ยานยนต์ไฟฟ้าอนาคตความร่วมมือของไทย-เยอรมัน
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคมาช้านาน โดยเป็นที่ตั้งโรงงานการผลิตของบริษัทยานยนต์ ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี 2 เจ้าใหญ่ ได้แก่ BMW และ Mercedes Benz โดยมีโรงงานผลิตรถยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ รวมทั้งรถจักรยานยนต์ Big Bike
ปัจจุบัน การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญของโลก เพื่อตอบโจทย์การลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก และมุ่งสู่เป้าหมายในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศต่างๆ ได้กำหนดกรอบเวลาในการพัฒนาการเปลี่ยนผ่านการผลิต/ใช้พลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำหรับเยอรมนี ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ร้อยละ 80 ของพลังงานที่ใช้จะมาจากพลังงานหมุนเวียน และปี ค.ศ. 2045 จะปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ ในขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) จึงเป็นภารกิจที่สำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยประเทศไทยตั้งเป้าการผลิต EV ในประเทศให้มีจำนวนประมาณ 7 แสนคันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งปัจจุบันบริษัท Mercedes Benz ได้ประกาศจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และมีแผนที่จะผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Plug in Hybrid) และย้ำว่า ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค
ในเยอรมนี แม้ว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้จะยังเป็นรถยนต์แบบสันดาป แต่ EV ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติปี ค.ศ. 2020 มีการจดทะเบียนยานยนต์ EV ใหม่กว่า 7 แสนคัน ซึ่งนอกจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่รัฐบาลเยอรมันเสนอให้แก่ผู้ซื้อยานยนต์ EV แล้ว รัฐบาลเยอรมันก็ได้จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกจำเป็นสำหรับการใช้ EV นั่นคือ สถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 16,800 แห่ง ในเยอรมนี และมุ่งเป้าที่จะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้ถึง 1 ล้านแห่งภายในปี ค.ศ. 2030 อีกด้วย
แนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศตื่นตัวและปรับนโยบายการใช้พลังงานภายในให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นความร่วมมือของการพัฒนา EV ระหว่างไทย-เยอรมัน ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ข่าวและภาพ : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
EEC เยือนเยอรมนี
ผู้บริหาร EEC บุกเยอรมนีเป็นประเทศแรกตั้งแต่เริ่มมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง ชักชวนนักลงทุนศักยภาพร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย BCG
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ร่วมจัดงานเสวนา “Thailand meets Germany: Forging Stronger Business Partnership” กับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สมาคมธุรกิจแห่งเยอรมนีและเอเชียตะวันออกและอาเซียน (OAV) Global Trade Forum – Berlin และ Diplomatic Magazine ณ Berlin Capital Club ในงานดังกล่าวมีนักธุรกิจชั้นนำและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของเยอรมนีเข้าร่วมกว่า 60 ราย โดยมีนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และนาย Jan Freigang ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นผู้กล่าวต้อนรับ
ในโอกาสนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ได้นำเสนอพัฒนาการของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ผ่านหัวข้อ “Thailand Business Outlook: the EEC as a key driver for growth” รวมทั้งมีการเสวนา “Forging Thai-German Business Partnership” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจาก BMW Group, German – Thai Chamber of Commerce (GTCC), Fraunhofer IPK Berlin, Deutsche Bahn, Leipzig Airport และ Messe Friedrichshafen GmbH ดำเนินรายการเสวนาโดยนางนงนุช เพชรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่างประเทศ สกพอ.
บรรยากาศภายในงานเสวนาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยนักธุรกิจและนักลงทุนเยอรมันแสดงความสนใจที่ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโอกาสและสิทธิประโยชน์การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC โดยเฉพาะด้าน smart mobility, multimodal logistics, BCG และ Digital ซึ่งเป็นสาขาที่เยอรมันมีความเชี่ยวชาญรวมถึงโอกาสความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายและการส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในไทยด้วยซึ่งจะได้มีการสานความสนใจของนักธุรกิจดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ EEC เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในไทย เพื่อการอย่างยั่งยืน