นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดยาวเมื่อต้องขับรถทางไกลเป็นเวลานาน ๆ ผู้ขับอาจจะรู้สึกอ่อนเพลียและเกิดอาการง่วงได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารประเภทแป้ง ขนมปังขาว ข้าวขาว รวมทั้งของหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ เครื่องดื่มรสหวาน เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ง่วงนอน เนื่องจากเป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดเร่งด่วนที่ทำให้ตับอ่อนต้องหลั่งอินซูลินออกมามาก จึงทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงและทำให้ง่วงนอน อีกทั้งน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นยังจำเป็นต้องใช้วิตามินเช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ในการสังเคราะห์กลูโคสเพื่อให้ได้พลังงาน ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดแคลนวิตามินดังกล่าวจะทำให้ร่างกายอ่อนล้า เรี่ยวแรงถดถอยจึงมีผลทำให้รู้สึกง่วง นอกจากนี้การขับรถทางไกลควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ ถั่ว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง นม ถั่วเปลือกแข็ง โดยเฉพาะถั่วผสมเกลือ มีผลทำให้ท้องอืดหรือสร้างแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารไม่หมด ส่งผลให้อาหารเหลือไปยังลำไส้ใหญ่ไม่ได้ย่อย เกิดการหมักหมมทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอน
“ทั้งนี้ เครื่องดื่มประเภทชูกำลังก็ควรงดหรือเลี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะแม้หลายคนจะมีความเชื่อว่าเครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วง แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ยิ่งละเลยการพักผ่อน ทำให้ยิ่งอ่อนล้าจนมีอาการมึนงง อีกทั้งยังส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดและหัวใจตามมาในระยะยาวได้ ผู้ขับรถทางไกลจึงควรเปลี่ยนเป็นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน หรือกินผลไม้สดหรือดื่มน้ำผลไม้คั้นสดรสเปรี้ยวที่เป็นแหล่งวิตามินซีโดยไม่เติมน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม เช่น ส้ม ฝรั่ง มะม่วงดิบ หรือสับปะรดแทนจะดีกว่า เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าจากความเครียดและกังวลขณะขับรถได้” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
18 พฤศจิกายน 2563