ด้วยความห่วงใยด้านสุขภาพสำหรับเด็กๆ เยาวชนและผู้ปกครอง ที่เกี่ยวเนื่องการกับการเรียนออนไลน์ แพทยสภา ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดวงตาจาก ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย บทความโดย นพ.วรากร เทียมทัด เรียบเรียงโดย นศพ.ณิชารีย ศรีงาม เรื่อง "จ้องจอเรียน Online ทั้งวัน ตาจะแย่ไหมเนี่ย" เนื้อครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญน่ารู้และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อาทิ อาการ/โรคจากสายตา คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดเลี่ยงปัญหา การตรวจตาในเด็กและเกร็ดน่ารู้ มีรายละเอียดอย่างไร ติดตามได้จากข้อมูลต่อไปนี้
จ้องจอทั้งวันทำให้ตาเป็นอะไรได้บ้าง
1. สายตาสั้น
ในปัจจุบันมีการจ้องมือถือมากขึ้น 100% จากเดิมอยู่ที่ 4-5 ชม.ต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 9-10 ชม.ต่อวัน แต่สายตากลับไม่สั้นอย่างที่คิด นอกจากนี้ มีงานวิจัยในเด็กชาวเอสกิโมช่วงวัยประถมปลาย พบว่าเด็กที่เข้าระบบการศึกษามีแนวโน้มสายตาสั้นมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ดังนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้สายตาสั้นจริงหรือไม่ น่าจะมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อีก เช่น เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ หากพ่อแม่สายตาสั้น ทั้งคู่ เด็กมีแนวโน้มสายตาสั้นตามได้ถึง 40% แต่ถ้าพ่อแม่สั้นคนใดคนหนึ่งเด็กจะสั้นตามประมาณ 19-20% แต่ถ้ามีการเพ่งหรือจ้องจอทั้งวันนาน ๆ อาจมีภาวะสายตาสั้นเทียมได้ คือค่าสายตาจะสั้นเพิ่มมากขึ้น แต่จะค่อยๆหายได้เอง
2. ตาเขเข้าใน
มีงานวิจัยที่เกาหลีสนับสนุนว่าเกิดได้จริง โดยทำในเด็กอายุ 4-9 ขวบ พบว่า ตาเขเข้าในสัมพันธ์กับการจ้องโทรศัพท์ นาน ๆ เกิน 6-8 ชม. โดยต้องจ้องโทรศัพท์สะสมเรื้อรังเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งโดย 30% ต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตา ซึ่งภาวะตาเขเข้าในที่เกิดจากการจ้องนาน ๆ นี้ เรียกว่า acute acquired esotropia เป็นภาวะที่เกิดขึ้น ทันทีทันใด โดยไม่ได้เกิดในทุกคน จะเกิดเฉพาะบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น เด็กที่มีสายตายาวหลงเหลือจากภาวะสายตายาวธรรมชาติ ซึ่งเด็กเหล่านี้หากอนาคตจ้องมองอะไรเป็นเวลานาน ๆ จะมีโอกาสเกิดตาเขเข้าในได้มากกว่าเด็กทั่วไปภาวะสายตายาวตามธรรมชาติเป็นภาวะปกติในเด็กจากกระบอกตาของเด็กสั้นกว่าผู้ใหญ่ แต่โตขึ้นกระบอกตาเด็กจะยาวขึ้นจนสายตาเป็นปกติ จะมีบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังคงมีค่าสายตายาวหลงเหลืออยู่
3. Computer vision syndrome
กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็น เวลานาน โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการใช้งาน และจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง
3.1 อาการ
• ปวดเมื่อยตา
• ตาแห้ง จดจ่อ -> กะพริบตาถี่ลดลงประมาณ 50%, ยกเปิดเปลือกตามากขึ้น -> น้ำตาระเหย มากขึ้นจาก exposure ลูกตามากขึ้น -> ตาแห้ง ถ้าอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ จะยิ่งตาแห้งจากห้องแอร์อุณหภูมิ 22-23 °C ถ้าอุณหภูมิยิ่งต่ำความชื้นสัมพัทธ์จะยิ่งลดลง
3.2 อาการตาแห้งในเด็กประเมินได้ยาก มีหลากหลายอาการตั้งแต่กะพริบตาถี่ขึ้นขยี้ตาจนตาแดง ภูมิแพ้ขึ้นตา แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัวโฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ บางครั้งอาจมีอาการปวดหลังไหล่หรือต้นคอร่วมด้วย เช่น text neck syndrome
นอกจากนี้ยังมี Video game vision syndrome จัดอยู่ในกลุ่มอาการผิดปกติ addict สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นี้ คือ วิดีโอเกมคอมพิวเตอร์
.
ทำอย่างไรได้บ้างนะ
- หากกังวลหรืออาการไม่ดีขึ้นไม่สามารถเลี่ยงจ้องหน้าจอได้แนะนำมาตรวจตาโดยละเอียดเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขให้เหมาะสม
- ยุคการเรียนออนไลน์หากจบ 1 คาบ ควรพักสายตา เดินออกไปมองสิ่งธรรมชาติรอบตัว 5-10 นาที หลีกเลี่ยงการตกของลมแอร์ที่บริเวณใบหน้าจะทำให้ตาแห้งมากขึ้น, ปรับแสงสว่างภายในห้องให้เหมาะสมแสงภายในห้อง และนอกห้อง ควรใกล้เคียงกัน, เช็ดหน้าจอคอมโทรศัพท์ แท็บเล็ต ให้ไม่มัน คราบน้ำมันที่เคลือบบนหน้าจอจะทำให้เกิดแสง glare แสงจะกระเจิง จึงต้องเพ่งตามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
- พ่อแม่ต้องเป็น role model ให้เด็ก ๆ ออกกฎร่วมกัน เช่น เวลากินข้าวห้ามเล่นมือถือ เป็นต้น เพื่อช่วยลดเวลาการอยู่กับหน้าจอ
- หยอดน้ำตาเทียม แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
การตรวจตาในเด็ก
- เนื่องจากเด็กอาจสื่อสารอาการเจ็บป่วยได้ไม่ชัดเจน จึงแนะนำหากมีอาการทางตาหลังจากจ้องหน้าจอเป็นเวลานานควรมาตรวจตาทุกคนอย่างน้อย 1 ครั้ง
- การวัดสายตาในเด็กต้องวัดในสภาวะที่ปราศจากการเพ่ง เนื่องจากกล้ามเนื้อตาเด็กแข็งแรงมาก โดยให้เด็กมองไกลหรือหยอดยาบางชนิดเพื่อลดการเพ่ง
เกร็ดน่ารู้
- ในผู้ใหญ่ก็เกิดตาเขเข้าในได้เหมือนกัน หากจ้องมองหน้าจอนาน ๆ เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อตาเพ่งอย่างต่อเนื่องแต่โอกาสเป็นน้อยกว่าในเด็ก เนื่องจากกล้ามเนื้อตาในผู้ใหญ่แข็งแรงน้อยกว่าในเด็ก หากเกิดภาวะตาเขเข้าในผู้ใหญ่ต้องส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุหลายอย่าง ก่อนจะโทษเรื่องการจ้องมองหน้าจอนาน ๆ
- แว่นตัดแสงสีฟ้า อาจช่วยในแง่ทำให้สบายตาขึ้นมากกว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าแสงสีฟ้าเป็นอันตรายแค่ไหน หรือช่วยลดอาการตาแห้งเคืองตาหรือไม่
- หลังใช้หน้าจอ เด็ก ๆมีอาการแสงวาบ ๆในตาเกิดจากภาวะ imprinting เวลาเราจ้องหน้าจอที่มีแสงสว่างเป็นเวลานาน สมองและจอประสาทตาจะจดจำแสงนั้น และแสดงผลเป็นภาพสว่างไปอีกพักหนึ่งหลังจากนั้นจะหายไป สาเหตุจากวุ้นตาเสื่อมในเด็กจนเกิดแสงวาบเหมือนในผู้ใหญ่นั้นพบได้น้อย เนื่องจากเป็นโรคของความเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น
บทความโดย นพ.วรากร เทียมทัด
เรียบเรียงโดย นศพ.ณิชารีย์ ศรีงาม
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย