คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในบทบาทของฝ่ายกำหนดนโยบาย กล่าวว่า การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบริการสุขภาพระดับนานาชาติ หรือ Medical Hub เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เป้าหมายหลักของภาครัฐที่หวังจะยกให้เป็น new S-curve ใหม่ของประเทศในอนาคต กับมูลค่าที่สูงถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการในหลายมิติเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว อาทิ มาตราการส่งเสริมการลงทุน มาตรการทางภาษี การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และระบบสารสนเทศเทคโนโลยีที่จะรองรับ
ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในบทบาทของผู้ประกอบการระดับนำ สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยและศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไว้ว่า สำหรับปี 2565 คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยจะมีราว 9.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 6-8 เป็นการเดินทางเข้ามาใช้บริการการแพทย์ในไทย กลุ่มหลักเป็นชาวตะวันออกกลาง โดยเฉพาะชาวซาอุดิอาระเบีย เป็นผลจากการฟื้นความสัมพันธ์ทางการฑูตกับรัฐบาลซาอุดิอารเบียอีกครั้ง ในจำนวนนี้ร้อยละ 65 ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน
“โรงพยาบาลเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญและศักยภาพในการผลักดันดิจิทัลเฮลท์แคร์ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลโดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลในอาเซียน เพื่อให้บริการคนไข้ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ดังนั้นการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันในกลุ่มโรงพยาบาลจึงมีความสำคัญ” ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิมกล่าว