ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคอ้วนในเด็กกับสถานการณ์ COVID-19

โรคอ้วนในเด็กกับสถานการณ์ COVID-19 Thumb HealthServ.net
โรคอ้วนในเด็กกับสถานการณ์ COVID-19 ThumbMobile HealthServ.net

รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่าความชุกของโรคอ้วนในเด็กทั่วประเทศร้อยละ 13.9 โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในเขตเทศบาลมีความชุกสูงถึงร้อยละ 16.6 และสูงสุดในกรุงเทพมหานคร

โรคอ้วนในเด็กกับสถานการณ์ COVID-19 HealthServ
โรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลกรายงานว่าเด็กวัยก่อนเรียนจำนวน 38.2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-19 ปี จำนวน 340 ล้านคน ทั่วโลก มีภาวะโภชนาการเกิน และจำนวน 1 ใน 4 อยู่ในทวีปแอฟริกา และครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย และได้บรรจุเป็นวาระแห่งโลกที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน รายงานล่าสุดของ CDC สหรัฐอเมริกา พบว่าความชุกของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นมากและเพิ่มตามอายุ ดังนี้ อัตราโรคอ้วนในเด็กอายุ 2-5 ปี ร้อยละ 13.4 อายุ 6-11 ปี ร้อยละ 20.3 และ อายุ 12-19 ปี ร้อยละ 21.2 ตามลำดับ


ประเทศสหราชอาณาจักร ได้รายงานข้อมูลที่สำรวจล่าสุดก่อนการระบาดของ COVID-19 พบว่าร้อยละ 21 ของเด็กอายุ 10-11 ปี เป็นโรคอ้วน และเพิ่มขึ้นเป็น 27.5% ในพื้นที่ยากไร้ รายงานจากประเทศออสเตรเลียล่าสุดพบว่าร้อยละ 25 ในเด็กอายุ 2-17 ปี เป็นโรคอ้วน
 

สำหรับประเทศไทย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายในปี 2557 พบว่าความชุกของโรคอ้วนในเด็กทั่วประเทศร้อยละ 13.9 โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในเขตเทศบาลมีความชุกสูงถึงร้อยละ 16.6 และสูงสุดในกรุงเทพมหานคร จากรายงานของชุติมา ศิริกุลชยานนท์ และคณะได้ทำการสำรวจในโรงเรียนเครือข่ายโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย 4 โรงเรียน สังกัดลำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร ในปี 2555 พบปัญหาโรคอ้วน ร้อยละ 21 ซึ่งสูงกว่าที่เคยสำรวจในปี 2547 (ร้อยละ 19.3)


โรคอ้วนในเด็กส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็ก ตั้งแต่เหนื่อยง่าย การเรียนรู้ช้ากว่าเด็กที่น้ำหนักปกติ การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังลักษณะปิ้นดำหนาชรุขระที่รอบคอ รักแร้ ขาหนีบ (Acanthosis Nigricans) สัญญาณเตือนถึงภาวะดื้อต่ออินชูลิน โอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันสะสมในตับ นิ่วในถุงน้ำดี โรคระบบทางเดินหายใจ หอบ ภูมิแพ้ นอนกรน หยุดหายใจเป็นพัก ๆ ปวดข้อ มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าเด็กปกติ  อ้วนในวัยเด็กมีโอกาสอ้วนในวัยผู้ใหญ่ และปัญหาทางสุขภาพจิตมีภาวะซึมเศร้าสูงกว่าเด็กปกติ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการเรียนและคุณภาพชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคอ้วน มีไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต โรคเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งส่งผลต่อการสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาพยาบาล ทั้งของครอบครัวและประเทศ เด็กที่อ้วนหากไม่ได้รับการแก้ไขจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตในอนาคต
 
 

สาเหตุของการเกิดโรคอ้วนในเด็ก

ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันของแต่ละครอบครัว ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต (ifestyle) ซึ่งประกอบด้วย พฤติกรรมการบริโภค (Eating behavior) อาหารพลังงานสูง ทั้งหวานและมัน กิจรรมทางกาย (Physical activity) น้อย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว การนั่งเล่นเกม ดูทีวี ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก
 

1. ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม 

ครอบครัวที่มีฐานะดีมักจะตามใจเด็ก โดยเฉพาะด้านอาหารบริโภค ทำให้เด็กได้รับอาหารมากเกินไปเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วน ส่วนเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาน้อย รายได้น้อย เด็กมักกินอาหารที่ราคาถูกไขมัน แป้งน้ำตาลสูง (energy-dense food) จะอ้วนเช่นกัน ปัจจุบันเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงและมีความตระหนักด้านของสุขภาพมากกว่า ทำให้มีการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (healthy food) และใส่ใจในการออกกำลังกายมากกว่า จะช่วยป้องกันโรคอ้วน ดังนั้นโรคอ้วนในเด็กจึงพบได้ทั้งครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงและต่ำ
 
 
 

 2. พฤติกรรมการบริโภค 

ภาวะปกติ เราควรรับประทานอาหาร 3 มื้อ คือ มื้อเช้า กลางวัน และเย็น แต่ในเด็กอ้วนมักมากกว่า 3 มื้อ และจุบจิบ ไม่ค่อยรับประทานอาหารเช้า มื้อสำคัญ แต่รับประทานมื้อดึก ที่ไม่ควรทำ
 
การงดอาหารเช้า อาหารเช้า จัดเป็นอาหารมื้อแรกและอาหารมื้อสำคัญที่สุดที่รับประทานหลังจากตื่นนอน เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสภาวะปกติ สำหรับดำเนินกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนจะได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเมืองต้องรีบเร่งออกจากบ้าน เพื่อไปให้ทันโรงเรียนหรือทันเวลาทำงานในตอนเช้า การเตรียมอาหารเช้าจึงดูเป็นการเสียเวลา อาหารเช้าของนักเรียนส่วนหนึ่งจึงมักเป็นที่โรงเรียน และถ้าสายไม่มีเวลาอาจงดไปเลย คนส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญของอาหารมื้อเช้าและละเลยอาหารมื้อนี้ ผลการงดอาหารเช้าส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพของเด็กวัยเรียน
 
 
การศึกษาพบว่าเด็กที่ไม่ได้รับอาหารเช้า ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความจำระยะสั้น การจดจำลดลง และขาดสมาธิในการเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ได้รับประทานอาหารเช้า ผลต่อน้ำหนักตัว ความเข้าใจว่าการงดอาหารเช้าจะช่วยลดน้ำหนักได้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะการงดอาหารเช้านอกจากไม่ช่วยลดน้ำหนัก ในทางตรงข้ามการงดอาหารเช้ายังทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงนในร่างกายต่ำกว่าคนที่รับประทานอาหารเช้า จึงทำให้ลดน้ำหนักตัวได้ยากขึ้น และทำให้มีโอกาสอ้วนได้ง่าย แม้ว่าจะควบคุมการรับประทานอาหารให้น้อยลงแล้วก็ตาม อีกทั้งยังทำให้รู้สึกหิวมากในมื้อถัดไป จะรับประทานอาหารมื้อเที่ยงมากขึ้น ตลอดจนอาหารว่างที่มีพลังงานและไขมันสูง= จนเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วนและอ้วนลงพุง
 
การรับประทานมื้อดึก เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากรับประทานแล้วเข้านอน เป็นการสะสมพลังงาน จะทำให้อ้วน และมีผลทางลบต่อสุขภาพเนื่องจากอาจเกิดภาวะกรดไหลย้อน
 
การรับประทานจุบจิบ การรับประทานจุบจิบในเด็ก น่าจะมาจากครอบครัวที่ตามใจ และไม่ได้ฝึกวินัยให้กับลูก ทำให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ
 
 
การบริโภคผัก ผลไม้ น้อย เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กอ้วนมักไม่ค่อยรับประทานผัก ผลไม้ ทั้งที่ผัก ผลไม้ เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ตลอดจนสารต้านอนุมูลอิสระ และมีใยอาหารช่วยดูดชับไขมันในลำไส้และช่วยในการขับถ่าย
 
 
การบริโภคอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น ค่านิยมในการบริโภคอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักเป็นอาหารจานด่วนที่มีพลังงานสูง ส่งผลต่อการบริโภคผัก ผลไม้ ลดลง29 ในสถานการณ์ COVID -19 การปรับตัวกับการไม่ไปนอกบ้าน โดยการสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน (home delivery) คุณภาพไม่แตกต่างกันคือ ทั้งพลังงานสูงและมักไม่ครบ 5 หมู่ เกิดการสะสมพลังงานจากอาหารที่บริโภคและไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย
 
 
ชนิดของอาหารกับการเกิดโรคอ้วน
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาหารเครื่องดื่มและอาหารที่เด็กชอบมักเป็นเนื้อสัตว์ อาหารทอดหรือไขมันสูง (high fat diet) เช่น ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก ฯลฯ เครื่องดื่มและอาหารที่มีรสหวานหรือน้ำตาลสูง (high sugar diet) น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมที่เด็กๆ ชอบ มักเป็นประเภทมันฝรั่งทอด (French fries) ขนมกรุบกรอบ ซึ่งทั้งหวาน มันและเค็ม แต่ไม่ชอบบริโภคผัก ผลไม้
 
 

3. กิจกรรมทางกาย (physical activity)

ปัจจุบันทั้งผู้ใหญ่และเด็กให้ความสำคัญของการออกกำลังกายลดน้อยลง ต้องการความสะดวกสบาย อีกทั้งมีเครื่องผ่อนแรงต่าง ๆ ทำให้ยิ่งลดการใช้พลังงานลงตามลำดับ เป็นผลนำไปสู่โรคอ้วน การมีกิจกรรมทางกาย เกิดการเคลื่อนไหว จะมีการเผาผลาญพลังงานที่สะสมออกไปในคนปกติมักมีความคล่องตัว แต่คนที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมักจะอุ้ยอ้าย และไม่ค่อยเคลื่อนไหว ทำให้สะสมพลังงานและอ้วนมากขึ้น
 
 
รายงานการศึกษาในเด็กเล็กอายุ 4-7 ปี ถ้าแม่มีกิจกรรมทางกาย เด็กก็จะมีกิจกรรมทางกาย มีการวิ่งเล่นคิดเป็น 2 เท่า ของเด็กที่แม่ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกาย และถ้าพ่อมีกิจกรรมทางกาย เด็กจะมีกิจกรรมทางกายเพิ่มเป็น 3.5 เท่า ของเด็กที่พ่อไม่ค่อยมีกิจกรรมและเพิ่มเป็น 5.8 เท่า ถ้าทั้งพ่อและแม่มีกิจกรรมทางกาย 
 
การดูทีวี เล่นเกม จำนวนชั่วโมงของการดูทีวี่ เล่นเกม (screen time) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วน การดูทีวีทำให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน ทั้งในเด็กปกติและเด็กอ้วน นอกจากนี้ยังเกิดการสะสมพลังงานจากการที่เด็กมักรับประทานขนม โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบ ซึ่งมีพลังงานสูงระหว่างดูทีวี และการได้รับข้อมูลจากโฆษณาทางทีวีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ขนม อาหารต่าง ๆ ซึ่งมักให้พลังงานสูง เด็กจะรับรู้ อยากลองและไปหาซื้อมารับประทาน
 
ข้อแนะนำจาก American Academy of Pediatrics guidelines ไม่ควร ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดูทีวี และเด็กที่โตขึ้นการดูทีวีและเล่นเกมรวมไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
 

4. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม 

เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ขึ้นอยู่กับวัยต่าง ๆ สำหรับทารกในครรภ์ สิ่งแวดล้อมคือครรภ์มารดา ภาวะโภชนาการของมารดาก่อนและระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อน้ำหนักทารกแรกเกิด เมื่อเกิดมาได้รับการเลี้ยงดูที่ตามใจในครอบครัว พฤติกรรมการบริโภคอาหาร การเข้าถึงแหล่งอาหารง่ายและสะดวก สื่อโฆษณา วิถีการดำเนินชีวิตการขาดการออกกำลังกาย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคอ้วนในเด็ก โดยเฉพาะในสถานการณ์ COVID-19
 
 

แนวทางในการแก้ไขโรคอ้วนในเด็ก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior modification) โดยการสร้างวินัยในเด็ก ผู้ปกครองและคุณครู ควรสร้างวินัยในเด็ก 3 ประการ
 
1. วินัยในการกิน 
สอนให้เด็กกินเป็นเวลา 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ไม่กินจุบจิบ และรู้จักเลือกชนิดของอาหาร
 
2. วินัยในการใช้เวลา 
ผู้ปกครองควรกำหนดช่วงเวลาให้เด็กและตรงต่อเวลา ช่วงทำการบ้าน ช่วงออกกำลังกาย ช่วงให้เด็กช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย  กำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอน ไม่ควรนอนดึกเพราะการเจริญเดิบโตโดยเฉพาะความสูง จะน้อยกว่าเด็กที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ เด็กที่นอนดีกมักหิว จะกินมื้อดึกและทำให้อ้วน มักตื่นสาย กินอาหารเช้าไม่ทัน และการเรียนจะไม่มีสมาธิ ง่วง ภูมิคุ้มกันน้อย เจ็บป่วยง่าย
 
3. วินัยในการใช้เงิน 
ควรฝึกให้เด็กรัจักคุณค่าของเงิน คิดก่อนซื้อ ประหยัด และรู้จักเก็บออม
 
จากการศึกษาพบว่าเด็กอ้วนขาดวินัยทั้ง 3 ประการ เมื่อเทียบกับเด็กน้ำหนักปกติอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ปกครองควรเป็นต้นแบบให้กับลูกในการสร้างวินัย ทั้งด้านการกิน การออกกำลังกาย และการใช้เงิน
 
ในสถานการณ์ COVID-19 เด็กๆ ต้องเรียน onเine ที่บ้าน ไม่ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน 1 ที่โรงเรียน ทำให้ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายประกอบกับการกินไม่เป็นเวลา กินจุบจิบ เด็กจะอ้วนและอ้วนมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ ผู้ปกครองจึงควรจัดหาอาหารครบ 5 หมู่ ให้กับลูกทุกมื้อ ในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ตามเวลา มีผลไม้เป็นอาหารว่างให้กับเด็กเตรียมไว้ในตู้เย็น อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ควรนำเข้าบ้านหรือไว้ในตู้เย็น พาลูก ๆ ออกกำลังกายทุกวัน และไม่นอนดึก
 
การรณรงค์ขององค์การอนามัยโลก "Be Active" มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้เราใส่ใจออกกำลังกายและเพื่อความสนุกสนานในเวลาเดียวกัน เด็ก ๆ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที การออกกำลังกายเป็นประจำมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วน โรคเบาหวาน เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง หัวใจและปอดแข็งแรง ลดไขมันในเลือดและที่สะสมในร่างกาย การเจริญเติบโตสมวัย และที่สำคัญช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค นอกจากนี้ยังดีต่อสุขภาพจิต ลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และช่วยให้ความจำดี
 
สรุปในสถานการณ์ COVID-19 ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพของลูก ครอบครัว และตนเอง จัดอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ได้รับอากาศบริสุทธิ์ มีารมณ์ดี และนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ร่วมกับการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ เพื่อทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโดยปลอดภัย



ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์
คลินิกกุมารเวช คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา Medical Development Clinic
ตารางออกตรวจ วันอังคาร 14-19 น. 
นัดหมายล่วงหน้า โทร 02-1050345, 02-3087600

 
Background photo created by jcomp - www.freepik.com

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด