โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)
ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคเป็นยุงที่ออกหากินเฉพาะในตอนกลางวัน
อาการของไข้เลือดออก
อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้สูง ตัวร้อน ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางรายอาจคลื่นไส้อาเจียน อาจพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกายในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ
สาเหตุของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเพศเมียที่เป็นพาหะของโรค ดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ จากนั้นไวรัสเดงกี่ จะเติบโตภายในท้องของยุงลาย เมื่อยุงลายกัดคนอื่นต่อไป เชื้อไวรัสนี้ก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกกัดไปด้วย
การวินิจฉัยไข้เลือดออก
สังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว หรือมีผื่นแดงหรือห้อเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อพบแพทย์แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต สังเกตลักษณะอาการที่แสดง พร้อมกับการซักประวัติผู้ป่วย เพื่อดูความเสี่ยงและโอกาสว่าผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือไม่ และอาจตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดร่วมด้วย
การรักษาไข้เลือดออก
การรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยทั่วไป ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมากและปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจึงใช้ยาระงับอาการ คือ Acetaminophen หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดและลดไข้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด อาจกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออกซึ่งทำให้อาการแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนและอ่อนเพลียจากไข้แพทย์จะให้น้ำเกลือ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย นอกจากนี้เป็นการรักษาตามอาการที่ป่วยและเฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกอาจพัฒนาความรุนแรงไปสู่ภาวะโรค Dengue Hemorrhagic Fever ซึ่งจะทำให้มีไข้สูงขึ้นอาการปวดหัวรุนแรงขึ้น อาจมีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน และ Dengue Shock Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่เสียเลือดมาก พลาสมารั่ว ความดันโลหิตต่ำ นำไปสู่การช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบัน มีการประกาศใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในบางประเทศ สำหรับในประเทศไทยวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกยังอยู่ในกระบวนการค้นคว้าทดลอง
5ป ปราบยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก
ป1 ปิด ภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด
ป2 เปลี่ยน น้ำในภาชนะต่าง ๆ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำ
ป3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว
ป4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้โปร่งลมพัดผ่านได้ไม่ให้ยุงมาเกาะพัก
ป5 ปฏิบัติ ตามทั้ง 4ป ข้างตนเป็นประจำจนเป็นนิสัย
1ข ขัด ขัดล้างไข่ในภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย เพียงเท่านี้ ก็สามารถป้องกันไม่ให้ยุงลายเป็นพาหะนำโรคติดต่อนำโดยยุงลายหรือโรคไข้เลือดออกได้แล้ว