กระดูกไหปลาร้าหักมักเกิดจากการเอามือเท้าพื้นขณะเกิดอุบัติเหตุ หรือ ถูกกระแทกโดยตรงที่กระดูกไหปลาร้า บริเวณกระดูกที่หัก จะมีอาการปวด โดยเฉพาะเมื่อต้องขยับไหล่ ขยับแขน หรือ เวลาหายใจแรง ๆ และจะมีอาการบวม กดเจ็บ หรือ คลำได้ปลายกระดูกที่หัก บางครั้งอาจได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกันเวลาขยับไหล่
วิธีรักษามีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นจึงควรปรึกษาและสอบถามรายละเอียดกับแพทย์ผู้ให้การรักษาท่านโดยตรงอีกครั้งหนึ่งว่า ควรจะรักษาด้วยวิธีไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และถ้าจะเลือกรักษาวิธีอื่นผลจะเป็นอย่างไร เพื่อท่านจะได้ทราบถึงวิธีรักษาและ ให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะเลือกรักษาวิธีไหนนั้น ท่านต้องตัดสินใจ ด้วยตนเอง
แนวทางรักษากระดูกหัก
- วิธีไม่ผ่าตัด ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่มักไม่ต้องผ่าตัด
• รับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
• อุปกรณ์พยุงไหล่ เช่น ผ้าสามเหลี่ยมคล้องแขน ผ้ารัดไหล่รูปเลขแปด เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกหัก จะได้ไม่ปวด เท่านั้น ไม่ได้ใส่เพื่อมุ่งหวังจะทำให้กระดูกเข้าที่เหมือนปกติ ดังนั้นเมื่อรักษาหายแล้ว กระดูกจะติดผิดรูปทำให้กระดูกนูนกว่าปกติ แต่มักจะไม่มีปัญหาในการใช้งาน
• ปกติจะใส่อุปกรณ์พยุงไหล่ไว้ประมาณ 4-6 อาทิตย์ ถ้าต้องการเอาอุปกรณ์พยุงไหล่ ออกเป็นช่วง ๆ เช่น อาบน้ำ หรือ เวลานอน ก็เอาออกได้ เพียงแต่อาจมีอาการปวดบ้างเวลาขยับไหล่
- วิธีผ่าตัด ซึ่งอาจแบ่งเป็น
2.1 ผ่าตัดทำความสะอาดบาดแผลแต่ไม่ใส่เหล็ก แล้วใส่เครื่องพยุงไหล่ไว้
2.2 ผ่าตัดใส่เหล็กเพื่อยึดตรึงกระดูก มีหลายชนิดเช่น ลวด แผ่นเหล็ก แกนเหล็ก
ข้อบ่งชี้ที่ควรรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
- กระดูกหักหลายชิ้น หรือแตกเข้าข้อ
- มีการเคลื่อนของกระดูกที่หักไปมาก
- มีแผลเปิดเข้าไปถึงบริเวณกระดูกที่หัก
- กระดูกไม่ติด และ มีอาการปวดเวลาขยับไหล่
อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์โดยด่วน
- มือบวมมาก รู้สึกชาที่บริเวณปลายนิ้วมือ หรือ รู้สึกแขนอ่อนแรง
- ปวดไหล่ หรือ ปวดแขนมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
- มีไข้สูง แผลบวมหรือมีหนอง ปวดแผลมาก