นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี และไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (29 จังหวัด) ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25, ฉบับที่ 28 และฉบับที่ 30 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยหลังจากเปิดให้ผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขข้างต้น สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2564 ณ อาคาร 6 ชั้น 7 กรมการขนส่งทางบก, สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 4 และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ มียอดลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 10,789 ราย แบ่งเป็น
- ผู้ขับรถแท็กซี่ จำนวน 5,921 ราย
- ผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวน 4,868 ราย
ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ตรวจสอบแล้วว่า
- มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ 7,017 ราย
- รอผลการตรวจสอบ 3,772 ราย
หลังจากนี้ กรมการขนส่งทางบกจะเร่งตรวจสอบและคัดกรองความซ้ำซ้อนข้อมูลการลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือจากฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกและเอกสารการลงทะเบียน โดยผู้มีสิทธิจะต้องเป็นผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (29 จังหวัด) ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25, ฉบับที่ 28 และฉบับที่ 30 มีศักยภาพในการขับรถ มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะและบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ รถที่ใช้ประกอบอาชีพต้องชำระภาษีครบถ้วน และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ในกรณีรถเช่าขับ กรมการขนส่งทางบกจะตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้เช่าก่อนพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขเป็นผู้มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นไปตามเงื่อนไขจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอรับสิทธิทราบ และดำเนินการโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิรอบแรกระหว่างวันที่ 8 - 12 พฤศจิกายน 2564 สำหรับผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 - 26 พฤศจิกายน 2564 สำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ที่เช่าขับ ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารการลงทะเบียน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคลที่ประกอบอาชีพใน 13 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 และฉบับที่ 28 (ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 10,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพใน 16 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 (กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง) จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อคน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง