สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ไม่ใช่อาการป่วยทางจิต แต่เป็นการสะท้อนภาวะทางอารมณ์ของผู้ถูกกระทำที่มีต่อผู้ที่กระทำ
อธิบายได้จากในบางกรณีที่ผู้มีหน้าที่จับกุมหรือควบคุมผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง อาจเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง (ผู้ถูกกระทำ) เหล่านั้นก็ได้เช่นกัน ความรู้สึกเหล่านั้นอาจค่อยๆพัฒนาการขึ้นไปตามระยะเวลาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ผู้คุมกับนักโทษ) ด้วยความรู้สึกเชิงบวก ส่งผลเป็นความเห็นอกเห็นใจ สงสาร เข้าใจ อยากช่วยหรือกลายเป็นความรักก็ได้เช่นกัน (รักในเชิงเข้าใจเห็นใจ)
สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ก็สามารถอธิบายในทำนองเดียวกัน ผู้ร้ายอาจไม่ได้กระทำย่ำยีอย่างรุนแรงอย่างใดต่อตัวประกันเหล่านั้น เรื่องราวเหตุการณ์ในระหว่างที่จับตัวอาจไม่เป็นที่เปิดเผยหรือเข้าใจทั้งหมด บางสิ่งอาจเกิดขึ้นที่กระทบจิตใจและก่อเกิดเป็นความเข้าใจต่องการกระทำของผู้ร้ายมากกว่าจะปักใจเชื่อว่าเป็นเรื่องของความผิดบาปหรือร้ายแรง
ความรู้สึกด้านบวกของตัวประกันในอาการสต็อกโฮล์ม ซินโดรม ผลักให้เกิดแรงต้านด้านลบไปยังกลุ่มตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายหรือกลุ่มอื่นใด (ทนาย อัยการ ผู้คนที่ประณาม) ที่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการกับสถานการณ์และผู้กระทำผิดก็ได้เช่นกัน อย่างกรณีเดียวกันนี้ที่ในเวลาต่อมา ตัวประกันไม่ยอมเป็นพยานต่อศาล และยังมีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือคดีให้กับผู้ร้ายแทนอีกด้วย
อาจจะเพราะเชื่อว่า "ผู้ร้ายไม่ได้ร้ายจริง ผู้ร้ายไม่ได้ต้องการที่จะทำร้ายคนบริสุทธิ์ ซึ่งอาจไม่ใช่ผู้ร้ายโดยสันดาน แต่มีเหตุบีบคั้นบางอย่างขึ้นมา ลึกๆแล้วไม่อยากทำร้ายคนบริสุทธิ์"
ผู้เชี่ยวชาญ อธิบายว่า แท้จริงแล้วอาการลักษณะนี้มีในมนุษย์มาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ไม่มีคำเรียกเฉพาะมาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การจับตัวประกัน 4 คน ในการปล้นธนาคารเครดิทบังเคน กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนเมื่อ 23 สิงหาคม 1973 (พ.ศ.2516) ต่อมานักอาชญวิทยา นิว เบเยโฮสต์ (Nils Bejerot) เป็นผู้ที่เรียกพฤติกรรมเหนือคาดหมายนี้ว่าเป็น "สต็อกโฮล์ม ซินโดรม"
สต็อกโฮล์ม ซินโดรม เกิดได้อย่างไร
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนแน่ที่จะมีอาการเช่นนี้ ภาวะล่อแหลมเสี่ยงภัยเสี่ยงตาย ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านบวกต่อผู้คุกคามแน่นอน บางกรณีเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น แม้ว่าจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเหตุใด สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ถึงเกิดขึ้นได้ อาจเป็นเพราะกลไกการเอาชีวิตรอดก็เป็นได้ มีการพยายามวิเคราะห์หาเหตุ ได้ต่างๆ อาทิเช่น
- เหยื่อได้รับผลกระทบทางอารมณ์มาระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจจะนานสักระยะหนึ่ง
- เหยื่อมีโอกาสอยู่ร่วมใกล้ชิดกับผู้ร้ายในสภาวะการณ์ที่เลวร้าย อย่างเช่น อดอยาก ขาดอาหาร สถานที่คุมขังค่อนข้างเลวร้าย เป็นต้น
- เหยื่อพึ่งพิงปัจจัยพื้นฐานจากผู้ร้ายที่ควบคุมตัว
- เหตุการณ์รุนแรงถึงชีวิตไม่เกิดขึ้น เช่น โดนฆ่า
- ผู้ร้ายไม่ได้ร้ายจริง พอมีมนุษยธรรมอยู่บ้าง
- คนร้ายไม่ได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ
ความจริงที่โหดร้ายในความคิดของผู้เป็นเหยื่อก็คือ ไม่ว่าจะเลวร้ายอย่างไร ผู้ร้ายก็เป็นความหวังเดียวของการรอดชีวิต
กรณี สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ในสวีเดนเป็นเหตุการณ์ใหญ่และเป็นที่รับรู้ต่อมา แต่กระนั้นก็ไม่มีการค้นคว้าไว้มากนัก ผู้เชี่ยวชาญพบว่าลักษณะทำนองเดียวกันนี้อาจเกิดในหลายรูปแบบได้ อาทิ
การละเมิดเด็ก การกระทำละเมิดมักจะก่อความสับสนให้เด็กอย่างมาก ด้านหนึ่งเป็นการกระทำละเมิดด้วยความรุนแรงขู่เข็ญ กระทั่งทำร้ายร่างกาย แต่ขณะที่อีกด้านที่ละเว้นการกระทำรุนแรงและแสดงความรักบ้างเห็นใจบ้าง แค่เพียงเท่านี้ ก็อาจเป็นจุดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแบบ สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ได้เช่นกัน
การละเมิดในวงการกีฬา เด็กหรือเยาวชนที่มีถูกโค้ชผู้ใหญ่ล่วงละเมิด อาจพัฒนาความรู้สึกบางด้านไปในเชิง สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ได้ ด้วยความผูกพันธ์คุ้นเคย และรู้จักพฤติกรรมของผู้นั้น จากห้วงเวลาใช้ร่วมกันมาในระหว่างที่ฝึกซ้อมหรือทำงานร่วมกันมานาน
การค้ามนุษย์ทางเพศ นี่อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดของการต้องการมีชีวิตรอด ของเหยื่อที่ตกอยู่ในการควบคุมและต้องพึ่งพิงปัจจัยพื้นฐานให้มีชีวิตรอด
อาการสต็อกโฮล์ม ซินโดรม ไม่ได้ถูกจัดเป็นอาการทางจิตพื้นฐาน กระนั้นหากคิดว่ามีความกังวลต่ออาการนี้ หรือพบว่าคนใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่ออาการนี้ มีคำแนะนำว่าต้องเข้าพบปรึกษากับจิตแพทย์จะดีที่สุด เพื่ออาหารผ่อนคลาย บรรเทา ลดความเครียดกังวลที่อาจมีผลกระทบตามมาได้
Wikipedia
กลุ่มอาการสต็อกโฮล์ม (อังกฤษ: Stockholm syndrome) เป็นคำอธิบายถึงอาการอย่างหนึ่งที่ตัวประกันเกิดความสัมพันธ์ทางใจกับผู้ลักพาตัวในระหว่างการถูกกักขัง ความสัมพันธ์ทางอารมณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างผู้จับกับเชลยในช่วงเวลาที่ได้ใกล้ชิดกัน แต่นี่อาจถือได้ว่าไม่มีสัญญาณด้านอันตรายหรือเกิดความเสี่ยงอันตรายต่อเหยื่อ กลุ่มอาการสต็อกโฮล์มไม่อยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต เนื่องจากขาดการวิจัยเชิงวิชาการ กลุ่มอาการนี่พบเห็นได้ยาก จากข้อมูลของระบบฐานข้อมูลการจับตัวประกัน ของสำนักงานสอบสวนกลาง และ Law Enforcement Bulletin ประเมินว่าพบการลักพาตัวประเภทนี้น้อยกว่า 5%
คำนี้มีการใช้ครั้งแรกโดยสื่อมวลชนในปี ค.ศ.1973 เมื่อมีการจับตัวประกัน 4 คนระหว่างการปล้นธนาคาร ที่สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตัวประกันได้ปกป้องผู้จับตัวพวกเขาหลังถูกปล่อยตัวและยังไม่ยอมเป็นพยานต่อศาลด้วย
สี่องค์ประกอบสำคัญที่แสดงคุณลักษณะของกลุ่มอาการสต็อกโฮล์ม คือ
- ตัวประกันมีความรู้สึกที่ดีต่อผู้จับตัว
- ไม่มีความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ระหว่างตัวประกันและผู้จับตัว
- ตัวประกันไม่ให้ความช่วยเหลือต่อตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาล (เว้นแต่ผู้จับตัวจะถูกตำรวจบังคับ)
- ตัวประกันเห็นถึงมนุษยธรรมในผู้จับตัว เพราะพวกเขาไม่ได้ถูกคุกคาม เพียงอยู่ในฐานะเป็นผู้บุกรุก
Ref