ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เบนจามิน บัตตัน เอฟเฟค ความหวังพิชิตความแก่ในมนุษย์ ใกล้เป็นจริง

เบนจามิน บัตตัน เอฟเฟค ความหวังพิชิตความแก่ในมนุษย์ ใกล้เป็นจริง Thumb HealthServ.net
เบนจามิน บัตตัน เอฟเฟค ความหวังพิชิตความแก่ในมนุษย์ ใกล้เป็นจริง ThumbMobile HealthServ.net

นักชีวโมเลกุลแห่งโรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด เปิดเผยผลการทดลองที่โลกต้องตะลึง เมื่อสามารถย้อนวัยในหนูทดลอง จากหนูชราให้กลับมาเป็นหนูหนุ่มอีกครั้ง อนาคตก็ทดลองในมนุษย์อยู่ไม่ไกล

เบนจามิน บัตตัน เอฟเฟค ความหวังพิชิตความแก่ในมนุษย์ ใกล้เป็นจริง HealthServ
ความฝันอยากหนุ่มสาวไปนานๆ ของมนุษย์มีมาเนิ่นนาน และเรื่องราวหนึ่งที่คลาสสิคในใจคนทั่วโลก คือหนังฮอลลีวู๊ด เบนจามิน บัตตัน ของดาราสุดหล่อตลอดกาล แบรด พิตต์ กับนางเอกสาวผู้สง่างามท้ากาลเวลา เคต แบลนเชตต์ เรื่องของชายหนุ่มที่เกิดมาด้วยวัยชราแต่แบเบาะ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับทำให้ชายนั้นหนุ่มขึ้นๆ กระทั่งวาระสุดท้าย ตามคอนเซ็ปต์ของผู้แต่ง เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัล ที่นิยามไว้สั้นๆ แต่ชัดเจนและคลาสสิค "a man is born old and dies young" เกิดในรูปชายแก่ แต่จากไปกับวิญญาณเด็กน้อย 
 
โลกแห่งความเป็นจริง โอกาสเป็นไปได้คือ "ศูนย์"
 
แต่วิทยาศาสตร์ จะพลิกความฝัน ให้เป็นเรื่องจริง 
 
 

ทดลองย้อนวัยในหนูได้สำเร็จ


 
เป็นที่ฮือฮาหลังจากที่ เดวิด ซินแคลร์ นักชีวโมเลกุลแห่งโรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด เปิดเผยผลการทดลองที่โลกต้องอึ้ง คือ การทดลองย้อนวัยในหนูทดลอง ที่เปลี่ยนจากหนูชราให้กลับมาเป็นหนูหนุ่มอีกครั้ง
 
"ใช้โปรตีนบางชนิด จะช่วยเปลี่ยนเซลล์ที่โตเต็มที่ให้กลายเป็นสเตมเซลล์ เป็นการเข้าไปรีเซ็ตเซลล์ที่กำลังเสื่อมชราในหนูทดลองให้กลับไปเป็นเวอร์ชั่นก่อนหน้าของตัวมันเอง" เป็นคำอธิบายเบื้องต้นคร่าวๆ แต่ชัดเจนจากรายงานการทดลองที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ชื่อ Reprogramming to recover youthful epigenetic information and restore vision ของเขาและทีม  เปิดผลการทดลองการเปลี่ยนหนูแก่ที่สายตาแย่และม่านตาเสียหายไปแล้ว ให้กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง และมีประสิทธิภาพเหมือนสายตาตอนวัยหนุ่มเลยทีเดียว 
 
"เราชี้ชัดได้เลยว่า เป็นการรีเซ็ตกลับไปแบบถาวรด้วย และเราก็เชื่อว่ากระบวนนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกายเลยทีเดียว"  ซินแคลร์ กล่าวถึงผลการค้นพบที่เขาและทีมศึกษาและทดลองมายาวนานกว่า 20 ปี ในการคืนความอ่อนเยาว์ให้กับชีวิต
 
"หากเราย้อนวัยกลับได้ โรคต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น ปัจจุบันโลกมีเทคโนโลยีที่จะพามนุษย์ไปสู่วัย 70 ได้โดยไม่ต้องกลัวมะเร็ง สู่วัย 80 แบบไม่พะวงกับโรคหัวใจ หรือเข้าสู่วัย 90 แบบไม่แคร์อัลไซเมอร์ เลย และอยากให้รู้ไว้ว่า โลกกำลังเดินไปสู่จุดนั้น คำถามคือว่าเมื่อไหร่เท่านั้น ที่เราทุกคนจะได้โอกาสนั้น แต่แน่นอนว่า มันจะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตเราแน่" ซินแคลร์เผยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อันน่าทึ่งนี้ให้กับผู้ฟังในงาน Life Itself ที่จัดโดย CNN เร็วๆ นี้ 
เบนจามิน บัตตัน เอฟเฟค ความหวังพิชิตความแก่ในมนุษย์ ใกล้เป็นจริง HealthServ
 

แนวคิดสำคัญข้อหนึ่งคือ การพลิกมุมมองต่อความชราใหม่ โดยมองว่า "ความชรา" นั้นคือ "โรค" และเมื่อมันเป็นโรค ก็ย่อมต้องมีทางรักษาได้ ขณะที่ยาสมัยใหม่ที่ผลิตขึ้นมามุ่งแก้/รักษาที่อาการของโรค แต่ไม่ลงลึกถึงเหตุของโรค ซึ่งซินแคลร์ชี้ว่า 
 
"เหตุของโรคต่างๆ ก็มาจากความชรานั่นเอง  จากการทดลอง เรารู้ว่า เมื่อทดลองย้อนวัยของอวัยวะอย่างสมองของหนูได้ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองจะหายไป ความทรงจำกลับมา จะไม่เป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) อีกต่อไป"
 
ซินแคลร์เชื่อว่า "ในอนาคต การชะลอและย้อนวัย เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการขจัดโรคภัยที่จะเกิดกับมนุษยชาติ"
 


 
 

ปุ่มรีเซ็ทย้อนวัย ทำงานอย่างไร

 
เพื่อเข้าใจการทำงานของการย้อนวัยของทีมซินแคลร์ ต้องกลับไปที่ห้องทดลองของพวกเขา 
 
จากการทดลองที่ใช้หนู 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นตัวหนุ่ม อีกตัวแก่กว่าและอ่อนแอ แต่ความจริงคือทั้งสองตัวเป็นพี่สาวน้องชายกัน เกิดจากครอกเดียวกัน เพียงแต่ตัวที่แก่กว่าถูกปรับแต่งยีนให้แก่เร็วขึ้น 
 
ซินแคลร์บอกกับทีมว่า ในเมื่อเราปรับยีนเร่งให้หนูแก่เร็วขึ้นได้  แล้วเราจะปรับยีนให้ย้อนกลับไปตอนหนุ่มไม่ได้หรือ 
 
เป็นคำถามท้าทายมาก
 

ก่อนหน้านี้ ดร.ชินยะ ยามานากะ (Dr. Shinya Yamanaka) นักค้นคว้าด้านชีวเภสัชชาวญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการ โปรแกรมให้เซลล์ผิวหนังที่โตเต็มวัย (adult cell) กลับไปมีพฤติกรรมเสมือนเป็น สเต็มเซลล์ของตัวอ่อน (embryonic) หรือ สเต็มเซลล์ต้นแบบได้ (pluripotent stem cells - โปรแกรมเซลล์ย้อนกลับ (cellular reprogramming) เซลล์ร่างกายหลังผ่านกระบวนการนี้จะมีสภาพเหมือนกับสเต็มเซลล์ระยะตัวอ่อนทุกประการ - เภสัช มหิดล) ซึ่งใช้ได้กับทุกเซลล์ในร่างกาย วิธีการนี้ เรียกว่า "iPSC หรือ iPS cell" ย่อมาจาก induced pluripotent stem cells (เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนไอพีเอส คือ สเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่เกิดจากการชักนำด้วยปัจจัยจำเพาะ [เภสัช มหิดล] หรือบางที่เรียกว่า สเต็มเซลล์ที่ได้จากการปรับแต่งยีน - เป็นสเต็มเซลล์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เซลล์ที่เจริญเต็มวัยเต็มที่ กลับไปมีคุณสมบัติคล้ายสเต็มเซลล์ตัวอ่อน) 
 
 
จากค้นพบนี้ ต่อมารู้จักกันในชื่อ "ยามานากะ แฟคเตอร์ Yamanaka Factors" และทำให้ ดร.ยามานากะ ได้รับรางวัลโนเบลปี 2007 (2555)
 
แต่ผลที่เกิดจากโปรแกรมเซลล์ย้อนกลับ ด้วยวิธี ยามานากะ แฟคเตอร์ จะทำให้เซลล์สูญเสียการจดจำอัตลักษณ์ของมันไป กล่าวคือ เซลล์จะไม่รู้ว่าตัวเองคือเซลล์เลือด หรือ เซลล์หัวใจ หรือ เซลล์ผิวหนัง เหมือนกับว่า กลับไปเป็นเหมือนเซลล์แรกเริ่ม ซึ่งไม่ตอบโจทย์ การฟื้นฟูสภาพอย่างที่ต้องการ เหตุเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้อนไปใช้เซลล์ต้นแบบๆ นั้น

 
ประเด็นปัญหานี้อยู่ในความสนใจและแลปทั่วโลกต่างพยายามหาทางออก ในปี 2016 มีรายงานจากสถาบันชีววิทยาศึกษาซอลค์ ในแคลิฟอร์เนีย** ตีพิมพ์รายงานระบุว่า พบสัญญาณ ในโปรตีน 4 ชนิดจากการใช้ ยามานากะ แฟคเตอร์ ว่าสามารถที่จะขจัดความชราออกไปได้ โดยไม่ลบล้างความจำด้านอัตลักษณ์ของเซลล์ (โปรตีน 4 ชนิด  ได้แก่ Oct4, Sox2, Klf4, c-MYC)
 
แต่ผลกระทบจากกระบวนการนี้ คือจะก่อให้เกิดเนื้อร้ายที่พัฒนาไปเป็นมะเร็งได้
 
เพื่อเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว หนึ่งในทีมซินแคลร์ ชื่อ หลู่ หยวนเชิง (Yuancheng Lu) ทดลองเลือกใช้โปรตีนเพียง 3 จาก ทั้งหมด 4 ชนิด  แล้วนำไปเพาะลงไปในไวรัสชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแทน ไวรัสชนิดนี้ถูกออกแบบให้นำพาเอาโปรตีน ยามานากะ แฟคเตอร์ เข้าไปยังด้านหลังของเซลล์ปมประสาทจอรับภาพที่ชำรุดของหนูแก่ที่นำมาทดลอง  และหลังจากฉีดไวรัสนี้เข้าไป ยีนต้นแบบ (pluripotent genes) เริ่มทำงานโดยการกระตุ้นการหลั่งยาปฏิชีวนะให้กับหนูอีกครั้ง
 
"ยาปฏิชีวนะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ความจริงอาจเป็นสารเคมีชนิดอื่นใดก็ได้ ขอเพียงให้กระตุ้นให้โปรตีน 3 ตัวทำงานได้เป็นใช้ได้ ปกติแล้วโปรตีน 3 ตัวนี้จะทำหน้าที่พัฒนาสเต็มเซลล์ของตัวอ่อน ในช่วงอายุน้อยๆ และจะหยุดทำงานเมื่อเริ่มอายุมากขึ้น" 
 
และผลที่น่าทึ่งสุดๆ จากการทดลองนี้  พบว่า โครงข่ายนิวรอนของประสาทตาที่เสียหาย กลับฟื้นคืนสภาพด้วย 3 เซลล์ เส้นประสาทใหม่ขยายตัว ปรับการมองเห็นที่ส่งไปยังสมอง เรียกว่าฟื้นสภาพสายตาที่เสียไปกลับคืนมาได้อย่างดี และจากผลการทดลองนี้ ได้มีการต่อยอดทดลองในอวัยวะส่วนอื่นๆ อาทิ กล้ามเนี้อและสมองด้วย ขณะนี้ได้ขยายการทดลองไปในทุกๆ ส่วนของตัวหนู
 

ซินแคลร์อธิบายว่า "เซลล์รู้อยู่แล้ว ว่าร่างกายสามารถจะรีเซ็ตตัวเองได้ และรู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องสั่งให้ยีนไหนทำงาน ในช่วงอายุน้อยๆ ความรู้นี้เหมือนพาเราไปยังโลกวิวัฒนาการยุคโบราณ ที่สัตว์บางชนิดสามารถสร้างอวัยวะที่สูญเสียไป ให้คืนกลับมาและใช้งานเหมือนเดิมได้  ตัวอย่างเช่น ขากิ้งก่าที่ถูกตัด จะงอกใหม่ได้ หรือหางปลาที่ขาด ก็งอกใหม่ได้  หรือนิ้วของหนูที่ขาดไป ก็งอกกลับมาใหม่ได้ เป็นต้น  มันคือคำยืนยันชัดเจนว่า  ในร่างกายนั้น "มีสำเนาสำรอง" ของความเยาว์วัยเก็บไว้อยู่แล้ว" 


 
"ผมจะเรียกว่าเป็นข้อมูลทฤษฎีว่าด้วยความชรา กล่าวถึง ข้อมูลที่สูญหายไปของเซลล์ทำให้ลืมบทบาทหน้าที่ไป ลืมกระทั่งว่าตัวเองเป็นเซลล์ชนิดใด และการทดลองนี้ช่วยให้เราก้าวเข้าไปปรับและเปิดให้เซลล์กลับมาสู่ศักยภาพในการอ่านค่าจีโนมอย่างถูกต้องอีกครั้ง ราวกับเป็นวัยหนุ่มสาวช่วงอายุน้อยๆ เลยทีเดียว" 
 
แล้วกระบวนการนี้ทำให้คงความเยาว์ไว้ได้นานเพียงใด คำตอบคือไม่ตลอดไป ยังไงร่างกายก็จะเริ่มโรยรา แต่เมื่อถึงเวลานั้น ก็สามารถเริ่มกระบวนการฟื้นฟูใหม่ได้อีก สิ่งที่เราค้นพบเสมือนเป็นปุ่มวิเศษที่เพียงแค่กดก็ย้อนเวลาได้แล้ว เมื่อสั่งรีเซต ร่างกายจะตื่นตัวอีก ทั้งยังจดจำพฤติกรรมเดิมๆได้ จดจำได้ว่าฟื้นตัวอย่างไร และกลับไปมีภาวะเยาวัยอีกครั้งได้ ถึงแม้ว่าจริงๆ เราจะแก่และมีความเจ็บป่วยก็ตาม" 
 
 
 
 

วิทยาศาสตร์ เผยความลับการชะลอวัยในมนุษย์ 

 
การศึกษาเกี่ยวกับยีนในหนูทดลองที่กล่าวมา ระยะต่อไปจะนำไปทดลองในมนุษย์อย่างแน่นอน แต่อาจใช้เวลาอีกนาน กว่าจะมีข้อสรุป วิเคราะห์ประเมินผลสำเร็จ และสุดท้ายต้องผ่านการรับรองจากกทางการก่อนจะนำไปใช้ในวงกว้างได้  ระหว่างนี้ ซินแคลร์เผยว่า ยังมีเทคนิคชะลอแก่และรีเซ็ตนาฬิกาชีวภาพในตัวคนหลายวิธี ซึ่งเขาเปิดเผยไว้ในหนังสือของเขา อาทิ เช่น กินอาหารพืช กินให้น้อยลง นอนให้พอ ออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อทุกๆ สัปดาห์ รีดเหงื่อให้หนักๆ และ เข้าสังคมที่ดี  พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่อ epigenome (พันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม) โปรตีนและเคมีต่างๆ ที่แทรกอยู่ระหว่างยีน และรอที่จะส่งคำสั่งไปยังยีน ให้ทำสิ่งนั้น ไปที่นั้น ณ เวลานั้น เป็นต้น อิทธิพลสำคัญของ epigenome คือสั่งให้เปิดหรือปิดการทำงานของยีนได้ 
 
แล้วอะไรที่ควบคุม epigenome อีกทีล่ะ คำตอบคือสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมนั่นเอง  ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมุติร่างกายมียีนที่ผิดปกติที่จะก่อให้เกิดโรคหัวใจหรือเบาหวาน แต่หากคนนั้นหมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารพืช หลับให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้ดีดี ความเป็นไปได้ที่ยีนร้ายตัวนั้นจะไม่ทำงาน โรคก็ไม่เกิด เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นแบบฟันธงว่า ชะตากรรมการเกิดโรคคนใคร ย่อมอยู่ในมือคนๆ นั้นเองที่จะจัดการกับมัน
 
ลดการกินช่วยได้
 
วิทยาศาสตร์ยืนยันมานานแล้วว่าการลดการบริโภคอาหาร - แต่ไม่ใช่อดจนขาดสารอาหาร - นั้นช่วยให้ชีวิตยืนยาว จากการศึกษาในสัตว์หลายชนิด โดยการจำกัดปริมาณแคลอรี่ จะช่วยชะลอการก่อตัวของความผิดปกติหรือโรคอย่างมะเร็ง โรคหัวใจหรือเบาหวานได้ บางการทดลองบ่งชี้ว่าสามารถยืดอายุขัยให้นานขึ้นได้ด้วย แต่สำหรับการทดลองในมนุษย์อาจมีผลลัพธ์ที่ต่างไปบ้าง เหตุเพราะเป้าหมายการศึกษามักมุ่งไปด้านการลดน้ำหนักมากกว่าจะเป็นเรื่องการยืดอายุขัย (longevity) 
 
ซินแคลร์ เชื่อว่าการควบคุมอาหาร โดยทานเพียงวันละมื้ออย่างที่เขาปฏิบัติมานาน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรีเซตระบบนาฬิกาชีวภาพในตัว อ้างอิงจากผลทดสอบของเขาเองที่มีผลตรวจบ่งบอกว่าเขามีระบบชีวภาพเท่ากับคนอายุ 42 ปี แม้ว่าตัวเขาเองจะอายุ 53 ปีแล้วก็ตาม 
 
"เดี๋ยวนี้ผมกินวันละมื้อ เห็นผลชัดเจนมาก ตลอด 10 ปีมานี้ร่างกายผมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก" ซินแคลร์ทิ้งท้าย 
 
 
 
ที่มา CNN By Sandee LaMotte
3 มิถุนายน 2565
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด