สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 สิงหาคม 2561 มีผู้ป่วยแล้ว 80,310 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน (อายุ 7-14 ปี) และผู้ใหญ่ (อายุ 15 - 44 ปี) ส่วน 5 จังหวัดที่อัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ระยอง พะเยา และอุตรดิตถ์ ขอให้ประชาชนระวังการรับเชื้อจากผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรือมีคนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด เป็นต้น
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคตามฤดูกาลที่จะพบมากในฤดูฝนและฤดูหนาว แต่อย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่แออัด มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก และ 4.หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรีใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2.เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี
3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)และ
7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน(น้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)