ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคแผลในคอ เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)

โรคเฮอร์แปงไจนา มักระบาดในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในเด็กอายุ 3 ถึง 10 ปี เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงพบเท่าๆ กัน

 
อะไรเป็นสาเหตุของโรคเฮอร์แปงไจนา?
 
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มคอกแซกกีไวรัสกรุ๊ปเอ (Coxsackie viruses A sero type 1 – 10, 16 และ 22) กรุ๊ปบี 1 – 5
 
โรคเฮอร์แปงไจนา ติดต่อได้อย่างไร?
 
โรคเฮอร์แปงไจนาเป็นโรคติดต่อได้ง่ายมาก เป็นโรคติดต่อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย จากน้ำลาย ละอองน้ำมุก น้ำลายจากการไอ จาม จากอุจจาระ และจากมือ เข้าสู่ปาก ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 – 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อไปจนกว่าจะหายจากโรค คือ ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์นับจากติดเชื้อ
 
โรคเฮอร์แปงไจนามีอาการอย่างไร?
 
ผู้ป่วยโรคเฮอร์แปงไจนา มักมีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา(ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้
 
ภายใน 24 ชั่วโมง จุดแดงๆ จะกลายเป็นตุ่มแดงขนาดเริ่มต้น 1 – 2 มิลลิเมตร แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร อาจเป็นแผลเล็กๆ ตรงกลางตุ่มน้ำนั้น หรืออาจมีการอักเสบรอบๆ แผลได้ จำนวน 5 – 10 ตุ่ม อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2 – 4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
 
รักษาโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร?
 
รักษาตามอาการ ได้แก่ เช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส หรือยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ) ยกเว้นในรายการที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
 
การให้ยาชากลั้วปาก อาจช่วยในเด็กโตบางคน แต่ส่วนใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็ก แนะนำให้กินน้ำเย็น นมแช่เย็น เนื่องจากความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บเวลากลืน และจะพบอาการภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารไม่มาก
 
เมื่อไรควรนำเด็กพบแพทย์?
 
ควรรีบนำเด็กพบแพทย์ เมื่อเด็กมีอาการมาก ได้แก่
 
1.      เมื่ออาการไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือไข้สูงไม่ยอดลด แม้เช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้ว
2.      กินอาหารไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง
3.      ซึมลง
 
ป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนาอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ล้างมือให้สะอาด ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย หากเด็กป่วยให้งดไปโรงเรียน 1 สัปดาห์
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด