ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน ควรมาพบแพทย์ทันที (สถาบันโรคทรวงอก)

โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง นอนหลับพักผ่อน ติดต่อฉุกเฉิน โทร 1669

    กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะนำผู้ป่วยหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) หากได้รับการรักษาล่าช้า อาจทำให้เสียชีวิตได้
 
          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ แต่อย่างไรก็ดีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา
 
          นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง นอนหลับพักผ่อน
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ยังรู้สึกตัวดีต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  • ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้า จะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เรียกว่าระบบช่องทางด่วน (fast track) โดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจเพื่อการทำบอลลูน ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง (golden period) 120 นาที ในการเปิดหลอดเลือดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบว่าอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เวลาออกแรง เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋มให้รีบมาพบแพทย์ทันที
 
 
โรคหัวใจ
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ 
29 พฤศจิกายน 2563
Breaking News 29/11/2563
  • "นพ.อัษฎางค์" เสียชีวิตขณะวิ่งมินิฮาร์ฟมาราธอน [ThaiPBS]
    "นพ.อัษฎางค์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะร่วมวิ่งมินิฮาร์ฟมาราธอนใน จ.สิงห์บุรี ทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตด้วยการ CPR OnEtTube เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง

    วันนี้ (29 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เสียชีวิต ขณะร่วมวิ่งในกิจกรรมวิ่งถิ่นวีรชน มินิฮารฟ์มาราธร ครั้งที่ 4 ที่อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

    ก่อนหน้านี้ นพ.อัษฎางค์ ร่วมวิ่งในระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ระหว่างทางวิ่งมาประมาณ 2 กิโลเมตร ได้ล้มหมดสติ ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ได้พยายามช่วยปฐมพยาบาล และนำส่งโรงพยาบาลค่ายบางระจัน เมื่อเวลา 06.00 น.

    นพ.อัษฎางค์ ไม่รู้สึกตัว แพทย์ได้พยายามฟื้นคืนชีพเพื่อช่วยชีวิต ด้วยการ CPR OnEtTube เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที และใช้เครื่องกระตุกหัวใจ 5 ครั้ง แต่ไม่ตอบสนอง และเสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อเวลา 07.15 น. ขณะที่แพทย์ลงความเห็นเบื้องต้นว่า เกิดจากอาการเหนื่อย หัวใจเต้นผิดปกติ

    สำหรับ นพ.อัษฎางค์ อยู่ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมควบคุมโรคตั้งแต่ปี 2558 -2563 รวมระยะเวลา 5 ปี รับผิดชอบงานในสำนักโรคไม่ติดต่อ และเป็นโฆษกกรมควบคุมโรค ก่อนหน้านี้เคยเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี
     
  • หมอหัวใจเผย ทำไมนักวิ่งมาราธอนเสียชีวิตขณะวิ่ง! [Rama Channel]
    จากกรณีที่มีนักวิ่งมาราธอนเสียชีวิตขณะวิ่ง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และนักวิ่งทั้งหลายจะป้องกันอย่างไรให้วิ่งได้อย่างปลอดภัย! มาฟังคุณหมอโรคหัวใจอธิบายชัด ๆ อ. นพ.ธัชพงศ์ งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
     
  • กทม. ติดตั้งเครื่อง AED ทั่วพื้นที่ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
    (21 พ.ย. 61) เวลา 09.30 น. กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) มอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ AED จำนวน 200 เครื่อง ให้กับหน่วยงานของกรุงเทพมหานครนำไปติดตั้ง ณ สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ หรือสถานที่ที่มีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก ตามโครงการ “กทม. ฝ่าวิกฤต เพิ่มโอกาสรอดชีวิตในภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED)” พร้อมทั้งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในพื้นที่ที่ติดตั้งเครื่อง AED ให้สามารถช่วยฟื้นคืนชีพร่วมกับการใช้เครื่อง AED ได้อย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย และเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและเป็นมิติใหม่ในการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน

    การผลักดันนโยบายด้านความปลอดภัยของกรุงเทพมหานครในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR และการใช้เครื่อง AED ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจนหมดสติ จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ภายในเวลาไม่เกิน 4 นาที หากพบผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ ให้รีบโทร. 1669 ศูนย์เอราวัณ เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน เริ่มทำ CPR และเรียกหาเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้เคียงมาช่วยฟื้นคืนชีพเพื่อให้การฟื้นคืนชีพมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

    สำหรับหน่วยงานที่เข้ารับมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ประกอบด้วย
    • สำนักสิ่งแวดล้อม
    • สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว
    • สำนักอนามัย
    • สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
    • สำนักเทศกิจ
    • สำนักพัฒนาสังคม
    • สำนักการระบายน้ำ
    • สำนักการโยธา
    • สำนักการจราจรและขนส่ง
    • สำนักการคลัง สำนักงานเขตห้วยขวาง
    • สำนักงานเขตดอนเมือง
    • สำนักงานเขตประเวศ
    • สำนักงานเขตปทุมวัน
    • สำนักงานเขตคลองสาน

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด