โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s disorder) คืออะไร?
โรคทูเร็ตต์ อยู่ในกลุ่มโรคเดียวกับโรคติกส์(Tic disorder) อ่านออกเสีย“ติ๊ก” อาการ tics เกิดจากการที่สมองสั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (Motor tics) โดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น กระพริบตา อ้าปาก ยักไหล่หรือแขนขากระตก เป็นต้น หรือ อาจมีการเปล่งเสียงขึ้น ( Vocal Tics) จากลำคอหรือจมูก โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจเช่น ไอ กระเอม สูดจมูก ส่งเสียงในลำคอ บางครั้งอาจมีพูดซ้ำ หรือสบถเป็นคำหยาบได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการทั้งสองอย่างเลย คือ Motor และ Vocal tics จึงเรียกว่า โรคทูเร็ตต์ อาการเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก(ไม่เกิน18ปี) พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
ลักษณะอาการเป็นอย่างไร?
อาการมักเริ่มจาก Motor tics จากกล้ามเนื้อมัดเล็กเช่น กระพริบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ไปมัดใหญ่ เช่นยักไหล่ สะบัดคอ จากการเคลื่อนไหวง่ายไปซับซ้อน เช่นกระโดดตบ หรือทำร้ายตัวเอง และเกิด Vocal tics ขึ้นตามมา ซึ่งอาจเป็นเพียงเสียงกระแอมจนไปถึงขั้น สบถคำหยาบคาย (แต่พบได้ไม่บ่อยหนัก) ลักษณะสำคัญของโรคคือ
- ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดอาการเอง แต่บางครั้งจะสามารถกลั้นหรือห้ามการเคลื่อนไหวได้ชั่วคราว(จนบางครั้งทำให้คนใกล้ชิด เข้าใจผิดว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นหรือหยุดเองได้)
- ขณะเกิดอาการต้องมีสติรู้ตัวดี (ไม่เหมือนอาการชักซึ่งจะไม่มีสติ) ผู้ป่วยจะมาความรู้สึกและบอกได้ว่ากำลังจะเกิดอาการ โดยบางคนอาจบอกว่าคัน หรือตึงๆ หรือปวด บริเวณที่กำลังจะเกิดอาการ
- อาการเกิดขึ้นซ้ำๆวันละหลายๆครั้ง เกือบทุกวัน เป็นเรื้อรังนานกว่า 1 ปี แต่อาการอาจเป็นๆหายๆ เป็นช่วง บางครั้งเว้นระยะห่างออกไปแต่ไม่นานเกิน 3 เดือน ก็จะกลับมามีอาการใหม่
- อาการอาจเป็นหนักมากขึ้นถ้ากลั้นเป็นเวลานาน ถูกทัก ดุว่า หรือห้ามไม่ให้ทำ หรือมีความเครียดความกังวลไม่ว่าทางร่ายกายหรือจิตใจ อาการจะเป็นน้อยลงเมื่อผ่อนคลาย และแทบจะไม่มีอาการเลยขณะนอนหลับ
เกิดจากสาเหตุใด?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงแน่ชัดของโรค แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการทำงานของสมองอย่างหนึ่งที่มีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันดังนี้
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ถ้ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคมากขึ้น
- ปัจจัยทางการทำงานของสมอง พบว่ามีความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทบางตัว คือโดปามีน(Dopamine)
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดทางด้านจิตใจ ทำให้อาการเป็นหนักขึ้น
โรคนี้รักษาอย่างไร?
- พาไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ หรือ อาจเป็นโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน เช่น โรคภูมิแพ้ที่ตาหรือจมูก เป็นต้น
- ถ้ามีอาการเล็กน้อย หรือ เป็นมาไม่นาน แพทย์อาจรอดูอาการไปก่อน เพราะอาจเป็นเพียงชั่วคราวและหายเองได้
- คุณพ่อคุณแม่และครอบครัว ควรเห็นใจและเข้าใจว่าอาการเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมองบางส่วน ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจหรือแกล้งทำ และไม่สามารถควบคุมอาการได้ และอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีภาวะเครียดดังนั้น พ่อแม่และบุคคลอื่นๆ เช่น ญาติ เพื่อนหรือครูที่โรงเรียน ไม่ควรพูดทัก ห้ามปราบ หรือเพ่งเล็งที่อาการแต่ควรมองหาและแก้ไขภาวะเครียดที่เป็นสาเหตุ
- ถ้าอาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง หรือส่งผมเสียรบกวนการดำเนินชีวิต เช่น การเรียน การเข้าสังคม แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยา ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง และใช้เวลาในการรักษาพอสมควร
- การรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด ที่เรียกว่า habit reversal training โดยสอนให้ผู้ป่วยรู้ทันอาการขณะเกิด tic (awareness) และฝึกควบคุมอาการด้วยการผ่อนคลาย(relaxation) และทำพฤติกรรมที่ไปด้านการเป็น ticเช่น ถ้ามีอาการคือกระพริบตาถี่ๆ ก็ให้รู้ทันอาการผ่อนคลาย แล้วทอดสายตาไปไกลๆ เพื่อให้ผ่อนคลาย เป็นต้น
- การช่วยเหลือด้านจิตใจ ลดภาวะเครียด และส่งเสริมให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ช่วยเหลือให้มีการปรับตัว และแก้ปัญหาในทางที่เหมาะสม เช่น เมื่อถูกเพื่อนล้อเลี่ยน สนับสนุนให้ได้เรียนในโรงเรียนตามความสามารถของเด็ก โดยไม่ต้องกังวลกับอาการมากเกินไป