉีดวัคซีนจากประวัติของการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
สำหรับบางคนถูกกัดหรือข่วนจนเป็นแผลและมีเลือดออก หรือถูกกัดจนเป็นแผลบริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หากมีแผลลึกหรือเป็นแผลในลักษณะที่ฉีกขาดมากอาจจะต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin; IG) ร่วมด้วยเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
ดังนั้นจึงควรระวังตนเองอยู่เสมอและหากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด งับ ข่วน หรือโดนสารคัดหลั่งจากสัตว์นั้น ๆ ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง อย่าบีบเค้นแผลหรือปิดปากแผล แต่ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) เช็ดแผลเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วรีบไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม