ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สารพัดวิธี ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค​​

สารพัดวิธี ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค​​ Thumb HealthServ.net
สารพัดวิธี ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค​​ ThumbMobile HealthServ.net

โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญกับร่างกาย แต่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างโซเดียมขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องรับจากอาหารที่กินเข้าไปแต่ละวัน โซเดียมเป็นส่วนประกอบในอาหารธรรมชาติแทบทุกชนิดโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ นม ไข่ ผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง และในอาหารไม่ธรรมชาติ (อาหารแปรรูป) หลายชนิดในปัจจุบัน อาทิ เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป เบเกอรี่ ขนมปัง ขนมที่มีการเติมผงฟู และเครื่องดื่มบางชนิดด้วย

 
โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญกับร่างกาย มีประโยชน์หน้าที่ ดังนี้
- ช่วยควบคุมสมดุลของน้ำนอกเซลล์และในระบบหมุนเวียนเลือดของร่างกาย
- ช่วยนำกรดอะมิโนและสารอื่นๆ ไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย
- ควบคุมสมดุลของกรด-ด่าง ในร่างกาย
 
แต่โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องรับจากอาหารที่กินเข้าไปแต่ละวัน
 
WHO กำหนดคำแนะนำ ปริมาณโซเดียมในอาหารที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน
 
 
สารพัดวิธี ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค​​ HealthServ
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดว่า ความต้องการสูงสุดของโซเดียมที่ร่างกายได้รับและไม่ทำให้เกิดอันตราย คือ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ คิดเป็นเกลือป่นประมาณ 6 กรัม (1 ช้อนชา)
 
ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการรับโซเดียม ขึ้นกับอายุ เพศและภาวะ ดังนี้
 
อายุ 9 - 12 ปี เพศชาย 400 - 1,175 เพศหญิง 350 - 1,100
อายุ 13 - 15 ปี เพศชาย 500 - 1,500 เพศหญิง 400 - 1,250
อายุ 16 - 18 ปี เพศชาย 525 - 1,600 เพศหญิง 425 - 1,275
อายุ 19 - 30 ปี เพศชาย 500 - 1,475 เพศหญิง 400 - 1,200
อายุ 31 - 70 ปี เพศชาย 475 - 1,450 เพศหญิง 400 - 1,200
อายุ มากกว่า 70 ปี เพศชาย 400 - 1,200 เพศหญิง 350 - 1,050
หญิงตั้งครรภ์ เพิ่ม 50 - 200
หญิงให้นมบุตร เพิ่ม 125 - 350
 

แหล่งอาหารที่มีโซเดียม

หลักๆ ก็มาจาก
 
1. อาหารธรรมชาติ 
มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบแทบทุกชนิดโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าพวกผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง (ที่ยังไม่แปรรูป)

2. เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ
อาทิ เกลือป่น น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้ม และ ฯลฯ 

3. อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร
ได้แก่ อาหารกระป่องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า และผัก/ผลไม้ดอง และ ฯลฯ

4. ขนมที่มีการเติมผงฟู
ได้แก่ เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง และแป้งสำเร็จรูป ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่าจะนี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
 
*สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 
 
 
ศูนย์เบาหวานศิริราช แนะนำหลักง่ายๆ ในลดโซเดียม 
• เลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ และควรปรุงอาหารโดยเครื่องปรุงรสต่างๆ ให้น้อยที่สุด
• ลดการใส่ผงชูรสในอาหาร
• หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง/แช่อิ่ม อาหารกระป๋อง และเบเกอรี
• ลดการกินอาหารที่มีน้ำจิ้ม เช่น สุกี้ เป็นต้น
• ปรับนิสัยการกินอาหารให้กินจืดลง ไม่เติมเครื่องปรุงรสต่างๆ เพิ่มในอาหารที่ปรุงแล้ว
• อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง โดยดูที่ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์นั้นๆ
 
 

รู้หรือไม่ เรื่องโซเดียม

โซเดียมนั้นมีประโยชน์ แต่ถ้าร่างกายได้รับโซเดียมเกินความต้องการมากๆ เข้า ก็อาจส่งผลเสียได้ทั้งไตและหัวใจ ยังมีความรู้เกี่ยวกับโซเดียมที่ยังไม่รู้หรือยังเข้าใจไม่ถูกต้องอีกมากที่ต้องค่อยเรียนรู้กัน เพื่อจะได้ระวังป้องกัน
  • โซเดียมไม่ได้มากับความเค็มเสมอไป ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ไม่เค็ม แต่มีโซเดียมแฝงอยู่ 
  • อาหารหวานหลายประเภท แต่ก็มีโซเดียมอุดมนะจ๊ะ ทำให้เราได้รับความเค็มโดยไม่รู้ตัว ก็คืออาหารมีโซเดียมแฝงต่างๆ อาทิ เค้ก ขนมปัง พิซซ่า น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ฯลฯ อ่านเรื่อง 5 ประเภทโซเดียมแฝง โดยกรมอนามัย (ด้านล่าง)
  • โรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมมากเกินไป เช่น ไตวาย โรคกระดูกพรุน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด
  • สังเกตปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ ช่วยให้เรารู้ปริมาณการรับโซเดียมได้ หลักจำง่ายคือ อาหารมื้อหลักไม่ควรให้โซเดียมเกิน 600 มก./วัน ส่วน อาหารว่างไม่ควรมีโซเดียมเกิน 200 มก./วัน
  • กินน้ำมากๆ และการออกกำลังกายอาจไม่ได้ช่วยขับโซเดียมได้มากอย่างที่คิด 
  • ไตมีความสามารถขับโซเดียมผ่านน้ำปัสสาวะ ได้ 450-500 mEq ต่อวัน หรือประมาณ 10,350 - 11,500 มก. เท่ากับการกินเกลือ 5.2 - 5.75 ช้อนชา
  • การออกกำลังกายไม่ใช่กลไกหลักในการขับโซเดียม ร่างกายขับเหงื่อเพื่อขับความร้อนและรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ โซเดียมออกมาทางเหงื่อได้ แต่น้อยมาก อ่าน กลไกการขับโซเดียมออกจากร่างกาย
  • คนป่วยเบาหวาน ต้องระมัดระวังการบริโภคโซเดียมมากเกิน เพราะมีผลต่อไต อ่านเพิ่มเติม 

ข้อมูลรายงานการศึกษาเรื่องโซเดียมที่น่าสนใจ

  • รายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทย การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 ในกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,696 คน อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมจากอาหารเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 19-59 ปี บริโภคโซเดียมสูงถึง 2,961.9 – 3,366.8 มิลลิกรัม/วัน หรือประมาณ 1.5-1.8 เท่า ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน [รพ.ราชวิถี]
  • มีการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโซเดียมและความเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินในคนจำนวน 5,955 คน พบว่า คนที่บริโภคโซเดียมมากมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำหนักเกิน โดยผู้ชายจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงจะกระตุ้นให้ทางอาหารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น [รพ.ราชวิถี]
  • นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 รายหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต
  • มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 รายซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดคือขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

อาหาร 5 ประเภทโซเดียมแฝง โดยกรมอนามัย (ด้านล่าง)

กรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า อาหาร 5 ประเภท ที่มีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่นอกจากเกลือ ได้แก่
  1. เครื่องปรุงรส ทั้งที่มีรสเค็มและไม่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว กะปิ ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า ซุปก้อน ผงชูรส เครื่องปรุงรส เป็นต้น
  2. อาหารแปรรูป ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักผลไม้ดอง  มักมีโซเดียมสูงจากเกลือ และโซเดียมแฝงจากวัตถุเจือปนอาหาร
  3. ขนมที่มีการเติมผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง แป้งสำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากผงฟูมีโซเดียมแฝงเป็นองค์ประกอบ
  4. เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้ มักมีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมเกลือปรุงรสชาติ และโซเดียมแฝง จากวัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะสารกันบูด
  5. อาหารธรรมชาติทุกชนิด มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ โดยเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง ที่ยังไม่แปรรูป  แต่อย่างไรก็ตาม อาหารธรรมชาติถือว่ามีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งทั้งหมด และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้รับอีกด้วย

สารพัดสารที่มีชื่อโซเดียม ที่นำมาใช้ในอาหาร

เกลือเป็นโซเดียมที่มีรสเค็ม แต่โซเดียมก็มีอีกหลายอย่างที่นำมาใช้ในอาหาร จะเรียกกันว่าเป็น "โซเดียมแฝง"  เพราะชื่อและองค์ประกอบทางเคมี จะมีโซเดียมอยู่ทั้งสิ้น มีอะไรบ้าง 
  • โมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือผงชูรส วัตถุเจือปนอาหาร ที่มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น รสชาติแปลกๆ แต่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้นได้ ซึ่งสารกลูตาเมตในผงชูรสนั้นจะไปกระตุ้นตุ่มรับรสในปาก และลำคอให้ขยายตัวจึงทำให้รับรสได้ไวกว่าปกติ ทำให้อาหารที่โมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือผงชูรสนั้นมีความอร่อย
  • โซเดียมไนไตรท์ วัตถุเจือปนอาหาร ที่มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น รสชาติออกไปทางเค็ม ช่วยป้องกันการเน่าเสียของอาหาร และทำให้เนื้อสัตว์มีสีที่สดใหม่อยู่เสมอ โซเดียมไนไตรท์มักจะอยู่ในอาหารจำพวก ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง และปลาเค็มตากแห้ง เป็นต้น
  • โซเดียมเบนโซเอต หรือสารกันบูด ที่มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว สามารถละลายในน้ำได้ มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ จึงใช้โซเดียมเบนโซเอต หรือสารกันบูด ใช้ในการถนอมอาหาร เพื่อให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้นานกว่าปกติ สารกันบูดมักจะอยู่ในอาหารจำพวก น้ำอัดลม น้ำผลไม้ อาหารดอง และน้ำส้มสายชู เป็นต้น
  • โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ละลายในน้ำได้ ช่วยให้ลักษณะอาหารฟูขึ้น เบกกิ้งโซดามักจะอยู่ในอาหารจำพวก เบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ และขนมปัง เป็นต้น
  • โซเดียมอัลจิเนต หรือ วัตถุเจือปนอาหาร ที่มีคุณสมบัติที่ทำให้ให้เกิดการคงตัว ลักษณะอาหารที่ใช้โซเดียมอัลจิเนตเป็นส่วนประกอบ จึงมีลักษณะหนืด ข้น มักจะอยู่ในอาหารจำพวก เจลลี่ ไข่มุก และไอศกรีม เป็นต้น
  • โซเดียมซอร์เบต เป็นสารกันเสียชนิดหนึ่ง ใช้ในการถนอมอาหาร เพื่อให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้นานกว่าปกติ มักจะอยู่ในอาหารจำพวก เนย ชีส และโยเกิร์ต เป็นต้น

ปริมาณโซเดียมในน้ำจิ้มสุดโปรดสูตรต่างๆ

 

โซเดียมกับคนป่วยเบาหวาน

โซเดียม ส่งผลมากกับคนป่วยเบาหวาน เพราะเมื่อมีโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย จะเร่งภาวะการเสื่อมของไตให้เร็วขึ้น เนื่องจากไตมีหน้าที่ขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย เมื่อไตเสื่อมจนไม่ สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้จะทำให้มี การกักเก็บน้ำไว้ภายในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการบวมขึ้น ผู้เป็นเบาหวานควรระมัดระวังในการเลือกกินอาหารเพื่อถนอมไตไว้ใช้ให้นานที่สุด โดยเลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ โดยไม่มีการปรุงแต่งรสใดๆ ซึ่งจะทำให้ ร่างกายได้รับโซเดียมเพียงพอกับความต้องการแล้ว [ศูนย์เบาหวานมหิดล]

การกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ 3 ทาง

การกำจัดโซเดียมส่วนเกินนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายได้ 3 ทาง  คือ
 
1. การขับโซเดียมผ่านทางไต
 
การขับโซเดียมไอออน (Na+) ออกทางไตเป็นทางสำคัญและร่างกายมีกลไกควบคุมการขับถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยจะขับโซเดียมไอออน (Na+) ออกในรูปของปัสสาวะ ซึ่งโซเดียมไอออน (Na+) ประมาณร้อยละ 50 ของโซเดียมไอออน (Na+) ส่วนเกินจะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะในวันแรก  ส่วนที่เหลือจะถูกขับถ่ายออกหมดใน 3-4 วันต่อมา  ในทางตรงข้ามถ้าร่างกายไม่ได้รับ โซเดียมไอออน (Na+)  ไตจะสงวนโซเดียมไอออน (Na+) ไว้ จนปริมาณที่ออกมาทางปัสสาวะลดลงเหลือวันละ 5-10 มิลลิโมลได้  ถ้าขาด ติดต่อกันนานถึง 7 วัน       

ในคนปกติทั่วไปจะมีปริมาณโซเดียมไอออน (Na+) ในร่างกายคงที่ การกินเกลือ Na+ระหว่าง 0-23 g จะทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ประมาณไม่เกินร้อยละ 10 และในทุก 140 มิลลิโมล ของโซเดียมไอออน (Na+)  ที่เพิ่มขึ้น ร่างกายจะเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 1 ลิตร ดังนั้นการไตจึงเป็นอวัยวะที่มีสำคัญมากต่อการรักษาสถานภาพปกติของโซเดียมไอออน (Na+) ในร่างกาย
 
2. การขับโซเดียมผ่านทางเหงื่อ
 
ร่างกายจะสูญเสียโซเดียมไอออน (Na+) ทางเหงื่อวันละประมาณ 25 มิลลิโมล การขับโซเดียมไอออน (Na+) ออกทางเหงื่อนั้น เป็นผลจากร่างกายต้องการขับความร้อนออกมา (โดยใช้น้ำเป็นตัวนำความร้อน) เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ การที่โซเดียมถูกขับออกมากับเหงื่อจึงไม่มีผลต่อการควบคุมจำนวนโซเดียมในร่างกาย
 
3. การขับโซเดียมผ่านทางอุจจาระ
 
ปกติร่างกายขับโซเดียมไอออน (Na+) ออกทางอุจจาระน้อยมาก  ประมาณวันละ  5-10 มิลลิโมล  แต่การเสียโซเดียมไอออน (Na+) ผ่านทางนี้ในจำนวนมากนั้น อาจเกิดได้ในรายที่มีอาการท้องเดินหรืออาเจียนอย่างรุนแรง เนื่องจากน้ำในระบบทางเดินอาหารมีความเข้มข้นของอิเล็คโตรไลท์ (electrolyte) สูงมากกว่าในพลาสม่าและยังถูกขับออกมาจำนวนมากประมาณ 8 ลิตรต่อวัน ซึ่งการสูญเสียน้ำในทางเดินจำนวนมาก จะส่งผลให้มีการขับโซเดียมไอออน (Na+) เพิ่มขึ้นด้วย
 
ดังนั้นการได้รับโซเดียมไอออน (Na+) ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมนั้น ล้วนเป็นผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น แต่จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ได้รับโซเดียมมากกว่าสองเท่า ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งมีผลให้เกิดภาวะโซเดียมไอออน(Na+) เกิน  [กรมควบคุมโรค]


ส้มตำ 1 จาน มีโซเดียมเฉลี่ย 2,000 มก.

เพจลดพุง ลดโรค 

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ และอาหารจานเดียว

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ 
 
เกลือป่น 1 ช้อนชา 2,000 มิลลิกรัม
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ 1,350 มิลลิกรัม
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ 1,190 มิลลิกรัม
ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ 1,187 มิลลิกรัม
ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ 518 มิลลิกรัม
น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ 385 มิลลิกรัม
ซอสพริก 1 ช้อนโต๊ะ 231 มิลลิกรัม
ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ 149 มิลลิกรัม
 
 
ตัวอย่างปริมาณโซเดียมในอาหารจานเดียว (ต่อ 1 จาน/ชาม)
 
บะหมี่น้ำหมูแดง 1,480 มิลลิกรัม
ผัดซีอิ๊ว 1,352 มิลลิกรัม
แกงส้มผักรวม 1 ชาม 1,130 มิลลิกรัม
ส้มตำอีสาน 1,006 มิลลิกรัม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ 977 มิลลิกรัม
ผัดผักบุ้งไฟแดง 894 มิลลิกรัม
ปอเปี๊ยะสด 562 มิลลิกรัม
ข้าวไข่เจียว 362 มิลลิกรัม
สุกี้น้ำ 1,560 มิลลิกรัม
เส้นใหญ่เย็นตาโฟ 1 ชาม 1,417 มิลลิกรัม
ข้าวหมูกรอบ 700 มิลลิกรัม 

ตัวบวม ผิวเหี่ยวแห้งกร้าน อาจเป็นเหตุจากกินโซเดียมมากเกินได้ LINK

ตัวบวม ผิวเหี่ยวแห้งกร้าน อาจเป็นเหตุจากกินโซเดียมมากเกินได้ สารพัดวิธี ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค​​
ตัวบวม ผิวเหี่ยวแห้งกร้าน อาจเป็นเหตุจากกินโซเดียมมากเกินได้ สารพัดวิธี ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค​​
ตัวบวม ผิวเหี่ยวแห้งกร้าน มีหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจแก้ไขยาก แต่ถ้าเป็นสาเหตุจากการกินอาหารที่มีโซเดียมมากและบ่อยเกินไป สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน เริ่มจากลดซด ลดปรุง ลดจิ้ม ตั้งแต่มื้อนี้กันนะ #ลดปรุง #ลดโซเดียม #ลดเค็มลดโรค ​​

โซเดียมกับผลเสียต่อไต

จากการที่มีการคั่งของน้ำและระดับความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น  เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น  นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่าง   ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น 
 
ไตเป็นอวัยวะที่ช่วยในการปรับระดับโซเดียมในร่างกายคนเรา เมื่อปริมาณโซเดียมสูงเกินไป ไตจะขับถ่ายออกมา ในทางกลับกันถ้าร่างกายต้องการโซเดียม ไตจะทำงานโดยดูดสสารนั้นกลับสู่เลือด แต่เมื่อใดที่ไตทำงานผิดปกติไม่สามารถขับโซเดียมได้ในปริมาณที่เหมาะสม จนร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกายก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าระดับเลือดก็จะสูงขึ้นด้วย เมื่อปริมาณเลือดสูงขึ้น เลือดต้องวิ่งผ่านไปยังเส้นเลือดมากขึ้น  เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งหัวใจก็ต้องสูบฉีดหนักขึ้น เพราะปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น 
 
การได้โซเดียมมากเกิน  เป็นสาเหตุทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน   ภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ  เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา  พบว่าในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วหากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม   ควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต  แต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด

น้ำพริกกะปิ 1 ถ้วย มีโซเดียมเฉลี่ย 2,250 มก.

เพจลดพุง ลดโรค 

โซเดียมสูง เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงนั้น มีหลายปัจจัย ได้แก่ กรรมพันธุ์, ความอ้วน, ระดับไขมันในเส้นเลือด, ความเครียดทางจิตใจ รวมทั้งพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เคยชินเช่น การรับประทานอาหารรสเค็มโดยในภาวะปกติร่างกายมีกลไกการปรับความดันโลหิตให้มีค่าอยู่ในระดับปกติและคงที่อยู่เสมอ ด้วยกลไกดังนี้
 
1. กลไกการปรับความดันโลหิตที่เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว หมายถึง กลไกที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการปรับ ได้แก่
 
1.1 กลไกทางระบบประสาท ซึ่งได้แก่ปฏิกิริยา Reflex โดย Reflex ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันโลหิตคือ baroreceptor reflex, chemoreceptor reflex และ central nervous system, ischemic mechanism โดยอาศัยตัวรับรู้ (receptor) ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต ซึ่งอยู่บริเวณผนังของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เมื่อตัวรับรู้ (receptor) ของ Reflex ถูกกระตุ้น โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิต จะเกิดการเปลี่ยนแปลงความถี่ของสัญญาณคลื่นประสาทที่ไปยังสมองส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดของหลอดเลือด การเต้นของหัวใจ และความแรงของการบีบตัวของหัวใจ และทำให้ความดันโลหิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
 
1.2 กลไกทางฮอร์โมนและสารเคมี เป็นกลไกควบคุมความดันโลหิตที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วโดยอาศัยบทบาทของฮอร์โมนและสารเคมีด้วยซึ่งได้แก่ nor epinephrine- epinephrine system, rennin-angiotensin system และ vasopressin(ADH)

1.2.1 ฮอร์โมน nor epinephrine และ epinephrine ซึ่งมีผลต่อระบบไหลเวียน คือ ทำให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น หลอดเลือดส่วนใหญ่ในร่างกายหดตัวทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ความดันโลหิตสูงขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มcardiacoutput และความต้านทานส่วนปลาย               

1.2.2 ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน (renin-angiotensin system) เป็นกลไกของการปรับความดันโลหิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกชนิดหนึ่งและยังสามารถควบคุมในระยะยาวได้อีกด้วยถือเป็นระบบที่มีความสำคัญมาก โดยถูกกระตุ้นเมื่อมีระดับความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง โดยระบบเรนิน-แองจิโอเทนซินนั้น มีผลต่อการปรับเปลี่ยนระดับความดันโลหิตสูง, มีอิทธิพลต่อหลอดเลือดเป็นอย่างมากมากและมีฤทธิ์ในการกระตุ้นมากกว่านอร์อิพิเนฟรินประมาณ 200 เท่า โดยการทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวและยับยั้งการขับออกของเกลือและน้ำที่ไตจึงมีผลกระตุ้นการผลิตและหลั่งฮอร์โมนอันโดสเตอโรนซึ่งไปยับยั้งการขับเกลือและน้ำ 
 
2. กลไกการปรับความดันโลหิตที่ต้องใช้เวลานาน หมายถึง กลไกที่ใช้เวลานานในการปรับระดับความดันโลหิต ซึ่งเกิดขึ้นช้ากว่ากลไกของระบบประสาท ได้แก่ การควบคุมปริมาตรของเลือดโดยกลไกทางหลอดเลือดฝอยและกลไกทางไต

2.1 กลไกทางหลอดเลือดฝอย (capillary fluid shift) โดยเมื่อความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง จะมีผลไปถึงความดันในหลอดเลือดฝอยด้วย ทำให้สมดุลของการแลกเปลี่ยนสารน้ำผ่านผนังหลอดเลือดฝอยถูกรบกวนไปด้วย 

2.2 กลไกทางไต (Renal body fluid mechanism) การปรับความดันโลหิตโดยบทบาททางไตเป็นกลไกที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในช่วงแรกของการปรับต้องอาศัยกลไกอื่นๆ ที่ตอบสนองภายในเวลาอันรวดเร็วกว่าร่วมด้วยกลไกทางไตทำได้โดยอาศัยบทบาทการทำงานของระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน ทำให้เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลับของโซเดียมและน้ำ คือ aldosterone และโดยการออกฤทธิ์ของ vasopressin ทำให้มีการดูดกลับของน้ำที่หลอดฝอยของไตเพิ่มขึ้น กลไกทางไตในการปรับความดันโลหิตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความดันของหลอดเลือดดังแผนผัง 

โซเดียม ส่งผลให้เกิดการบวมน้ำ (การคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ)

เมื่อมีปริมาณโซเดียมไอออน (Na+)  มากเกินในร่างกาย จะมีผลทำให้น้ำภายนอกเซลล์ (ECF) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก โซเดียมไอออน (Na+)  มีผลทำให้ osmolality ในพลาสมาเพิ่มมากขึ้น จึงดึงน้ำออกจากเซลล์และกระตุ้นให้มีการกระหายน้ำและดื่มน้ำเพิ่มขึ้นมาก  และการที่น้ำออกจากเซลล์เข้ามาในพลาสมาจึงทำให้ น้ำในหลอดเลือด (intravascular fluid, IVF) เพิ่มขึ้น  และถ้าเพิ่มขึ้นมากจะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจ ทำให้มีน้ำคั่งในปอดและเกิดการบวมน้ำได้ ร่างกายจึงต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มการขับโซเดียมไอออน (Na+) ออกทางไต ให้มากขึ้นและปรับให้มีการดูดกลับของ Na+ ลดลง 
 
ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไตยังสามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน  แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมักจะไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆเช่น แขนขา หัวใจ และปอด ผลคือทำให้แขนขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ  น้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายมากขึ้น  



อาการบวมน้ำเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น [รพ.บางปะกอก]
  1. จากอาการเจ็บป่วย หรือ การแพ้ยาบางชนิด 
  2. พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีรสจัดหรือมีส่วนผสมของโซเดียมมากเกินไป โดยเฉพาะรสเค็มจัดและเผ็ดจัด เพราะเกลือมีส่วนในการเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย จึงส่งผลทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้
  3. การนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน
  4. การตั้งครรภ์
  5. สำหรับสุภาพสตรีมักจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือมีการเปลี่ยนเเปลงของฮอร์โมน

ไข่เจียว มีโซเดียมเฉลี่ย 900 มก.

เพจลดพุง ลดโรค

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด