การป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
ถ้ามองย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและเกิดภาวะอุดตันขึ้น ก็จะขอเรียกว่าเป็น ปัจจัยเสี่ยง หรือ Risk factors ซึ่งตามตำราทางการแพทย์ได้พิสูจน์ทราบอย่างชัดเจนไว้ดังนี้คือ
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- ภาวะคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง และไขมันดีHDLต่ำ
- การสูบบุหรี่
- โรคเบาหวาน
- เพศชายที่อายุมากกว่า45ปีหรือหญิงที่อายุเกินกว่า55ปี หรือวัยหมดประจำเดือนประวัติโรคหัวใจในครอบครัว
จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงบางประการพอจะป้องกันได้พอจะบรรเทาเบาบางได้เช่น 3-4ข้อแรกแต่สองข้อหลังคงแก้ไขอะไรไม่ได้แน่นอนต่อไปก็จะได้ขยายความเป็นลำดับ
เริ่มกันที่ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ความดันโลหิตหรือแรงดันเลือด (Blood pressure) ก็คือ แรงดันในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นซึ่งประกอบไปด้วย ช่วงหัวใจบีบตัว (systolic) และหัวใจคลายตัว (Diastolic) เวลาแพทย์หรือพยาบาลวัดความดัน แล้วบอกคนไข้ว่าวัดความดันได้120/80 มม.ปรอท ก็คือความดันSystolic (บีบตัว) =120มม.ปรอท และความดัน Diastolic (คลายตัว) =80 มม.ปรอท นั่นเอง ความดันที่ว่านี้มีความสำคัญที่จะคอยดันสารน้ำและเม็ดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ต่ำมากไปก็ไม่มีกำลัง หรือเป็นลมได้ ถ้าสูงมากเกินไปก็อาจเกิดหลอดเลือด โดยเฉพาะที่สมอง แตก หรือตีบได้
สำหรับที่เส้นเลือดหัวใจก็เกิดเรื่องได้เช่นกันความดันโลหิตสูงที่เป็นนานๆ ก็จะไปทำลายเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ดังทีได้กล่าวถึงตอนต้น ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ และแข็งตัว ในที่สุดก็เกิดการตีบตัน
ถ้าหากมีก้อนไขมันที่ผนังหลอดเลือดความดันโลหิตที่สูงมาก ก็อาจทำให้เกิดการแตกของก้อนไขมันอย่างเฉียบพลัน และเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือด จนเป็นเหตุให้หลอดเลือดอุดตันตามมาดังที่กล่าวข้างต้น
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนอื่นคือความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่อาจไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้เรียกว่าถ้าไม่ตรวจก็ไม่ทราบการตรวจที่ว่าก็เพียงใช้เครื่องวัดความดันโลหิตถ้าวัดซ้ำ ๆ กันสองสามครั้งแล้วสูงเกิน 140/90มม.ปรอทก็ต้องเริ่มระมัดระวังตัวในที่นี้จะไม่กล่าวถึงประเภทที่ความดันโลหิตสูงจนเส้นโลหิตสมองแตก หรือหัวใจโตมากแล้ว ประเภทนี้ต้องรักษากันเต็มที่อยู่แล้วแต่ประเภทที่สูงไม่มากหรือไม่อยากกินทานหาหมอเป็นพัก ๆ ตามอารมณ์ นี่สิน่าวิตกประเภทนี้มีมาก
ความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นประมาณ 95% เป็นประเภทที่ ไม่ทราบสาเหตุ (Essential hypertension) จนปัจจุบันนี้ก็ยังบอกได้ไม่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุกันแน่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติกรรมพันธุ์สารอาหาร เกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกายไม่ว่าจะเกิดจากอะไร ถ้าจะปฏิบัติตัวหรือรักษาก็จะมีการรักษาอยู่สองประเภทเรียกว่า การรักษาด้วยยา (Pharmacologic treatment) ซึ่งคงต้องฟังจากแพทย์ผู้ดูแลเป็นหลัก และอีกประเภทคือการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา (non pharmacologic treatment) ฟังดูแล้วน่าสนใจทีเดียว เพราะเวลาก็ไม่ต้องเสีย(นั่งรอหมอตรวจ) เงินก็ไม่ต้องใช้ (อาจใช้บ้าง) จะมีอะไรกันบ้างคงต้องอาศัยตามคำแนะนำของสมาคมแพทย์โรคหัวใจของอเมริกา (American heart association) เป็นหลัก ซึ่งแนะนำไว้ดังนี้
- ลดอาหารเค็มคิดเป็นปริมาณเกลือในอาหารให้น้อยกว่า6กรัมประมาณช้อนชากว่าเล็กน้อยต้องรวมอาหารที่มีเกลือ หรือความเค็มแฝงอยู่อื่น ๆ ด้วย เช่นอาหารทะเลผลไม้ดองอาหารสำเร็จต่าง ๆ ถ้าจะเอาให้สั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือไม่ควรเติมเกลือเติมน้ำปลาในอาหารที่รับประทาน
- ออกกำลังพอประมาณที่ว่านี้ไม่ใช่ต้องไปวิ่งมินิมาราธอน หรือเล่นกีฬาอย่างหนักเป็นชั่วโมงแล้วเลิกไปเป็นอาทิตย์ ๆ ที่จำง่าย ๆ คือ เดินเร็ววิ่งเหยาะว่ายน้ำขี่จักรยานครั้งละประมาณ30-40นาที อาทิตย์หนึ่งประมาณ3-4วัน
- เลี่ยงรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวและคลอเลสเตอรอลสูงควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง มีแร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นโดยเฉพาะโปแตสเซียมและแมกนีเซียมซึ่งก็มักจะได้จากอาหารประเภทธัญญพืชผลไม้ข้าวกล้องถั่วงาเป็นต้น
- พักผ่อนทั้งทางร่างกาย และจิตใจลดความเครียดในทางที่ถูกต้องเช่นทำสมาธิการรู้จักสร้างอารมณ์ขัน การปล่อยละวางอย่างเหมาะสม
- ลดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้พอประมาณ ที่ว่าก็คือคนที่ไม่เคยดื่มก็ไม่ต้องไปหัดดื่ม แต่คนที่เคยดื่มมากควรต้องลดปริมาณลงโดยมีหลักดังนี้
วิสกี้ไม่เกิน ¼แก้ว/วันเบียร์ไม่เกิน 1ขวด/วันไวน์ไม่ควรเกิน 1กระป๋อง (250ซีซี/วัน)
- ลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักเกิน
- ข้อสุดท้ายคือหยุดสูบบุหรี่ศัตรูตัวฉกาจของหัวใจนั่นเอง
ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมา ก็ดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับคนที่มีความตั้งใจจริง แต่ที่สำคัญมีข้อแม้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร เพราะผลดีที่จะเกิดต้องอาศัยเวลา
น.พ.วรงค์ ลาภานันต์
กองอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
แพทย์ที่ปรึกษา ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี