เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก
(Transcranial Magnetic Stimulation, TMS)
เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นเครื่องที่อาศัยหลักการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าผ่านขดเลือดเหนี่ยวนำเป็นคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งสามารถผ่านเนื้อเยื่อและกะโหลกศีรษะได้ ใช้ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคทางสมอง ได้แก่ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน โรคเส้นประสาทส่วนปลาย โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น และใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้
การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก
สามารถทำได้ 2 วิธีคือ
- การกระตุ้นด้วยคลื่นความถี่สูง โดยใช้ความแรงของการกระตุ้นตั้งแต่ 1 รอบต่อวินาทีขึ้นไป สำหรับรักษาโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
- การกระตุ้นด้วยคลื่นความถี่ต่ำ โดยใช้ความแรงของการกระตุ้นต่ำกว่า 1 รอบต่อวินาที จะยับยั้งการทำงานของสมองที่ทำงานมากเกินไป เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น
ข้อบ่งใช้ในการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก
โรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นหลังอุบัติเหตุทางสมอง อาการปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการปวดจากเส้นประสาท โรคสมอง ได้แก่ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
วิธีการรักษา
จะทำการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กวันละ 1 ครั้งจำนวน 5-10 วัน (เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการรักษาได้เต็มที่) ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ต่อการรักษา 1 ครั้ง ทั้งนี้แพทย์จะคอยถามและสังเกตอาการตลอดระยะเวลาในการกระตุ้น
ผลการรักษา
คลื่นแม่เหล็กจะส่งดีต่อการทำงานของวงจรในสมอง มีผลต่อสารสื่อประสาท หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทเกี่ยวกับโรคไมเกรน อาการเจ็บปวด และความเครียด ลดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง และลดอาการซึมเศร้า
ข้อห้าม
ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pace maker) ผู้ที่มีโลหะในศีรษะ เช่น เคยผ่าตัดหลอดเลือดสมองโป่งพองและใช้อุปกรณ์หนีบหลอดเลือด หรือตามร่างกาย โรคลมชัก
ผลข้างเคียงที่พบ
มีความร้อนบริเวณที่กระตุ้น เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กทำให้อุณหภูมิภายในสมองสูงขึ้นแต่น้อยมากจะมีปวดตึงศีรษะบริเวณที่ทำการกระตุ้น คลื่นไส้ วิงเวียน อาการชัก อารมณ์พลุ่งพล่าน สำหรับผู้ป่วยจิตเวช
ข้อแนะนำก่อนทำ
- แพทย์จะแนะนำการรักษา ข้อบ่งชี้ และข้อห้ามในการใช้เครื่องมือดังกล่าว
- ก่อนทำการกระตุ้นสมอง แพทย์จะกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เพื่อให้ร่างกายรับรู้และคุ้นเคยกับความแรงและความถี่ของการกระตุ้น
- เมื่อท่านคุ้นเคยแล้ว แพทย์จะกระตุ้นสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็น เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ จะกระตุ้นสมองด้านตรงกันข้ามกับอาการอ่อนนแรง เป็นต้น โดยกระตุ้นซ้ำเป็นชุดๆ