ไอพีดี... ภัยร้ายในเด็ก
ไอพีดี (IPD, invasive pneumococcal disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง ประกอบด้วยโรคสำคัญสองโรคได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงโรคปอดบวมที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคไซนัสอักเสบอีกด้วย
ความสำคัญของไอพีดี
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสพบได้บ่อยและมีโอกาสที่จะเกิดโรครุนแรงในผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งอาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองได้
ในปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อต่อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ในอดีตเคยใช้ได้ผลดีอย่างยาเพนนิซิลิน ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและไอพีดีมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น
อาการของผู้ป่วยไอพีดี
อาการของผู้ป่วยไอพีดีแตกต่างกันตามประเภทของอวัยวะที่ติดเชื้อและอายุของผู้ป่วย
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง และอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ซึมลง ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้
- โรคปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสมีอาการไข้สูง ไอ และเหนื่อยหอบ อาการของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าผู้ป่วยปอดบวมจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่
การวินิจฉัยไอพีดี
การวินิจฉัยไอพีดีอาศัยอาการของผู้ป่วยและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจนับเม็ดเลือดอาจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือด การเพาะเชื้อในน้ำไขสันหลัง เลือด หรือเสมหะ จะช่วยยืนยันว่าโรคเหล่านี้มีสาเหตุจากเชื้อนิวโมคอคคัสจริง
การรักษาผู้ป่วยไอพีดี
หลักการรักษาผู้ป่วยไอพีดีที่สำคัญคือ การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม การเลือกใช้ยาขึ้นกับโรคที่เป็นและโอกาสในการพบเชื้อที่ดื้อยา
ในอดีตแพทย์มักเลือกใช้ยาต้านจุลชีพในกลุ่มเพนนิซิลินในการรักษาผู้ป่วยไอพีดี แต่ปัญหาเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยาทำให้การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพต้องเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพก่อนยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อนิวโมคอคคัสควรครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อแต่ละโรคซึ่งอาจเกิดจากเชื้ออื่นๆ นอกเหนือไปจากเชื้อนิวโมคอคคัส
เมื่อมีการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่ามีการติดเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเปลี่ยนไปใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมตามความไวของยาต่อเชื้อที่ตรวจพบ
การป้องกันไอพีดี
การป้องกันไอพีดีในเด็กทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปากและจมูกเวลาไอจาม และล้างมือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หรือมีอาการหวัด อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสมโดยสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 15 ปี ปรึกษาได้ที่คลินิกกุมารเวชชั้น 2 อาคาร 4 โทร. 0-2561-1111 ต่อ 4220-1 สำหรับผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ปรึกษาได้ที่วัคซีนเซ็นเตอร์ โทร. 0-2561-1111 ต่อ 1246
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย