โรคหัวใจพบได้แค่ในผู้สูงอายุหรือไม่
ไม่ใช่ เพราะถึงแม้ว่า โรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลกจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ จากสาเหตุความเสื่อมของหลอดเลือด แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่น ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน
โดยในเด็กหรือคนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด หรือ ผนังหัวใจรั่ว ส่วนโรคหัวใจที่พบบ่อยในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อายุ 30 – 35 ปี มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการสูบบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ แม้แต่นักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรง ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนักๆ ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรต้องตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อประเมินว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่
ความเครียด ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพหัวใจ
ความเครียดอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจโดยตรง แต่ความเครียดมักส่งผลต่อปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เนื่องจากผู้ที่มีความเครียดสูงมักจะดูแลสุขภาพน้อยลง ทานอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอ้วนหรือเบาหวาน ส่งผลต่อระดับความดันเลือดและคอเลสเตอรอล รวมถึงอาจกระตุ้นให้เกิดการสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ มากไปกว่านั้น ความเครียดยังทำให้ร่างกายเกิดความดันเลือดสูง ซึ่งหากเกิดบ่อยครั้งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่หลอดเลือดหัวใจและไต ดังนั้น การลดความเครียด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่อันตรายที่สุดคืออะไร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ ในที่นี้หมายถึง ภาวะการเกิดโรค หรือความผิดปกติ ที่เกิดตามมาจากผลของการเป็นโรคหัวใจนั้นๆ การเกิดโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจ อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและนับเป็นระยะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกโรค โดยผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการเหนื่อย น้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สิ่งใดคือกุญแจหลักของหัวใจที่แข็งแรง
เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภท การทำความเข้าใจความแตกต่างและสาเหตุของแต่ละโรค ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สามารถดูแลสุขภาพทั้งกายและใจได้อย่างถูกต้อง โดย โรคหัวใจนับเป็นโรคเรื้อรัง หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้ หากดูแลตัวเองและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจ คือสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผ่านการ ปรับพฤติกรรมส่วนตัวและการดำเนินชีวิต อย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น อาหารจำพวกเบเกอรี่ หรือของทอด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ งดสูบบุหรี่ ผ่อนคลายความเครียด เพื่อควบคุมความดันโลหิต หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เพราะการสังเกตร่างกายและการดูแลสุขภาพที่ดี เป็นหัวใจหลักของการรักษาสุขภาพหัวใจและ