11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 โดยมี นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน
สธ.ตั้งเป้าเพิ่มหน่วยปฐมภูมิเป็น 3,000 หน่วย
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายมุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่าย และสามารถดูแลตนเองและครอบครัวเบื้องต้นเมื่อมีอาการเจ็บป่วยได้ โดยในปี 2565 ตั้งเป้าเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิเป็น 3,000 หน่วย โดยเปิดดำเนินการเต็มพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ และให้คนไทยมีหมอประจำตัว 3 คนอีก 30 ล้านคน
ใช้เทคโนโลยียกระดับการดูแลสุขภาพ
การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมกับ สปสช. เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการและบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูล โดยสิ่งที่พัฒนาขึ้น ได้แก่
- การจัดทำทะเบียน 1) ผู้รับบริการ 2) หน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย 3) แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ 4) คณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ
- การจัดทำบัญชีรายชื่อแพทย์คู่กับประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้การดูแล รักษา ให้คำปรึกษาและประสานการส่งต่อเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
- เพิ่มช่องทาง ให้ประชาชนสามารถ 1) ตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการ 2) ตรวจสอบรายชื่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนทราบรายชื่อ "หมอประจำตัวของตนเอง"
ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะสนับสนุนข้อมูลหน่วยบริการและเครือข่ายข้อมูลแพทย์ และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ นำไปเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลประชากรของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกันตามภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบครั้งนี้
ด้านนายแพทย์จเด็จ กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ เป็นความก้าวหน้าอีกครั้งในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระดับบุคคลที่จำเป็น ทำให้แพทย์และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ สามารถใช้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน แม้ผู้ป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แพทย์ประจำครอบครัวยังสามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนในความรับผิดชอบของตนได้ส่งผลให้เกิดระบบการดูแลที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว