23 มีนาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง การดำเนินงานในระยะต่อไป มีเป้าหมายพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและปัญหาสุขภาพของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยบริการกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนในทุกระดับ มีความเข้าใจบริบทและปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงพร้อมรับฟังข้อเสนอจากทางพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามอบกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และกองบริหารการสาธารณสุข ประสานและประชุมร่วมกับชมรมแพทย์ 3 องค์กร ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และชมรมแพทย์โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า จากการประชุมหารือร่วมกันมีข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ที่ครอบคลุมทั้งด้านบุคลากร การบริหารจัดการ และการบริการ เช่น ด้านบุคลากร ให้มีคู่มือแนวทางในการบริหารงาน พร้อมพัฒนาทักษะทางการบริหาร ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ ด้านการบริหารจัดการ ปรับให้เขตสุขภาพเป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งเรื่องบุคลากร งบประมาณ และวัสดุ ครุภัณฑ์ สำหรับด้านการบริการ จะเน้นกระจายสถานบริการให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น โดยเพิ่มบริการที่ยากและมีความซับซ้อน เช่น การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด การฉายแสง การปลูกถ่ายไต ยกระดับโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ให้มีแพทย์ 4 สาขาหลัก ได้แก่ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ และบางสาขาที่จำเป็น เช่น วิสัญญี เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นต้น ที่สำคัญคือ โรงพยาบาลทุกระดับมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มเรื่องของการสร้างและฝึกทักษะบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้นด้วย
“ต้องขอบคุณทั้ง 3 ชมรมฯ ที่ระดมสมองและมีข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มอบหมายให้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน และกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยหลักในการประสานเพื่อขยายผลในการพัฒนาระบบสุขภาพให้เกิดประโยชน์กับประชาชนต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว