การเตรียมตัวก่อนไปพบจิตแพทย์
5 เตรียม จำไม่ยาก เตรียมใจ - เตรียมตัว - เตรียมของ - เตรียมญาติ - เตรียมยานพาหนะ
1. เตรียมใจ
หลายๆคนเกรงว่าการไปพบจิตแพทย์จะทำให้ภาพลักษณ์ตนเองดูไม่ดี กลัวที่ทำงานรู้ กลัวพบคนรู้จัก ท่านก็คงต้องชั่งน้ำหนักความทุกข์ที่เกิดอยู่แล้วและจะเป็นต่อไปหากไม่ได้รับการดูแลเยียวยารักษาที่เหมาะสม และสิ่งที่ท่านคิดว่าอาจเกิดขึ้นหากไปพบจิตแพทย์ แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์ของการมาพบจิตแพทย์ค่อยๆเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้นตามประเทศตะวันตกซึ่งการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ และทุกสถานพยาบาลจะต้องมีนโยบายรักษาความลับของผู้ไปขอรับการปรึกษาเสมอ จะไม่เปิดเผยข้อมูลของท่านหากท่านไม่ยินยอม
2. เตรียมตัว
แต่งตัวสุภาพตามปกติ บางท่านอาจนำผ้าพันคอหรือเสื้อหนาวติดไปหากแอร์เย็น หรือนำพัดเล็กๆไปเผื่ออากาศร้อน
3. เตรียมของ
- เอกสารสำคัญ เช่นข้อมูลประวัติการรักษาที่เดิมถ้ามี บัตรประชาชน บัตรแสดงสิทธิ์การรักษากรณีท่านต้องการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายของประกันสังคมหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด มิเช่นนั้นท่านจะต้องชำระค่ารักษาเอง เพราะโรงพยาบาลรัฐที่มีจิตแพทย์มักเป็นโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ซึ่งตามหลักจะให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากสถานพยาบาลในระดับปฐมภูมิ หากท่านไปรับบริการด้วยเองโดยไม่ผ่านต้นสังกัดมักต้องชำระค่าบริการด้วยตนเอง ยกเว้นกรณีฉุกเฉินหรือท่านที่ใช้สิทธิ์ข้าราชการอาจไปเบิกในภายหลังได้
- เตรียมยา ที่ท่านรับประทานประจำทั้งยาทางกายหรือยาทางจิตเวชเดิม เพราะกายและใจมีความเกี่ยวข้องกัน แพทย์จะได้มีข้อมูลในการวางแผนช่วยเหลือท่านได้อย่างรอบด้านและต่อเนื่อง
- น้ำดื่ม ขนมนมเนย หนังสือ โทรศัพท์ เพื่อสันทนาการและแก้หิวกระหายระหว่างรอ เพราะอาจมีผู้รอรับบริการเช่นเดียวกับท่านเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนจิตแพทย์ที่ให้การดูแล
4. เตรียมญาติ
หรือเพื่อน คนรู้จัก คนใกล้ชิดที่ท่านไว้ใจ ไปเป็นเพื่อนท่านหากท่านต้องการ และจะมีประโยชน์กับจิตแพทย์ผู้รักษาท่านมากหากสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวท่าน ที่ท่านอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน เพื่อให้แพทย์มีข้อมูลใช้ดูแลท่านอย่างครบถ้วน และจะได้ช่วยรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ว่าท่านควรปฏิบัติตัวอย่างไร และคนใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยดูแลท่านอย่างไร
5. เตรียมพาหนะ
สำรวจเส้นทางก่อนไป กรณีไกลมากๆ หรือข้ามจังหวัดจะได้ไปทันเพราะส่วนใหญ่มักเปิดรับบัตรเฉพาะช่วงเช้า (แล้วแต่โรงพยาบาล) เพื่อให้สามารถตรวจผู้ป่วยได้หมดทันในเวลาราชการ แต่ถ้าฉุกเฉินอาจอนุโลมให้พบได้เมื่อไปถึง
กรณีผู้ที่เราอยากพาไปพบจิตแพทย์ แต่เขาไม่ต้องการให้เราพาไปพบจะทำอย่างไร
อาจเป็นได้จากหลายปัจจัยทั้งที่รู้ว่าตนผิดปกติแต่ไม่กล้าไปด้วยเหตุผลต่างๆ หรือมีความเข้าใจที่ผิดๆกับการไปพบจิตแพทย์ หรืออาจเป็นเพราะเขาไม่รู้ตัวว่าตนเองผิดปกติจึงไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมต้องไป มีคำแนะนำที่พอใช้ได้ดังนี้
1. คุยกันด้วยเหตุด้วยผล โดยคนที่เขาไว้ใจ ไม่ตำหนิ แต่พยายามเข้าใจเขาแล้วค่อยโน้มน้าว ชักจูง ให้เขายอมไปด้วยความเต็มใจ เช่นบางรายอาจมีปัญหาการนอน หรือหงุดหงิดเครียดง่าย ซึ่งเขาเองต้องการหายจากอาการดังกล่าวอยู่แล้ว ก็ใช้เหตุผลว่าเพื่อให้หายจากอาการดังกล่าว ซึ่งน่าจะยอมรับได้ง่ายกว่าการบอกว่าเขาป่วย หรือผิดปกติ แต่บางรายอาจต้องใช้วิธีติดสินบนหรือจ้างให้เขาไปพบแพทย์ก่อนในครั้งแรก
2. หลอกว่าไปเที่ยวแล้วเลี้ยวเข้าโรงพยาบาล ก็ใช้ได้ผล แต่มักได้แค่ครั้งเดียว
3. ชักชวนว่าเป็นการไปตรวจสุขภาพ แต่สุดท้ายเขาก็จะต้องรู้ว่าแพทย์ที่เขาคุยด้วยเป็นจิตแพทย์ แล้วค่อยให้จิตแพทย์เกลี้ยกล่อม
4. บังคับควบคุมตัวมาโดยญาติหลายๆคน หรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประจำรถของหน่วยบรรเทาสาธารณภัย(บางจังหวัด) กรณีเขาทำพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
5. มาปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อขอยานอนหลับ แล้วไปผสมน้ำหรืออาหารให้เขารับประทานแล้วค่อยแอบอุ้มขึ้นรถมา
ซึ่งวิธีที่ 4 และ 5 ควรใช้เฉพาะเมื่อไม่สามารถใช้วิธี 1-3 ได้แล้ว มิเช่นนั้นท่านอาจเสียสัมพันธภาพกันได้ แต่หากกระทำด้วยเจตนาดีและพิจารณาถึงความจำเป็น ว่าหากไม่ได้พบจิตแพทย์แล้วจะเกิดผลเสียมากกว่าก็ควรกระทำ
เคล็ดลับจากประสบการณ์จิตแพทย์
เพื่อประโยชน์ในการักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคำแนะนำที่ผู้ป่วยควรต้องเตรียม ดังนี้
1. เตรียมข้อมูล เรื่องราว อาการ ที่พร้อมจะเล่าให้จิตแพทย์ฟัง ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะ "เหตุที่ทำให้ทำไม่ไหว หรือเหตุของปัญหาที่ชัดแจ้ง" เพื่อเข้าประเด็นได้ทันที ไม่เสียเวลา เอาเน้นๆ เนื้อๆ น้ำไม่ต้อง (ยิ่งเล่ามาก ไม่ได้หมายความว่าดี) รวมทั้งเป็นการรักษาเวลาให้แพทย์และคนไข้รายอื่นๆ ด้วย และหลังจากเรื่องเล่า หมอก็จะต้องมีคำถามอีกด้วย เหล่านี้ ผู้ป่วย หรือญาติที่ดูแล ควรเตรียมให้ดี
2. ญาติเป็นผู้ช่วยที่สำคัญ แต่ควรให้คนที่รู้เรื่องดีที่สุดเพียง 1-2 คน เล่าอาการ มากไปไม่ดี ข้อมูลอาจสับสน ไขว้เขว หลากหลายเกินไป เป็นบทบาทที่กลุ่มญาติต้องตกลงกันให้ดี เพื่อเข้าสู่การรักษาได้ตรงที่สุด
3. กรณีย้ายการรักษามาจากที่อื่น ควรมีข้อมูลการรักษาจากที่เดิมมาด้วยเสมอ ดีที่สุดคือ ให้หมอเดิมสรุปประวัติการรักษามาให้เลย เพราะข้อมูลทุกด้านของการรักษามีความสำคัญและจำเป็นหมด ไม่ว่าจะเป็นอาการ การรักษา ยาที่จ่ายให้กิน ผลข้างเคียง ผลกระทบ พัฒนาการของการรักษา ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องยาที่จำเป็นมากว่าต้องรู้ว่าเคยกินยาอะไรไปบ้าง เพื่อหมอจะได้ทราบว่าจะต้องดำเนินการรักษาต่อไปอย่างไร ให้เหมาะสม ไม่ต้องเสียเวลาเดา หรือเริ่มใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง
อ้างอิง