นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีชาย หญิงหลายคนเลือกที่จะอยู่เป็นโสดแต่ก็ยังต้องการที่จะมีลูกเพื่อสืบสกุล เป็นที่พึ่งพิงในยามแก่เฒ่า หรือแม้แต่คู่รักเพศเดียวกันก็ต้องการมีลูกเพื่อการเป็นครอบครัว โดยอาศัยหญิงอื่นตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้การอุ้มบุญ จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ขออนุญาตจะต้องเป็นคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นชาวไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ห้ามคู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ หญิงโสด ชายโสด หรือคู่สมรสเพศเดียวกันห้ามทำ โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทยและเคยมีบุตรมาแล้ว หากเป็นหญิงโสดไม่สามารถรับตั้งครรภ์ได้ โดยสามารถใช้ 2 วิธีคือใช้อสุจิและไข่ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร หรือใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สมรสกับไข่หรืออสุจิบริจาค ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์เด็ดขาด
หากชายโสด หญิงโสด หรือคู่รักเพศเดียวกัน ฝ่าฝืนลักลอบอุ้มบุญ จะถูกลงโทษตามกฎหมาย กรณีเป็นแพทย์ที่ดำเนินการ ให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กคทพ.มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หากมีการซื้อ ขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นนายหน้า ชี้ช่องทางให้มีการตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายนำหลักการ “8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” ไปใช้ก่อนดำเนินการใดๆที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ ดังนี้ 8 ห้าม ได้แก่ 1)ห้ามเลือกเพศ 2)ห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก ไข่/อสุจิ/ตัวอ่อน 3)ห้ามรับจ้างตั้งท้อง 4)ห้ามโฆษณา 5)ห้ามโคลนนิ่ง 6)ห้ามมีคนกลาง 7)ห้ามคู่สมรสต่างชาติทั้งคู่ ชาย/หญิงโสด คู่รักเพศเดียวกัน และ8)ห้ามปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน 3 มี ได้แก่ 1)สถานพยาบาลมีการรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย 2)มีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา และ3)มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ส่วน 3 ขอ ได้แก่ 1)ขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีฯ กับกรม สบส. 2)ขออนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนจาก กคทพ. และ3)ขออนุญาตให้มีการวิจัยตัวอ่อนที่เหลือใช้จากการบำบัดรักษาภาวะมีบุตรยากของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายจาก กคทพ. ทุกครั้ง
หากผู้ใดมีข้อสงสัย หรือปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ สามารถสอบถามได้ที่กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ชั้น 5 กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02-193-7000 ต่อ 18418 หรือ 18419 กรม สบส. จะดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที