นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2453 อันเป็นปีการสร้างอาคารป่อเต็กตึ๊ง สำเร็จเสร็จสิ้น เป็นจุดเริ่มต้นของ "ป่อเต็กตึ๊ง" คำที่มีความหมายดีงามยิ่ง ในภาษาไทยว่า
"คุณานุสรณ์" ก็ได้ดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศล เช่น เก็บศพไม่มีญาติ แจกยารักษาโรค ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต่อเนื่องมา กระทั่ง จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อ 21 มกราคม 2480 [
ประวัติมูลนิธิ]
ตลอดระยะเวลากว่า 110 ปี มูลนิธิฯ ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ได้แก่ ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ โดยทั่วไป จัดตั้งโรงพยาบาลใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลหัวเฉียว" รักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกสาขาโรค จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษา (มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ) การช่วยเหลือจัดการศพทั่วไป และจัดตั้งสุสานเพื่อการนี้ด้วย งานส่งเสริมและบำรุงกิจกรรมด้านศาสนา วรรณกรรม ศิลปะ และ วิทยาศาสตร์ บำเพ็ญการกุศลโดยทั่วไป หรือตามมติคณะกรรมการ
คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกย่อง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม (ด้านสังคมสงเคราะห์) ประจำปี พุทธศักราช 2535 โดย ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ อดีตประธานมูลนิธิฯ ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536
หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
งานหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน เป็นหนึ่งในงานบริการสังคมของมูลนิธิฯ ที่ดำเนินการอยู่ งานอื่นๆ ได้แก่ กิจกรรมสงเคราะห์ผู้ยากไร้ กิจกรรมสงเคราะห์สาธารณภัย การมอบทุนการศึกษา บริการฝึกอบรม ข่าวช่วยภัยหนาว ข่าวช่วยภัยน้ำท่วม ข่าวงานกู้ภัย การรับบริจาคเครื่องมือแพทย์
หน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ ขอบเขตการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพมามาย อาทิ
- ตรวจรักษาโรคทั่วไป - จ่ายยา
- ตรวจโรคฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์
- ตรวจคัดกรองเบาหวานเบื้องต้น
- บริการตัดผมชาย-หญิง
- บริการแจกแว่นสายตาฟรี
- กิจกรรมนันทนาการเด็ก
- มอบไม้เท้าแก่ผู้สูงวัย
- แจกยารักษาโรค ยาสามัญประจำบ้าน
- และ ฯลฯ
การออกบริการของหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนเคลื่อนที่ ได้ทำอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชน อาทิ รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด รพ.ชุมชนในแต่ละจังหวัด หน่วยงานปกครองท้องถิ่น เทศบาล มูลนิธิฯ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ และยังมี ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฯ และอาสาสมัครฯ จิตอาสา อีกมากมาย มาร่วมช่วยเหลือให้บริการในการออกหน่วยแต่ละครั้งในแต่ละพื้นที่ นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จอย่างดีมาตลอด เพราะทุกฝ่ายมองเห็นถึงเป้าหมายเดียวกันถึงประโยชน์และผลดีที่ประชาชนจะได้รับ สอดคล้องกับคำขวัญมูลนิธิฯ ที่ว่า
"มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต"
*ภาพและข้อมูลจาก มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง