ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โลกเขาว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ไหม - ดร.พนิต ภู่จินดา

โลกเขาว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ไหม - ดร.พนิต ภู่จินดา Thumb HealthServ.net
โลกเขาว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ไหม - ดร.พนิต ภู่จินดา ThumbMobile HealthServ.net

ถ้ายื่นไมค์ไปหน้าคนกรุงเทพฯ แล้วถามว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ไหม คำตอบคงหลากหลาย บางคนก็ว่าดีนะ มีความหลากหลายดี มีหาบเร่แผงลอยที่เป็นเอกลักษณ์ มีประวัติศาสตร์และโบราณสถานที่สวยงาม มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ พื้นที่เมืองยังมีให้พัฒนาอยู่อีกมากมาย แต่บางคนก็บอกว่ากรุงเทพฯ ไม่น่าอยู่เลย แออัด การจราจรติดขัด คุณภาพชีวิตแย่ อาชญากรรมและอุบัติเหตุเยอะแยะ บริการของรัฐก็ไม่ได้มาตรฐาน ต่างคนก็ต่างมีมุมมองจากประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของตัวเอง

 
แล้วโลกเขามองกรุงเทพฯ ว่าน่าอยู่หรือไม่อย่างไร ลองไปดูการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของโลกที่เขาจัดกันทุกปี เรียกว่า Global Liveability Index ที่จัดทำโดย the Economist Intelligence Unit (EIU) โดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพมากกว่า 30 หมวดย่อยใน 5 หมวดใหญ่ได้แก่ ความมั่นคงในการดำรงชีวิต การดูแลสุขภาพ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การจัดอันดับในปี 2018 มีการล้มแชมป์ 7 สมัย จากเดิมที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียได้อันดับหนึ่งแบบผูกขาดมาตลอดตั้งแต่ปี 2011 ถูกล้มแชมป์โดยเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ได้คะแนนถึง 99.1 คะแนน ส่วนเมลเบิร์นได้ 98.4 คะแนน เฉือนกันตรงความมั่นคงในการดำรงชีวิต ซึ่งประกอบด้วยความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการก่อการร้ายซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างมากในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนเมลเบิร์นได้คะแนนโดยรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่าน ๆ มา คือ มีความน่าอยู่ระดับสูงคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงในประเด็นต่าง ๆ แต่อย่างใด
 

 
โลกเขาว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่ไหม - ดร.พนิต ภู่จินดา HealthServ
 หันมาดูเมืองในทวีปเอเชียใกล้ตัวเราบ้าง ใน 10 อันดับแรก มีเมืองในทวีปเอเชียติดอันดับกับเขา 2 เมือง คือ โอซาก้าได้อันดับที่ 3 และโตเกียวได้อันดับที่ 7 สองเมืองใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นมีความน่าอยู่ในระดับสูงมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองที่มีประชากรมาก มีความหนาแน่นสูง และเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวอยู่เสมอ แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการให้เป็นเมืองน่าอยู่ในระดับท็อปเทนได้อย่างน่าทึ่ง 
สำหรับกรุงเทพมหานครของเราได้อันดับที่ 98 ของโลกในปี 2018 ดีขึ้น 4 อันดับ (ปี 2015 กรุงเทพฯ ได้อันดับที่ 102) โดยมีคะแนนรวม 66 จากเต็ม 100 คะแนน หมวดที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนคือ ความมั่นคงในการดำรงชีวิต เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมและอุบัติเหตุสูง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดการก่อการร้ายมาก ตามการประเมินของ EIU อีกสี่หมวดมีค่าคะแนนที่สูงกว่าครึ่ง โดยหมวดการศึกษาได้คะแนนเต็มร้อย เนื่องจาก EIU ประเมินว่าสถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานครมีคุณภาพดีและมีการกระจายตัวไปทั่วให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก แต่คุณภาพและความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังได้คะแนนไม่สูงนัก แค่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำมาเท่านั้น

 
เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 35) และกัวลาลัมเปอร์  ประเทศมาเลเซีย (อันดับที่ 78) ก็ยังนับว่าห่างไกลจากเมืองหลักของประเทศเพื่อนบ้านที่มีความน่าอยู่ในระดับสูง ยิ่งถ้าพิจารณาในภาพรวมที่ EIU ทำการประเมิน 140 เมืองสำคัญตามภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก จะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครของเราได้อันดับค่อนไปทางด้านท้าย และมีประเด็นสำคัญด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้ง ๆ ที่สภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เป็นที่ราบมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติต่ำเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนแต่เกิดจากภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการดำรงชีวิตที่แค่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำเท่านั้น แสดงถึงการให้บริการพื้นฐานของภาครัฐทั้งด้านการสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยังไม่ได้มาตรฐานอยู่มาก ปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนถมที่ดินให้สูงป้องกันน้ำท่วม ติดกล้องวงจรปิด จ้างยามดูแลความปลอดภัยกันเองแล้วกันนะครับ

 
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่ในเว็บ Rabbit Today เมื่อปี 2019

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด