ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (The Legend of Rabies)

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ

 The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 1)
 
โรคพิษสุนัขบ้ามีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี จวบจนปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นโรคที่น่าหวาดกลัว เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วต้องเสียชีวิตโดยที่ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ วัคซีนจึงยังคงเป็นวิธีการเดียวในการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัดรอดชีวิต ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่จะต้องถูกกล่าวถึงเสมอ คือ นักเคมีและจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นวัคซีนเป็นคนแรกเพื่อปกป้องชีวิตผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า “หลุยส์ ปาสเตอร์”
 
บันทึกชิ้นแรกเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นในสมัยบาบิโลน ช่วง 2,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยใช้อักษรเอชนันนา (Eshnunna)
 
หลังจากนั้นถัดมาอีก 1,300 ปี Homer ได้มีการกล่าวถึงสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไว้ใน “อีเลียต” (Iliad) มหากาพย์ของกรีกโบราณ
 
ช่วง 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เดโมคริตุส (Democritus) นักปรัชญาชาวกรีกได้บันทึกถึงการพบโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า
 
ช่วง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช อริสโตเติล (Aristotle) เขียนบันทึกไว้ว่า สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และเมื่อใดที่มันไปกัดสัตว์ตัวอื่น สัตว์ตัวนั้นก็จะเป็นโรคด้วย
 
ช่วง 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไปทั่วจักรวรรดิโรมัน กรีก และ เกาะ
 
Crete Cardanus กล่าวไว้ว่า ในน้ำลายของสุนัขที่เป็นโรคจะมีเชื้อไวรัสอยู่ (ตรงกับคำว่า “พิษ” ของชาวลาติน)
 
นักฟิสิกส์ชาวโรมันชื่อว่า Celsus เขียนเรื่องวิธีการรักษาแผลด้วยการจี้ด้วยแท่งเหล็กร้อน ๆ ซึ่งวิธีการใช้ความร้อนบริเวณแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (Cauterization) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อการรักษาอย่างเฉียบพลันเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด และวิธีการนี้ยังคงเป็นที่ยอมรับหลังจากนั้นอีกกว่า 1,800 ปี
 
กำเนิดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
 
เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2413 ที่โรงพยาบาลทรูซโซ ประเทศฝรั่งเศส ศาสตราจารย์เนลองกี ได้แจ้งหลุยส์ ปาสเตอร์ ว่า มีเด็กอายุ 5 ขวบถูกสุนัขกัดที่บริเวณหน้าเมื่อ 1 เดือนก่อน เด็กมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างชัดเจน และเสียชีวิตลงใน 24 ชั่วโมงถัดมา ปาสเตอร์จึงเอาหลอดแก้วดูดเอาน้ำลายและมูกจากปากของเด็กหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว 4 ชั่วโมง ทำการเจือจางแล้วฉีดเข้าไปยังกระต่าย พบว่ากระต่ายตายหลังจากนั้น 36 ชั่วโมง เมื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมจึงค้นพบว่า ในน้ำลายของสุนัขและน้ำลายของคนป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ รวมทั้งสมองทั้งของสัตว์และคนด้วย
 
ปาสเตอร์จึงได้นำสมองกระต่ายที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้ามาบดและฉีดเข้ากระต่ายตัวอื่น ๆ และทำต่อเนื่องจนระยะฟักตัวของการเกิดโรคสั้นลง และสุดท้ายคงที่ คือต้องตายทุก ๆ 7 วัน ปาสเตอร์เรียกชื่อไวรัสนี้ว่า “ไวรัสฟิกซ์ด” คือระยะฟักตัว “ฟิกซ์ด” คงที่นั่นเอง ปาสเตอร์ยังคงเพียรพยายามที่จะทำการศึกษาต่อเพื่อให้เชื้อที่ “ฟิกซ์ด” มันอ่อนฤทธิ์จนกว่าเมื่อฉีดสุนัขแล้วสุนัขตัวนั้นอาจจะไม่ตายก็ได้ ปาสเตอร์จึงเริ่มทำการทดลองต่อด้วยการนำสมองส่วน medulla ของกระต่ายที่ตายด้วยไวรัสฟิกซ์ดมาทำให้แห้งลงและเชื้อก็ค่อย ๆ อ่อนฤทธิ์ลงจนกระทั่ง 14 วันที่ดูเหมือนว่าเชื้อจะหมดฤทธิ์ จากนั้นก็เอาไปบดผสมกับน้ำที่ปราศจากเชื้อโรคฉีดให้สุนัขจำนวนหนึ่ง วันถัดไปก็ฉีดซ้ำแต่ใช้สมองที่แห้งเพียง 13 วัน และลดลงเรื่อย ๆ จนใช้สมองกระต่ายที่เพิ่งตายใหม่ ๆ ฉีดให้แก่สุนัข และนำสุนัขบางตัวไปให้สุนัขบ้ากัด หรือบางตัวก็เอามาทดลองฉีดเชื้อเข้าสมองโดยตรง ปรากฏว่าสุนัขไม่ตาย จากผลงานครั้งนี้ปาสเตอร์ได้รับเกียรติอย่างสูงส่ง และได้นำเรื่องนี้ไปแสดง ณ ที่ประชุมวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
 
จากจุดนี้เองทำให้ปาสเตอร์คิดต่อไปว่า การที่จะหาวัคซีนมาฉีดให้สุนัขทุกตัวคงเป็นไปไม่ได้ (ขณะนั้นในปารีสคาดว่ามีสุนัขอยู่ประมาณแสนตัว) เพราะคงไม่สามารถหาสมองกระต่ายที่มากมายขนาดนั้นได้ ปาสเตอร์จึงคิดว่าถ้าฉีดให้เฉพาะคนที่ถูกสุนัขกัดก็คงจะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอน และนี่คือจุดกำเนิดของการคิดค้นวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน
 จากความเพียรพยายามสู่ความสำเร็จของหลุยส์ ปาสเตอร์
 
นับจากที่หลุยส์ ปาสเตอร์ มีแนวคิดที่จะฉีดวัคซีนให้คนที่โดนสุนัขบ้ากัดแทนที่จะฉีดให้สุนัขทุก ๆ ตัวในปารีส กระแสแห่งความขัดแย้งและเสียงคัดค้านก็ยังคงมีอยู่
 
จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 มารดาพาเด็กชายโจเซฟ ไมสเตอร์ ชาวอัลซาส อายุ 9 ปี ซึ่งถูกสุนัขบ้ากัดเมื่อ 2 วันก่อน มาที่ห้องทดลองของปาสเตอร์ ขณะที่เด็กชายกำลังเดินไปโรงเรียนถูกปะทะด้วยสุนัขบ้าจนล้มลงกับพื้นถนน ช่างปูนคนหนึ่งพบเห็นเข้าจึงตีสุนัขด้วยท่อนเหล็ก และได้ช่วยเหลือเด็กซึ่งร่างกายเปรอะไปด้วยเลือดและน้ำลาย สุนัขวิ่งกลับไปหาเจ้าของชื่อธีโอโดร์ เจ้าของร้านขายของชำในเมือง และยังไปกัดแขนเจ้าของเข้าอีกด้วย เจ้าของโกรธมากจึงจัดการเก็บเสียด้วยปืนยาวจนกระเพาะทะลุ ทำให้เห็นว่าในกระเพาะมีแต่หญ้าแห้งและเศษไม้ แม่พาโจเซฟไปหาหมอเลแบร์ในเย็นวันเดียวกัน ซึ่งช่วยจัดการบาดแผลโดยใช้กรดคาร์บอลิกจี้แผลไว้ หมอได้แนะนำให้เธอพาลูกไปปารีส โดยธีโอโดร์ก็ตามไปด้วย
 
ปาสเตอร์รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมากเมื่อเห็นแผลบนร่างกายของเด็กชายตัวเล็ก ๆ ถึง 14 แผลจนเดินไม่ไหว ปาสเตอร์ลังเลใจว่าจะจัดการฉีดวัคซีนให้กับโจเซฟหรือไม่ ในที่สุดปาสเตอร์ก็ได้ขอความเห็นชอบจากวุลปิอัง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการก่อน วุลปิอังให้การสนับสนุนเพราะเคยเห็นการทดลองในสุนัขมาก่อนแล้ว ดร.กรังแชร์ ซึ่งทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการด้วยกันก็สนับสนุนความคิดอันนี้ ในที่สุดปาสเตอร์ก็ตกลงใจ โดยจัดห้องพักให้สองแม่ลูกได้พักอยู่ในคอลเลจ ซึ่งโจเซฟรู้สึกพอใจมากที่ได้อยู่ท่ามกลางนานาสัตว์ อันได้แก่ ไก่ หนูตะเภา หนูขาว
 
การฉีดวัคซีนได้ฉีดทุกวันเช่นเดียวกับที่ฉีดให้สุนัข โดยไม่ได้มีวันเว้น เด็กกินได้นอนหลับสบายดี แต่สำหรับปาสเตอร์ เมื่อถึงการฉีดเข็มสุดท้าย ซึ่งเป็นสมองกระต่ายที่ตายใหม่ ๆ ไม่ได้ทำให้แห้งหรืออ่อนฤทธิ์เลยนั้น ก่อความกังวลมากถึงกับนอนไม่หลับ ปาสเตอร์คิดในใจว่าตนเองถอยไม่ได้อีกแล้ว เข็มสุดท้ายนั้นฉีดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม ก็ถึงเข็มสุดท้ายคือเข็มที่ 13 (ไม่ทราบว่ามีวันใดที่ได้รับการฉีด 2 เข็ม)
 
ปาสเตอร์มีทั้งความหวัง ความกลัว ความทุกขเวทนา ความกังวลว่าจะช่วยโจเซฟให้พ้นมือมัจจุราชได้หรือไม่ ตกกลางคืนในความคิดคำนึงของปาสเตอร์ เขาแลเห็นภาพโจเซฟกำลังเป็นโรคกลัวน้ำ กระวนกระวายเช่นเดียวกับที่ตนเคยพบเห็นที่โรงพยาบาลทรูซโซ เมื่อปี พ.ศ. 2413
 
หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จแล้ว ปาสเตอร์ได้มอบให้โจเซฟอยู่ในความดูแลของ ดร.กรังแชร์ต่อไปอีก จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม จึงได้กลับบ้าน ระหว่างนั้นปาสเตอร์ได้หลบไปพักอย่างเงียบ ๆ อยู่กับบุตรสาวที่ชนบทในเบอร์กันดี 30 วันผ่านไป โจเซฟก็ยังมีชีวิตอยู่ วันเดือนผ่านไปอีก โจเซฟก็ยังคงแจ่มใส ร่าเริง เป็นปกติสุข
 
วันที่ 14 ตุลาคม ขณะที่เด็กเลี้ยงแกะ 6 คนกำลังเฝ้าฝูงแกะของตนอยู่ มีสุนัขพรวดพราดเข้ามา ยูปิลล์ อายุ 14 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่โตที่สุดในกลุ่มนั้นได้ให้เพื่อน ๆ วิ่งหนี แต่ตนเองอยู่คอยสกัดสุนัขไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อน ๆ ได้เอาตัวรอดจึงโดนกัดที่แขนซ้าย ยูปิลล์ปล้ำกับเจ้าสุนัขเป็นพัลวัน จับสุนัขนอนลงแล้วเอาเข่ากดไว้ มือทั้งสองข้างง้างขากรรไกรสุนัขออก แล้วเอาเชือกมามัดขากรรไกรสุนัขเอาไว้ แล้วใช้ไม้ตีจนตายและเอาเชือกผูกลากไปตามลำธาร จับหัวสุนัขกดไว้ใต้น้ำเพื่อให้ตายสนิทแล้วจึงกลับบ้าน สัตวแพทย์ได้ไปตรวจสุนัขในวันรุ่งขึ้นและลงความเห็นว่าเป็นสุนัขบ้า นายกเทศมนตรีของเมืองวิลเยร์ฟาร์เลย์ได้เขียนจดหมายให้หนุ่มน้อยรายนี้ไปหาปาสเตอร์ ยูปิลล์ได้รับการรักษาจากปาสเตอร์ในทำนองเดียวกันกับโจเซฟ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 ยูปิลล์ยังได้เขียนจดหมายส่งข่าวให้ปาสเตอร์ทราบว่า ตนเองยังปกติสุขดีอยู่
 
หลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป ประชาชนจากนานาสารทิศที่ถูกสุนัขกัดก็แห่กันไปหาพ่อพระปาสเตอร์ จนไม่มีสถานที่ที่จะรับเอาไว้รักษา ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการก่อตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นในกรุงปารีส ปาสเตอร์ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
 
หลุยส์ ปาสเตอร์ ได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง ต้องอาศัยความเพียรพยายามและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการช่วยให้เพื่อนมนุษย์รอดชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า โรคร้ายที่แม้แต่ในปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีรักษาได้ ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องทนทุกข์ทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต ดังนั้น คำว่า “NO COMPROMISE” จึงเป็นหลักการในการเลือกวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ เพราะวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัดรอดชีวิต ปัจจุบันนี้มีวัคซีนจาก 2 ผู้ผลิตเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO)


 
มนุษย์เราติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
 
การที่มนุษย์เราติดโรคพิษสุนัขบ้านั้นแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
 
1. โดยการถูกกัด หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคโดยตรง
 
2. โดยทางอื่น ๆ นอกจากการกัด หรือสัมผัสน้ำลาย
 
2.1 โดยการสูดหายใจ ในมนุษย์เกิดขึ้นได้
 
- ตามธรรมชาติ
 
- เกิดในห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
 
2.2 โดยการกิน
 
2.3 การติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับผู้สัมผัสโรค (คนกับคน)
 
2.4 การติดเชื้อในครรภ์
 

ข้อมูลจาก

The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 1)
The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 2)
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ
วงการแพทย์ ฉบับ 417
 
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด