30 สิงหาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ
โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับฤดูกาลระบาดของไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่างๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือการจาม
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคปอดอักเสบรุนแรงจากโรงพยาบาล 30 แห่งในประเทศไทย ระหว่างปี 2555-2559 พบว่าในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 425 ราย มีการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ร้อยละ 44 (187 ราย) ตรวจพบเชื้อมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเสียชีวิต 9 ราย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มาด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง 97 ราย มีการติดเชื้อฯ 4 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5) และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน และมีประวัติการสูบบุหรี่ สำหรับในปี 2561 นี้ มีรายงานเหตุการณ์พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ โดยเป็นผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี รวม 24 ราย (14 และ 10 ราย)
ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ ดังนี้ 1.ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยไข้หวัดหรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกไม่ควรให้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 3.หลีกเลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูกหรือตา ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกัน และทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ ส่วนกรณีที่มีอาการป่วยควรหยุดพัก โดยเฉพาะนักเรียน และควรปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม ดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ หรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น ไอมากหอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422