ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564 ต่อคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กันยายน 2564 - รายงานนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (2) ที่บัญญัติให้ สศช. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และคาดการณ์แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในบริบทประเทศและโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และมาตรการการพัฒนาประเทศหรือรองรับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี
มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2564 ประกอบด้วย
1.1 สถานการณ์แรงงานปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังได้รับผลกระทบหากเทียบกับช่วงเวลาปกติ การจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง โดยสถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้างและราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า การว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.18 และ 3.44 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง ส่วนการว่างงานในระบบผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตนร้อยละ 2.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยแต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่
1) ผลกระทบและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การมีงานทำ และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
2) การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อประคับประคองแรงงานและเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงรักษาการจ้างงานและการประกอบกิจการ และ
3) การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนและผู้จบการศึกษาใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวกและสามารถฝึกฝนได้ด้วยตนเอง
1.2 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นและยังต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง โดยไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPLs) ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.84 ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1) ผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เดิมและการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อสถานะทางการเงินของครัวเรือน
2) รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและการก่อหนี้นอกระบบ และ
3) การเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงโดยการให้สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
1.3 ภาวะทางสังคมอื่น ๆ เช่น
1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และต้องเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจิตของประชาชนจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น
2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวซึ่งมักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ รวมทั้งปริมาณการสูบบุหรี่ต่อวันในกลุ่มแรงงานยังสูงซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
3) คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นจากคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ส่วนสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. 2021 ถูกปรับลดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ประเทศที่ต้องถูกจับตามอง จึงควรเร่งติดตามการดำเนินการและกำหนดแนวทางการป้องกัน และ
4) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคลดลง ส่วนการร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นการคิดค่าบริการจากข้อความ SMS และการคิดค่าบริการผิดพลาด
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่
2.1 การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2564 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 56 ดังนั้น หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาคุณภาพคน โดยภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งการสร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการมีข้อมูลและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความถนัดและความต้องการของประเทศในอนาคต
2.2 Education Technology (EdTech)
เครื่องมือสำคัญในการเปิดกว้างทางการศึกษา เป็นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพของเนื้อหาและการเรียนการสอน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงการช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามากขึ้น จึงควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตให้มีความพร้อมและสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ รวมทั้งระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญกับการนำ EdTech มาใช้ในการศึกษาโดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และควรพัฒนารูปแบบเนื้อหาและเทคนิคของระบบเทคโนโลยีให้มีความสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่
2.3 บทบาทสื่อกับบริบทสังคมไทย
สื่อมีบทบาทอย่างมากในสังคมไทยและมีส่วนสำคัญในการกำหนดการรับรู้เหตุการณ์ให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งการนำเสนอข่าว มีทั้งประเด็นเชิงบวกและเชิงลบต่อผู้ที่ตกเป็นข่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของบทบาทสื่อรูปแบบต่าง ๆ กับบริบทสังคมไทยที่ประชาชนจำนวนมากยังคงขาดความรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มีการส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) ได้ง่าย และกระจายไปได้รวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัลแก่ประชาชน ทุกกลุ่มวัยต่อไป
3. บทความเรื่อง “ประเทศไทยกับความพร้อมของรูปแบบการทำงานที่บ้าน”
ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่อง “พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)” ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า คนไทยมีการทำงานที่บ้านร้อยละ 43 และทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงานร้อยละ 34 โดยมีข้อดี ได้แก่ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ประหยัดค่าเดินทาง และเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ส่วนข้อเสีย ได้แก่ มีค่าใช้จ่ายที่บ้านเพิ่มขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือไม่สะดวก และการสื่อสาร/ติดต่อล่าช้า ในส่วนของผู้ประกอบการ มีการประเมินว่า ร้อยละ 20 ของบริษัทในปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน ดังนั้น จึงควรเตรียมให้ไทยพร้อมรับกับรูปแบบการทำงานที่บ้าน ดังนี้
1) การเตรียมความพร้อมขององค์กรสำหรับการทำงานรูปแบบใหม่
2) การยกระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับองค์กร และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงาน
3) การพิจารณาให้การทำงานนอกสถานที่ทำงานเป็นนโยบายขององค์กร และ
4) การพิจารณาการปรับรูปแบบการทำงานสู่การทำงานที่บ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสนับสนุนการลงทุน/พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความเสถียรและครอบคลุม