11 เมษายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งแบบออนไซต์และผ่านระบบออนไลน์
นพ.โสภณกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ 5 เรื่อง ได้แก่
เรื่องแรก แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูง เช่น การรักษาโรคสลับซับซ้อน การผ่าตัดแปลงเพศ สปาและแหล่งน้ำพุร้อนระดับโลก การดูแลนักท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น โดยมอบหมายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์ด้านบริการทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการวิชาการและงานวิจัย และด้านบริการส่งเสริมสุขภาพ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานขับเคลื่อนในระดับประเทศและระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่นำร่อง
เรื่องที่ 2 แนวทางการพัฒนาต้นแบบ Wellness Industry ด้วยนวัตกรรมสีเขียว (Green Medicine) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์โดยใช้พืชกัญชา กัญชง และสมุนไพรเศรษฐกิจ และนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยจัดหลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนาคน, สร้างโรงพยาบาลต้นแบบที่ใช้นวัตกรรมสีเขียว และสร้างวิถีวัฒนธรรมผ่านคน ประสบการณ์ และเรื่องราว เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว
เรื่องที่ 3 แนวทางการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางกัญชาโลกในรูปแบบโลกเสมือนจริง (Metaverse) โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาต้นแบบธุรกิจ Cannabis Digital Asset ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงธุรกิจกัญชาและกัญชงได้อย่างครบวงจรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของโลกเสมือนจริง
เรื่องที่ 4 ปักหมุดบริการรักษาพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูง (World Class Super Center) ได้แก่ จัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางขั้นสูงเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง นำร่องในอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี โดยมอบหมายให้จัดทำรายละเอียดเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งอุดรธานีที่เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
เรื่องสุดท้าย คือการปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทางการแพทย์ โดยการเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์รองรับนโยบาย Medical Hub ทั้งหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ และหลักสูตรการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
“หลังจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ จะมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานทั้ง 5 เรื่องเป็นระยะ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด และหากมีปัญหาติดขัดตรงจุดใดจะได้สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบ 2 ประเด็นสำคัญที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบแผนการดำเนินงานและกรอบงบประมาณการจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai จำนวน 999,460,861 บาท และการขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ให้คงอัตราค่าธรรมเนียมจาก 6,000 บาท เป็น 5,000 บาท” นพ.โสภณกล่าว