หัวใจโต เป็นอย่างไร เป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งหรือไม่ น.พ.บัญชา ศันสนีวิทยกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ให้คำตอบไว้ในรายการ ไทยคลินิค ดอท คอม ค่ะ ผู้
ดำเนินรายการ: หัวใจคนปกติขนาดเท่าไร
น.พ.บัญชา : ขนาดหัวใจคนปกติโดยทั่วไปขนาดเท่ากับกำปั้นมือของเจ้าของไม่เล็กไม่ใหญ่ ขนาดพอดี
ผู้ดำเนินรายการ : อาการ โรคหัวใจ หรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจมีอะไรบ้าง
น.พ.บัญชา : โรคหัวใจมีหลายอย่าง เวลาคนไข้มาสอบถามว่ากลัวจะเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคหัวใจหรือ เปล่า คนไข้จะไม่รู้ว่าความจริงแล้วโรคหัวใจมีหลายประเภท เช่น โรคหัวใจ ลิ้นหัวใจ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ การถูกทำลายที่ลิ้นหัวใจ หรือว่าเป็นโรคของกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม คือ กล้ามเนื้อหัวใจที่เคยบีบตัวมาตลอดชีวิตก็เริ่มทำงานลดลง เสื่อมสภาพไปเร็วกว่ากำหนด หรือโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดทุกวันนี้ คือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลากหลายเหลือเกิน
ผู้ดำเนินรายการ : ที่พบมากที่สุดคือ หลอดเลือดหัวใจตีบ ใช่ไหมคะ
น.พ.บัญชา : ใช่ครับ โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ซึ่งเปลี่ยนจากสังคมตะวันออกเป็นสังคมตะวันตก คือว่าเรามีการบริโภคอาหารที่มีไขมันมากขึ้น มีความเครียดมากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเป็นภัยต่อหัวใจมากขึ้น ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ
ผู้ดำเนินรายการ : การเกิดโรคของแต่ละอย่าง ทั้งที่เกี่ยวกับลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือว่าเส้นเลือด สาเหตุของมันแตกต่างกันอย่างไร
น.พ.บัญชา : แตกต่างกันค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง เช่น โรคลิ้นหัวใจ ที่มักจะเกิดในสภาพสังคมคนที่ค่อนข้างจะยากจนซักหน่อยนึง เพราะสาเหตุการเกิดเนื่องจากมีการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจ หลังจากนั้นเชื้อหรือปฏิกิริยาจากการติดเชื้อก็ลงไปจู่โจมที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบ เกิดการทำลายเกิดขึ้นแล้วเกิดลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่วตามมา ซึ่งภาวะนี้ทุกวันนี้ในสังคมที่พัฒนาขึ้นแล้วอย่างบ้านเราพอเป็นไข้หวัดขึ้นที เราก็มักจะได้รับยาปฏิชีวนะกันค่อนข้างเร็ว เชื้อโรคก็ไม่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ปฏิกิริยาต่อสู้กับเชื้อโรคก็ไม่ไปจู่โจมที่หัวใจ เพราะฉะนั้น โรคลิ้นหัวใจ จึงลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในชุมชนเมือง ก็ยังเหลือแต่ในชนชนบท ซึ่งยังห่างไกลการรักษาพยาบาลอยู่ แต่เรื่องของหลอดเลือดตีบที่พบบ่อย และเป็นที่กังวลของคนมากขึ้น ทุกวันนี้ เราลองมานึกดูนะครับว่าหัวใจคนเรา เคยทานหัวใจหมูก็จะเห็นว่าเป็นอวัยวะที่เป็นก้อน และก็จะมีผนังกล้ามเนื้อหัวใจอยู่ กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานตลอดเวลา 24 ช.ม.ต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ / 52 สัปดาห์ต่อปี จะเห็นว่า หัวใจก็ต้องการอาหารไปเลี้ยงเหมือนกัน เพราะเขาทำงานหนักจึงจะต้องมีเลือดมาเลี้ยงเขา เลือดที่มาเลี้ยงหัวใจก็อยู่บนผิวของหัวใจ และส่งมาเลี้ยงหัวใจเพื่อให้หัวใจทำงานได้ตามปกติ ทีนี้วันดีคืนดี หลอดเลือดหัวใจที่เคยไหลเวียนได้สะดวกเหมือนกับท่อส่งน้ำก็เกิดอาการอุดตันเกิดขึ้น ไหลเวียนไม่สะดวก แต่การที่ท่อส่งน้ำจะเกิดตีบตันขึ้นมา มันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ มันมีตัวเร่งอยู่ประมาณ 7 อย่าง ที่ทำให้มันตีบมากขึ้น คือ
1.เพศชาย เพศชายค่อนข้างจะเสียเปรียบกว่าเพศหญิง เกิดก็ยาก ตายก็ง่าย โรคหัวใจก็เป็นง่ายกว่าเพศหญิงเยอะ พออายุเกิน 45 ปี ก็เริ่มเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พร้อมอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงมักจะต้องเกิดเมื่อ 55 ปีไปแล้ว หรือหลังจากวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว
2.อายุ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรค หลอดเลือดหัวใจตีบก็จะเพิ่มขึ้น ถึงแม้หน้าตาจะดูเด็กแต่เราก็เปลี่ยนความเสื่อมภายในไม่ได้อยู่ดี
3.พันธุกรรม ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคหัวใจเร็ว แนวโน้มเราจะมีโรคหัวใจที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว บางคนอายุ 35 ปี ก็มาด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้ว ดังนั้นพันธุกรรมก็เป็นตัวกำหนดว่า เราจะเป็นโรคหัวใจชนิดหลอดเลือดหัวใจตีบมากง่ายหรือเปล่า
4.การสูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากเท่าไหร่ โรคหัวใจก็ถามหาเร็วขึ้นไม่ใช่แต่โรคปอดเท่านั้น
5.โรคความดันโลหิตสูง
6.โรคเบาหวาน
7.โรคไขมันสูง
8.ภาวะเครียด คนที่ชอบการแข่งขัน ชอบเอาชนะและไม่เดินทางสายกลางก็มักจะได้โรคหัวใจแถมไปด้วย และจะยืนอยู่บนความสำเร็จไม่ได้นาน นี่คือสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่วนสาเหตุของโรคหัวใจอื่น ๆ ก็จะหลากหลายกันออกไป (แต่โรคใจอ่อน ใจง่ายนั้นไม่เกี่ยว แล้วแต่บุคคลเอง ) และผ่าตัดแปลงเพศแล้ว มันก็ไม่ได้เปลี่ยนพันธุกรรมของความเป็นเพศชายไปได้ มันแก้ไขไม่ได้ แต่มีปัจจัยบางอย่างที่แก้ไขได้ก็คือ ถ้าเป็นเบาหวานก็ควบคุมเบาหวานให้ดี อย่าบริโภคอาหารที่หวานเกินกำลังของร่างกาย ถ้าเป็นความดันโลหิตสูง ก็ควบคุมความดัน ถ้าเป็นคนที่ชอบสูบบุหรี่ อันนี้ต้องลดลงชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการควบคุมระยะยาวด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีหลายปัจจัยที่ควบคุมได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องอาศัยความอดทนเป็นแบบนักกีฬา
ผู้ดำเนินรายการ : สรุปโรคหัวใจโต คืออะไรกันแน่คะ เพราะคุณผู้ฟังสงสัย
น.พ.บัญชา : ภาวะหัวใจโต ไม่ถือเป็นโรคแต่เป็นภาวะหนึ่งของโรคหัวใจ นั่นหมายความว่าโรคหัวใจที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มาถึงจุดหนึ่ง เมื่อปล่อยให้โรคดำเนินไปมากๆ ขึ้นแล้ว จะเกิดภาวะหัวใจโตขึ้นเพราะฉะนั้นถ้าปล่อยให้หัวใจโตแล้ว จะเป็นสัญญาณเตือนว่าวันข้างหน้าโรคหัวใจนี้ จะพัฒนาขึ้นสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจล้มเหลว เข้าสู่โรคหัวใจระยะสุดท้ายและมีโอกาสเสียชีวิต สรุปก็คือ ไม่ว่าโรคหัวใจจะอยู่เฉยอย่างไรก็ตาม ถ้ารักษาไม่ดีก็นำมาซึ่งภาวะหัวใจโต แล้วก็ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด