ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประวัติศาสตร์วชิรพยาบาล

ประวัติศาสตร์วชิรพยาบาล Thumb HealthServ.net
ประวัติศาสตร์วชิรพยาบาล ThumbMobile HealthServ.net

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 10 ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยมีต้นกำเนิดมาจาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และได้พัฒนามาเป็นคณะแรกเริ่มแห่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลดำเนินงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล

“วชิรพยาบาล เพื่อประโยชน์สาธารณ และสุขภาพประชาชน” 
 
        คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สถาบันการแพทย์ที่มีรากฐานมาอย่างยาวนาน ถือกำเนิดจากโรงพยาบาล วชิรพยาบาลก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2455 จาก พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างให้เป็นสถานพยาบาล และพระราชทานนามอันเป็นมงคลยิ่งว่า “วชิรพยาบาล” 
 
          โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ มีสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็น องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย เป็นองค์ประธาน วางระเบียบการโรงพยาบาลให้เป็นไปตามพระราชดำริ 
 
           ในปี 2528 โรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นฐานในการเรียนการสอนด้านคลินิก ให้กับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และต่อมาในปี 2536 ได้ดำเนินการผลิตแพทย์เอง โดยมีการจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อทำการผลิตแพทย์ให้กับกรุงเทพมหานครและ กระทรวงสาธารณสุข 
 
            ต่อมาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยแห่งสุดท้าย ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 


.....

 

    วชิรพยาบาล เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินพร้อมด้วยตึกและสิ่งปลูกสร้าง มอบไว้เป็นสาธารณสถานแก่ประชาชนให้เป็นที่พยาบาลผู้ป่วยไข้ต่อไป พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455 พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า "วชิรพยาบาล"
 
วชิรพยาบาลได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งร่วมกันตั้งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลขึ้นภายในโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นแห่งที่ 8 ของประเทศไทย นิสิตจะศึกษาภาคปรีคลินิกที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและศึกษาภาคคลินิกที่วชิรพยาบาล
 
ภายหลังกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นของตนเอง วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร จึงได้รับการก่อตั้งขึ้น ภายใต้สังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2536[1] วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนักศึกษาจะได้ศึกษาระดับปรีคลินิกที่ มหาวิทยาลัยมหิดล กำกับดูแลโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในชั้นปีที่ 1 ถึง ภาคต้นของชั้นปีที่ 3 แล้วเข้ามาศึกษาระดับคลินิก ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ภาคปลาย ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล บัณฑิตแพทยศาสตร์จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยมหิดล [2]
 
ในครั้งแรก วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครดำเนินการสอบรับนักศึกษาร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อกุมภาพันธ์ 2536 กรุงเทพมหานครประกาศเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 1 จำนวน 32 คน โดยมีผู้มาสมัครสอบคัดเลือกทั้งสิ้นถึง 936 คน ในปีการศึกษาต่อมาได้รับนักศึกษาผ่านการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยทบวงมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันได้รับนักศึกษาเป็น 2 ระบบ โดยรับนักศึกษาผ่านระบบกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จำนวน 70 คน โดยมีการสอบวิชาสามัญและวิชาเฉพาะแพทย์ และรับนักศึกษาผ่านระบบโควต้าตรง จำนวน 10 คน โดยทางคณะเป็นผู้จัดสอบเอง
 
 
โรงพยาบาลวชิระ ที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
ต่อมาในปี พ.ศ. 2541[3] ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ โดยได้รวม "วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร" และ "วชิรพยาบาล" เข้าเป็นหน่วยราชการเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล" (วพบ.) ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลได้รับการบริหารจากวชิรพยาบาลโดยตรง ในเวลานี้วชิรพยาบาลได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนักศึกษา 32 คนในรุ่นแรก ได้รับนักศึกษาเพิ่มเป็น 50 คน จนกระทั่ง พ.ศ. 2547 ได้รับนักศึกษารุ่นละ 80 คนเป็นต้นมา
 
จากนั้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลในสังกัด สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้นมา ในนาม มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลมีสถานะเป็นคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อคณะเป็น "คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร" ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ใน วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 [4] ในเดือนพฤศจิกายนได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2556 [5]
 
หลังจากคณะฯ ได้ยกสถานะตามบทเฉพาะการในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พ.ศ. 2553 แล้ว คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ยกเลิกการเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีสถานะเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์[6] โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป เมื่อจบการศึกษาและจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา คณะฯ ได้เริ่มย้ายการจัดการเรียนการสอนภาคปรีคลินิก ชั้นปีที่ 3 ภาคต้น ของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาจัดการเรียนการสอนเองโดยภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก และ ภาควิชาพยาธิวิทยากายวิภาค ส่วนรายวิชาปรีคลินิกในชั้นปีที่ 2 อยู่ระหว่างการพัฒนาบุคลากรและสถานที่จัดการเรียนการสอน และยังจัดการเรียนการสอนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามเดิม
 
ในปีการศึกษา 2557 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ อีกหลักสูตรหนึ่ง และต่อมาในปีการศึกษา 2561 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค ซึ่งเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพลำดับที่สอง นับเป็นการขยายขีดความสามารถในการผลิตบัณฑิตในสาขาที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของสังคม
 
ต่อมาในปีการศึกษา 2562 สภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้อนุมัติหลักการให้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562) โดยย้ายสถานที่จัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เตรียมแพทย์ และปรีคลินิกจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในชั้นปีที่ 1 และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในชั้นปีที่ 2 มาจัดการเรียนการสอนโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชตลอดทั้งหลักสูตร

 

สืบพระราชปณิธาน ล้นเกล้ารัชการที่ ๖ วชิรพยาบาลเพื่อประโยชน์สาธารณะและสุขภาพประชาชน


ประวัติคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
 
วชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลที่เปิดให้การบำบัดโรคแก่ประชาชน มาช้านานแห่งหนึ่ง เมื่อวชิรพยาบาลเริ่มจะได้รับความเหลียวแลจากผู้มีอำนาจในการทนุบำรุงจึงได้มีการปฏิรูปโรงพยาบาลขึ้นอีกปีละเล็กละน้อย เฉพาะอย่างยิ่งในด้านขยายกิจการสาขาต่าง ๆ และการก่อสร้างสถานที่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนถึงบัดนี้มีการต่อเติมตึกเก่าและก่อสร้างตึกใหม่รวมทั้งสิ้น 8 หลัง กับได้จัดซื้อที่ดินขยายเขตต์วชิรพยาบาลไปจนจดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นนี้ย่อมทำให้สภาพของโรงพยาบาลค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะเดิมปีละเล็กละน้อย จนกระทั่งบัดนี้เมื่อตึกอำนวยการหลังใหม่นิ้สร้างเสร็จย่อมทำให้เค้าเดิมของวชิรพยาบาลแม้ว่าจะเป็นของเก่าโบราณซึ่งล้าสมัยขาดความเหมาะสมในด้านบริการเจ็บไข้แก่ประชาชน แต่ก็ยังเป็นของเก่าที่มีค่าควรแก่การทำประวัติของโรงพยาบาล จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมเรื่องราวและหลังฐานของโรงพยาบาลเพื่อสร้างเป็นประวัติไว้ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าบ้างไม่มากก็น้อย แต่การค้นหาหลักฐานเก่า ๆ นิ้เป็นเรื่องที่กระทำให้สมบูรณ์ได้ยาก ฉะนั้นหากมีการขาดตกบกพร่องประการใดก็ขอได้โปรดให้อภัยด้วยและหากจะได้ กรุณาชิ้ข้อบกพร่องเหล่านั้นมายังผู้เขียนโดยตรงก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
 
อนึ่ง การคัดข้อความบางตอนที่เป็นชื่อเดิม สำนวนโวหารเดิม ซึ่งไม่สู้สละสลวยในสมัยปัจจุบัน ดังปรากฏในเรื่องนี้ ก็หาได้มีเจตนาไปในทางอื่นใดไม่ หากแต่เพื่อรักษารูปและลักษณะของของเดิมไว้ เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของสำนวน ภาษาคำพูดซึ่งจะหาอีกมิได้ในสมัยนี้ ขอท่านผู้อ่านได้โปรดเข้าใจเจตนาอันแท้จริงตามนี้ด้วย


กำเนิดโรงพยาบาล
 
ที่ตั้งวชิรพยาบาลแต่เดิมทีเดียว (ไม่รวมที่ดินแปลงใหม่ที่ได้จัดซื้อเพื่อขยายเขตต์โรงพยาบาลไปจดริมแม่น้ำเจ้าพราะยาเมื่อ พ.ศ. 2499) คือ ผืนที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 27 ไร่เศษ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญมีตึกแบบเก่าขนาดใหญ่ ๒ หลัง ที่เคยมองเห็นจากด้านหน้าโรงพยาบาล เดิมเป็นบ้านเลขที่ ๖๗๑ ถนนสามเสน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ของพระสรรพการหิรัญกิจ (นายเชย สรรพการ) ตึกเก่า ๒ หลังนี้ หลังใหญ่เป็นตึก 3 ชั้น (ไม่นับชั้นล่างสุดซึ่งเป็นพื้นซีเมนต์) ส่วนหลังเล็กเป็นตึก 2 ชั้น ทั้ง 2 หลังเป็นตึกแบบโบราณพื้นไม้สัก ตัวตึกไม่ปรากฏโครงเหล็กผนังตึกก่ออิฐถือปูนหนาไม่น้อยกว่าหนึ่งฟุตครึ่ง ลักษณะเดิมสลักเสลามาก ทราบว่าได้ถูกลบลวดลายออกให้ภายในตึกเป็นแบบเรียบๆ เสียมากตั้งแต่เริ่มใช้เป็นสถานพยาบาล แม้กระนั้นก็ยังปรากฏลวดลายสวยงามตามฝา เพดานประตู หน้าต่าง อีกหลายแห่ง แบบคฤหาสน์โบราณ มุขด้านหลังตลอดจนบันไดด้านหลังเป็นหินอ่อนนอกจากนั้นยังมีเรือนไม้ลักและกระโจมไม้สัก ซึ่งมีแบบและลวดลายพร้อมด้วยกระจกหลากสีสวยงามแบบโบราณ ส่วนบริเวณทั่วไปมีทั้งที่ราบเนินดินสูง อุโมงค์ ภูเขาจำลอง โขดหิน ต้นไม้ใหญ่น้อยประดับประดาเป็นจำนวนมาก และมีทั้งทางคดเคี้ยวไปมาแบบเดินในสวนสาธารณโบราณ สถานที่นี้ปรากฏในเอกสารบางฉบับ เรียกชื่อว่า หิมพานต์ปาร์ค ภายในปาร์คนี้มีคลองโดยรอบสี่เหลี่ยม ตามรูปที่ดินแล้วบรรจบกันไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเรียกชื่อว่า คลองอั้งโล่ ขณะนี้บางตอนของคลอง ทางด้านหน้าและด้านหลังของโรงพยาบาลได้ถมดินหมดสภาพของคูคลองไปบ้างแล้ว ที่ดินและตึกรวมทั่งสิ่งปลูกสร้างในปาร์คนี้ ต่อมาได้ตกเป็นกรรมสิทธิของแบงค์สยามกันมาจลทุนจำกัดจนกระทั่ง ร.ศ.131 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดิน พร้อมด้วยตึกและสิ่งปลูกสร้าง (ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๕/๓๓๕๔-๕/อ เลขที่ ๑๙) ในราคา 240,000 บาท ทรงมอบให้กรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล เป็นผู้ปกปักรักษาใช้เป็นสถานพยาลบาลช่วยเหลือประชาชนผู้เจ็บป่วย ดังสำเนากระแสพระบรมราชโองการ ดังนี้
 
 

ประกาศยกโรงวชิรพยาบาลให้เป็นสาธารณสถาน เรา สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ขอประกาศแด่บรรดาอาณาประชาชนกรุงเทพมหานครทราบทั่วกัน

 
 
ด้วยเรามาคำนึงถึงโบราณราชประเพณีที่มีมาว่า พระราชาธิบดีเมื่อได้ผ่านพิภพแล้วทรงรำพึงถึงบุพเพกตปุญญตาที่ได้ทรงสั่งสมมาจนพระองค์ได้บรรลุถึงซึ่งตำแหน่งที่สูดสุดในแผ่นดินได้ทรงรับมอบเป็นผู้ครอบครองรัฐสีมา แผ่อาณาเหนือประชาชน ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข จึงทรงสร้างพระอารามขึ้นไว้ให้เป็นเครื่องเฉลิมพระราชศรัทธา และเพื่อให้เป็นสถานที่สถิตย์แห่งภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลสุตาธิคุณ เป็นผู้ค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนาให้ถาวรอยู่ เพื่อประโยชน์แห่งนิกรชน นับว่าพระมหากษัตราธิราชทรงกระทำการเพื่อประโยชน์แห่งชาติบ้านเมืองและผสกนิกรได้อย่าง 1


ส่วนตัวเราเอง เมื่อได้รับภาระเป็นผู้ปกครองท่านทั้งหลายต่างพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปิยมหาราชแห่งคนไทย และสมเด็จพระบรมชนกนารถของเรา เราก็ได้รำพึงถึงพระราชประเพณีโบราณอันกล่าวมาแล้วนั้น แต่มารู้สึกว่าในกาลปัตยุบันนี้ พระอารามสำคัญๆ ในพระมาหานครนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชวงศ์จักรีที่ได้เสวยราชย์มาก่อนเราถึง ๕ รัชกาลแล้วนั้น ก็ได้ทรง สฐาปนาขึ้นไว้แล้วหลายพระอาราม ตัวเราผู้เป็นทายาทสืบสันตติวงษ์ก็มีหน้าที่เป็นผู้บำรุงพระอารามเหล่านั้นอยู่แล้ว ครั้นว่าเราจะสร้างสฐาปนาพระอารามขึ้นใหม่ ก็จะเกินแก่ความเจำเป็นในส่วนทางบำรุงพระศาสนาซ้ำจะเป็นภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่มีผลดีเพียงพอ แต่ครั้นว่าเราจะเพิกเฉยเสียไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นเป็นสาธารณประโยชน์ ก็ดูประหนึ่งว่าเราไม่รู้จักรำฤกถึงบุพเพกตปุญญตา ไม่รู้สึกความภาคภูมิในใจที่ได้รับตำแหน่งอันสำคัญ อันที่จริงนั้นตั้งแต่เริ่มแรกมาเราก็ได้รู้สึกอยู่แล้วด้วยความภาคภูมิใจและความหนักแห่งภาระที่เราได้รับมาโดยเป็นทายาท แห่งพระบาทสมเด็จบรมชนกนารถ ได้คิดอยู่เสมอที่จะหาทางสำแดงให้ปรากฏว่า เราปรารถนาที่อันใดอันหนึ่งขึ้นไว้เพื่อสาธารณประโยชน์แห่งผสกนิกร จึงได้ตกลงว่าจะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นสำหรับจังหวัดกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ได้มอบให้เจ้าพระยายมราชเป็นผู้จัดหาที่สร้างโรงพยาบาลนี้ขึ้น ฤามิฉนั้นก็ให้หาซื้อตึกเรือนอันใดซึ่งจะใช้เป็นโรงพยาบาลได้ ก็เผอิญประจวบกับเวลาที่มีผู้บอกขายตึกและที่ดินผืนนี้ เราจึงได้ออกทุนทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ส่วนตัวของเราได้รับมาเป็นมรดกจากสมเด็จพระบรมชนกนารถนั้น ซื้อตึกและที่ดินนี้เพื่อประโยชน์อันนั้น การที่เราได้จำหน่ายทุนทรัพย์ส่วนตัวออกทำโรงพยาบาลขึ้นครั้งนี้ เพราะมารำพึงถึงบุพเพกปุญญตาและกุศลที่เราได้สั่งสมมา จึงได้มาตั้งอยู่ในฐานะแห่งผู้มีทรัพย์เพียงพอ และทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้เห็นว่าจะจับจ่ายใช้สรอยในทางใดก็จะไม่ได้รับผลความพอใจเท่าทางที่จะทำให้เพื่อนมนุษย์ผู้มีโรคภัยเบียดเบียน ได้รับความบำรุงรักษาพยาบาลเพื่อทุเลาทุกขเวทนา ถ้าได้กลับเป็นผู้มีกำลังมีร่างกายบริบูรณ์ขึ้นอีก เราเห็นว่าจะเป็นทางทานอันจะได้รับผลดี ให้เราได้มีความสุขใจยิ่งกว่าที่จะแจกจ่ายทรัพย์ไปให้แก่คนขอทานโดยไม่เลือกหน้า บัดนี้โรงพยาบาลอันนี้ ก็ได้ตกแต่งขึ้นพร้อมแล้ว เราขอให้นามว่า วชิรพยาบาล และขอมอบที่นี้ไว้เป็นสาธารณสถานเป็นสมบัติสิทธิ์เด็ดขาดแก่ประชาชนชาวไทยให้ได้ใช้เพื่อเป็นที่พยาบาลผู้มีอาการป่วยไข้ต่อไป ขอมอบให้ไว้แก่กรมศุขาภิบาลเป็นผู้ปกปักรักษาในนามประชาชนสืบไปแต่วันนี้ ขออำนาจคุณพระรัตนไตรอันเป็นนิรัติไสยบุญเขตร อันเป็นที่พึ่งตรึงจิตร์แห่งเราโดยมั่นคง และความจำนงจงจิตร์ที่เราได้บำเพ็ญสาธารณทาน เพื่อประโยชน์แห่งประชาชนชาวไทยอันเป็นที่รักใคร่แห่งเราเหมือนบุตร์ จงเป็นผลสำเร็จสมความปรารถนาได้แลเห็นผลดีทั้งในปัตยุบันนี้และในเบื้องหน้าต่อไปชั่วกาลนานเทอญ 

 


 
ประกาศมาณพฤหัศบดีที่ ๒ มกราคม พระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้วได้ ๒๔๕๕ พรรษา รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ฯ ในขั้นต้นที่เริ่มเปิดดำเนินกิจการวชิรพยาบาลนั้น ตามหลักฐานปรากฎว่าผู้ที่มาเป็นแพทย์ประจำคนแรกคือ หมอติลลิกี (Dr Tilleke) ซึ่งขณะนั้นประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสามเสน สังกัดกรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล โรงพยาบาลสามเสนนี้ตั้งอยู่เชิงสพานแดง (ตรงถนนสุโขทัยด้านแม่น้ำเจ้าพระยามีสพานแดงต่อจากถนนยื่นลงแม่น้ำ) ถนนสุโขทัยตอนข้างวังสุโขทัยนี้ ตามแผนผังวชิรพยาบาล พ.ศ.๒๔๖๙ เรียกชื่อถนนนี้ว่า ถนนดวงเดือนนอก โรงพยาบาลสามเสนนี้ จากหลักฐานที่ปรากฏ รู้สึกจะช่วยเหลือวชิรพยาบาลในคราวตั้งตัวอยู่มาก ทั้งตัวแพทย์และเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ เมื่อหมอติลลิกีมาเป็นผู้อำนวยการวชิรพยาบาล ได้สละเครื่องมือแพทย์ ยาต่าง ๆ ครุภัณฑ์ เครื่องแก้ว เครื่องมือตรวจเชื้อ เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องปั่นโลหิตและปัสสาวะตลอดจน เตียงตรวจ เตียงผ่าตัดและของใช้เบ็ดเตล็ด เพื่อเป็นสาธารณกุศลใช้ในวชิรพยาบาลในวันพิธีเปิดป้ายโรงพยาบาล ส่วนเตียงผู้ป่วยภายในนั้นยืมเตียงนายทหารชั้นนายพันจากกรมยกกระบัตรกระทรวงกลาโหมมาสมทบชั่วคราวจำนวน ๒๐-๓๐ เตียงเพื่อให้ทันกำหนดเปิดโรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดป้ายผ้าคลุมโรงพยาบาล เมื่อเวลา ๔ โมงเย็น วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ แล้วเสด็จประทับบนมุขหน้าตึก ดังสำเนาขอรับพระราชทานทรงเปลื้องผ้าคลุมนามโรงพยาบาลดังนี้ 
 
กรมสุขาภิบาล 
ขอเดชะ ฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม 
โดยกระแสพระบรมราชดงการดำรัสเหนือเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินพร้อมทั้งสถานที่อันสมบูรณ์แล้วทุกประการให้เป็นโรงพยาบาล ซึ่งพระราชทานนาม ณ บัดนี้ว่า วชิรพยาบาล เป็นสาธารณสถานที่สำหรับรักษาโรคาพาธ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประโยชน์แก่พสกนิกรทั่วไป ไม่กำหนดขีดขั้นชั้นชนิดของบุคคล เพื่อเป็นการพระราชกุศลศิลานุปัฎฐานทานอีกประการหนึ่ง
 
ในตำบลดุสิตนี้กรสุขาภิบาลมีความต้องการสถานที่พยาบาลให้สมควรมาช้านาน เพื่อประโยชน์โดยเฉพาะก็ด้วยเป็นตำบลที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลอื่น ถึงแม้จะมีอยู่แห่งหนึ่ง ก็ไม่เป็นสถานที่สมควร แลไม่สมบูรณ์ด้วยองค์ของโรงพยาบาลจะเรียกว่าไม่มีก็เกือบได้ ความต้องการอันนั้นยังไม่สมหมายมาจนวันนี้ แลการที่ทรงพระมหากรุณาพระราชทานสถานที่พยาบาลในครั้งนี้ ได้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป มีผู้ที่อยู่ในอำเภอที่ใกล้เคียงเป็นต้น อีกประการหนึ่งทำให้พระมหานครมีคิลานสถานใหญ่โตสมควรแก่การพยาบาลอันเป็นสิ่งต้องการขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสาธุชนจะพึงยินดีแลอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง


การรักษาพยาบาลคนไข้นี้ มนุษย์ชาติผู้มีธรรมจริยาอันงาม ไม่เลือกว่าชาติใดภาษาใด จะเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาหรือลัทธิอื่น ๆ ก็ตาม ย่อมสรรเสริญว่าเป็นกุศลอันสูงอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุว่าโรคไภยไข้เจ็บเป็นทุกข์อันใหญ่หลวง ซึ่งสัตว์ทั้งปวงไม่พึงปราถนาอยู่ทุกรูปทุกนาม พยายามที่จะไม่ให้บังเกิดมี เพราะเหตุฉนี้ความเป็นผู้ไม่มีโรคจึงนับว่าเป็นลาภอย่างหนึ่งซึ่งยากที่บุคคลจะลืมได้ ข้อนี้สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าก็ตรัสไว้ว่า อาโรคยา ปรมา ลาภา ความหาโรคมิได้ ชื่อว่าเป็นลาภอย่างยอด ดังนี้ แต่การที่จะป้องกันมิให้โรคไภยไข้เจ็บบังเกิดขึ้นแล้วก็รักษาพยาบาลให้บันเทาเบาบางลง หรือให้หายไปเป็นครั้งคราวเท่านั้น การที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระราชดำริห์ชอบประกอบด้วยพระมหากรุณาแก่อาณาประชาชน ภายใต้พระบรมราชสมภารโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ทำเป็น โรงพยาบาลขึ้นสิ้นพระราชทรัพย์นับจำนวนตั้งแสน ๆ นี้ชื่อว่า ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันต้องด้วยพุทธนิยม ซึ่งมีพุทธฎีกาตรัสไว้ (ในคัมภีร์มหาวรรควินัยปิฎก) ว่าโย ภิก์ขเวมํ อุป์ฐเหย์ย โส คิลานํ อุปฎ์ฐเหย์ย ความว่าดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าบุคคลผู้ใดอยากจะพยาบาลบำรุงเราผู้ตถาคตแล้ว ก็ให้บุคคลผู้นั้นพยาบาลบำรุงคนเจ็บไข้เถิด อาไศรยดังนี้แหละ ข้าพุทธเจ้าจึงอาจกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระราชกุศลในครั้งนี้ เป็นกุศลอันล้ำเลิศประเสริฐสุดที่ได้ทรงบำเพ็ญส่วนหนึ่ง
 
เพราะฉนั้น ข้าพระพุทธเจ้าผู้แทนในนามของสาธารณชนที่อยู่ในตำบลดุสิตนี้และอำเภอที่ใกล้เคียงหรือที่จะมาแต่จาตุรทิศ ซึ่งจะได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์จากสถานวชิรพยาบาลนี้ตามที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้แต่วันนี้สืบไป ขอพระราชทานถวายพระพรด้วยสัจวาจาว่า ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาททรงกระทำเคารพพระพุทธรัตนอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายให้เป็น
โอสถอันประเสริฐสูงสุดแล้ว ขอให้สรรพอุปัทวะทั้งหลายจงพินาศอันตรธานไป และขอให้ทุกข์ทั้งหลายอันจะบังเกิดแด่พระวรองค์ จงระงับด้วยเดชแห่งพระพุทธเจ้าโดยสวัสดี
 
ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ทรงกระทำเคารพพระธรรมรัตน อันระงับเสียซึ่งความกระวนกระวายให้เป็นโอสถอันประเสริฐสูงสุดแล้ว ขอสรรพอุปัทวะทั้งหลายจงพินาศอันตรธานไป และขอไภยทั้งหลาย อันจะกล้ำกลายพระวรองค์จงระงับด้วยเดชแห่งพระธรรมเจ้าโดยสวัสดี ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ทรงกระทำเคารพสังฆรัตน ผู้ควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยอันบุคคลนำมาแต่ไกลแล้วแลพึงให้แก่บุคคลผู้มีศิล ผู้ควรจะรับซึ่งอาคันตุกทาน อันบุคคลตกแต่งด้วยเครื่องสักการะ เพื่อประโยชน์แก่ญาติแลมิตรอันเป็นที่รักที่เจริญใจ อันมาแต่ทิศานุทิศให้เป็นโอสถอั้นประเสริฐสูงสุดแล้ว ขอสรรพอุปัทวะทั้งหลายจงพินาศอันตรธานไป และขอให้โรคาพาธทั้งหลาย อันจะบังเกิดมีแด่พระกรัชกายจงระงับหายด้วยเดชแห่งพระสงฆเจ้าโดยสวัสดี ขอพระพรไชย อันข้าพระพุทธเจ้าตั้งจิตร์อธิษฐานถวายนี้ จงเป็นผลสำเร็จแด่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาททุกประการ ดังรับพระราชทานกราบบังคมทูลมา ในที่สุดคำกราบบังคมทูลพระกรุณา ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานได้ทรงเปลื้องผ้าคลุมนามศาลาพยาบาล อันเจ้าพนักงานได้จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบแลจะได้อนุโมทนาต่อไปในกาลภายหน้า
 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ 
วชิรพยาบาลสถาน อำเภอดุสิต
 
ยุบโรงพยาบาลสามเสนมารวมกับวชิรพยาบาล 
ในขั้นดำริห์ที่จะจัดซื้อสถานที่นี้ ตามหลักฐานหนังสือจากศาลาว่าการนครบาลลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ทูลเกล้า ฯ เรื่องตกลงซื้อสถานที่นี้กับแบงค์สยามกัมมาจลด้วยราคา ๒๔๐,๐๐๐ บาท นั้น มีการเสนอความเห็นว่านอกจากโรงพยาบาลนี้จะรับรักษาข้าราชการในราชสำนักแล้วจะรับรักษาราษฎรในตอนเหนือพระนครด้วย และควรเลิกโรงพยาบาลสามเสนที่มีอยู่เวลานั้น โดยยกมารวมกับโรงพยาบาลใหม่ (วชิรพยาบาล)พร้อมกับยกเงินพระคลังมหาสมบัติที่เคยอุดหนุนโรงพยาบาลสามเสนอยู่ปีละ ๗,๒๐๐ บาท นั้น มาช่วยพระคลังข้างที่ด้วย แสดงว่าในระยะเริ่มตั้งวชิรพยาบาลนั้น การเงินยังไม่สู้สดวกนักและได้อาศัยเงินจากพระคลังข้างที่มาเป็นค่าใช้จ่าย กระทรวงนครบาล (เจ้าพระยายมราช) จึงทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นเสนอให้รวมโรงพยาบาล และโอนเงินงบประมาณของโรงพยาบาลสามเสนมาใช้ในวชิรพยาบาล ในขณะนั้นมีโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกรมสุขาภิบาลพร้อมด้วยเงินเดือนและค่าใช้สรอยมีดังนี้

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

681 ถนนสามเสน แขวง วชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด